บริษัท เป๊ปซี่โค เซอวิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จํากัด และ จีเอ็มเอ็ม โชว์ ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด สานพลังสนับสนุนการบริหารจัดการและคัดแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบ ในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 13 ที่จะจัดขึ้น ณ ดิโอเชี่ยน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566 นี้ พร้อมเชิญชวนแฟนเพลงร่วมสนุกอย่างรับผิดชอบ แยกขยะ ทิ้งให้ถูกที่ เพื่อส่งไปรีไซเคิล ภายใต้แคมเปญ “มันส์ ไม่ ทิ้ง” มุ่งสู่ “อีโค่-เฟรนด์ลี่ คอนเสิร์ต” ดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับพื้นที่ในการจัดงานบิ๊กเมาน์เท่นกว่า 300 ไร่ จะมีการจัดเตรียมจุดคัดแยกและทิ้งขยะทั้งสิ้น 50 จุด กระจายอยู่ทั่วบริเวณงาน โดยแต่ละจุดจะมีถังรองรับขยะ 4 ประเภท ได้ 1) ขวดพลาสติก PET ซึ่งเป็นถังที่จัดทำขึ้นพิเศษเพื่อรองรับขวด PET โดยเฉพาะ 2) กระป๋องอะลูมิเนียม 3) ขยะอาหาร และ 4) ขยะทั่วไป ซึ่งภายหลังจบงาน ขยะทั้ง 4 ประเภท จะถูกส่งไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป โดยมี The Geen บริษัทที่สื่อสารและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยคัดแยกขยะ ระดมทีมงานและอาสาสมัครกว่า 200 คน กระจายประจำทุกจุดคัดแยกและทิ้งขยะ พร้อมทั้งช่วยแนะนำวิธีการจัดการขยะให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง
จีเอ็มเอ็ม โชว์ ผู้จัดงาน เชิญชวนและขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตให้ช่วยกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อนำไปรีไซเคิล และลดปัญหาปริมาณขยะตกค้าง ไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนในพื้นที่ ทั้งนี้คาดว่าเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาน์เท่นในปีนี้ จะมีเหล่าแฟนเพลงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคน/วัน โดยเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการขยะในงานบิ๊กเมาน์เท่นครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือจากแฟนเพลงซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และยังช่วยยกระดับมาตรฐานการชมคอนเสิร์ตในประเทศไทยที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ขณะที่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย และ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ระบุว่า การบริหารและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเหล่านั้นไปรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขวดพลาสติก PET ภายในงานทั้งหมดจะถูกนำไปรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นขวด rPET ใช้ซ้ำได้อย่างไม่รู้จบ หรือที่เรียกว่า “Bottle-to-Bottle Recycling” ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท