สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนทั่วโลก โดยเฉพาะการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บนบรรจุภัณฑ์อาหาร ทำให้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น โดยมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้ออาหารและคำนึงถึงที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต ตลอดจนการขนส่งที่ปลอดภัยทุกขั้นตอน
จากการลงนามความตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง “การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice)” ของ 4 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) จึงได้จัดตั้ง “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Deliver with Safety) เพื่อตอกย้ำความมั่นใจในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีระบบการควบคุมป้องกันที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ปลอดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส สินค้าการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ของไทยยังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้งในปี 2563 มีมูลค่ารวม 128,337.07 ล้านบาท
สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลไม้ไทยมีผลผลิตที่หลากหลายและต่อเนื่องตลอดทั้งปี และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับต่างประเทศ ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศนิยมสินค้าผลไม้ไทยเนื่องจากมีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีรสชาติเป็นที่นิยม รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตผักผลไม้ของไทยค่อนข้างสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคที่มีสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งทำให้คู่ค้าและผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของผลผลิตผลไม้ไทย โดย DITP ได้สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตและระบบควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานระดับโลกในทุกกระบวนการผลิต การบรรจุ และการขนส่ง พร้อมส่งเสริมการทำการตลาดสินค้าผลไม้พรีเมียม โดยเน้นเรื่องเอกลักษณ์ด้านคุณค่า สายพันธุ์ที่โดดเด่น และคุณภาพที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ภาครัฐยังควบคุมกำกับดูแลการเพาะปลูกให้ได้คุณภาพและปริมาณความต้องการของตลาด รวมถึงกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต ทำการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ผลไม้ไทยเป็นที่ต้องการของทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี
“DITP มีนโยบายผลักดันผลไม้ไทยส่งออกสู่ตลาดโลกมาโดยตลอด ซึ่งได้สินค้าผลไม้ไทยเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงและเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ในทุก ๆ ปี แม้แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าส่งออกผลไม้ไทยยังคงขยายตัว และได้รับความไว้วางใจในเรื่องความปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ในปี 2563 สินค้าผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้งของไทย มีปริมาณการส่งออก 2,138,698 ตัน คิดเป็นมูลค่า 128,337.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.45% แบ่งเป็น
- ผลไม้สด มีปริมาณ 1,645,505 ตัน คิดเป็นมูลค่า 104,257.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.442%
- ผลไม้แช่แข็ง มีปริมาณ 44,581 ตัน คิดเป็นมูลค่า 8,063.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.09 %
- ผลไม้แห้งและอื่นๆ มีปริมาณ 448,612 ตัน คิดเป็นมูลค่า 16,016.14 ล้านบาท ลดลง 0.23%
ไทยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมเป็นสัดส่วน 90.03% ของการส่งออกผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้งทั้งหมด โดยในปี 2564” นายสมเด็จ กล่าว
การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ผลไม้ไทยผ่านโครงการสินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือเป็นการประกาศให้ผู้ซื้อและคู่ค้าทั่วโลกรับรู้ว่า ผลไม้ไทยมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานในระดับสากล และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการส่งออกผลไม้ในระดับโลก