ในวาระครบ 70 ปี การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ประกาศวิสัยทัศน์สู่ความเป็นเลิศ ยกระดับการให้บริการโลจิสติกส์ ก้าวสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก พัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573
สัญญาณดีขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานของ กทท. ในปีงบประมาณ 2564 จะลดลงไปบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เป้าหมายเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศยังปักหมุดอยู่เช่นเดิม อีกทั้งยังคงเป็นหน่วยงานที่มีรายได้ส่งกระทรวงการคลังสูงสุดเป็นอันดับ 8 ของประเทศ
ทั้งนี้ เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกทท. ว่า
“ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงอยู่ที่ 6.24% หรือคิดเป็น 25.762 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่าลดลง 2.81% หรือ 2.311 ล้านที.อี.ยู. ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไทยและอีกหลายประเทศมีวัคซีนป้องกันก็จะ ส่งผลให้ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่ามีทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่เป็นปัจจัยหลักสะท้อนการเติบโตของปริมาณสินค้า ซึ่งส่งผลให้ช่วงม.ค. 64 มีปริมาณสินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 3.57% อยู่ที่ 9.253 ล้านตันจาก 8.934 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 2.66% อยู่ที่ 773,055 ที.อี.ยู. จาก 753,042 ที.อี.ยู.”
โรดแมป
“ในโอกาสครบรอบ 70 ปี กทท. มีแผนที่จะยกระดับเป็นท่าเรือชั้นนำที่ได้มาตรฐานสากล (World Class Gateway Port) โดยการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานให้มีมาตรฐานในระดับโลก, การพัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าหลักและศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง, การพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำรายได้สู่รัฐ, การพัฒนาการให้บริการและยกระดับการทำงานมุ่งสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้วยการนำระบบ Port Community System (PCS) หรือระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อทั้งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการรองรับโครงข่ายการเชื่อมโยงด้าน Logistics ในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ การท่าเรือฯ มีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ และนำเทคโนโลยี ตลอดจนดิจิทัลแพลตฟอร์มาใช้เ เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็วและเป็น Port 4.0 อีกทั้งมีการดำเนินโครงการควบคุมมลพิษและมุ่งเป็นท่าเทียบเรือ Smart Green Port ซึ่งในปี 2562 ท่าเทียบเรือกรุงเทพเคยได้รับรางวัลจากสิงคโปร์มาก่อน”
โครงการเร่งด่วน
เรือโท กมลศักดิ์ เปิดเผยต่อไปว่า “กทท.จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือภูมิภาค โดยจะเร่งพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อขยายพื้นที่รองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มากขึ้น และสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 18 ล้าน ที.อี.ยู./ปี ตลอดจนพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นท่าเรือหลักของภูมิภาค และเป็นเมืองท่าแห่งอนาคต และอีกหนึ่งโครงการ คือ การพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟบนพื้นที่ 600 ไร่ให้สามารถรองรับรถไฟได้ 12 ขบวน พร้อมติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งจะรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ที.อี.ยู./ปี รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ) ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ และระบบโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร”
สำหรับท่าเรือกรุงเทพ กทท.ได้พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือทุ่นแรง รวมถึงกระบวนการทำงานภายในให้สามารถนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง พัฒนารูปแบบการให้บริการและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีโครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) และพัฒนาระบบขนส่ง และการขนถ่ายสินค้าให้มีโครงข่ายเชื่อมโยง (Logistics Chain) ภายในประเทศ ให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้า ได้ 2.4 แสนที.อี.ยู./ปี
เรือโทกมลศักดิ์กล่าวถึงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพสู่การเป็น Smart Port เพิ่มเติมว่า
“กทท.ตั้งเป้าที่จะลดท่าเรือกรุงเทพที่มีพื้นที่เดิม 900 ไร่เหลือ 500 ไร่ โดยการใช้ระบบออโตเมชั่นเข้าช่วยในการดำเนินงาน พร้อมกันนี้ บนพื้นที่ 400 ไร่ก็จะพัฒนาเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาในรูปแบบการลงทุนร่วมแบบ PPP (ความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน : Public-Private Partnership) ในระยะเวลา 30-35 ปี เพื่อพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส (Mixed Use) ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์การค้า, ศูนย์ประชุม ,โรงแรมและศูนย์การท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่า จะสามารถทำรายได้ระดับแสนล้านบาท”
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกในลักษณะท่าเรืออัตโนมัติมีการนำเอาระบบ Semi-Automated Operation ที่มีประสิทธิภาพ โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ และพัฒนาระบบการขนส่ง และเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ และยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ รวมทั้งโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย และยกระดับชีวิตของชุมชนโดยรอบท่าเรือไปพร้อมกัน
Smart Community
เรือโท กมลศักดิ์ เปิดเผยถึงประกอบการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ว่า “กทท. อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลประชากรในชุมชนคลองเตย เพื่อนำผลมาพิจารณา โดยเบื้องต้นต้องทราบถึงจำนวนประชากรและจำนวนครัวเรือนที่แท้จริง รวมถึงสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย และรับฟังความต้องการความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคนในชุมชนคลองเตย ทั้งนี้ กทท. ได้จัดจ้างที่ปรึกษาโดยมหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจความต้องการของชุมชนตั้งแต่สิงหาคม 62 จนถึงปัจจุบัน ซึ่ง กทท. ได้มีข้อเสนอ 3 ทางเลือก ซึ่งมีมูลค่าที่เท่าเทียมกัน ได้แก่ 1) ให้ชุมชนเข้ามาอาศัยอยู่บนอาคารทรงสูงภายใต้ โครงการ Smart Community โดยมีขนาดพื้นที่ 33 ตร.ม. พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางที่ครบครัน 2) มอบที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตร.ว. บริเวณพื้นที่หนองจอก 3) มอบเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ตัดสินใจข้อเสนอที่มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของครอบครัวมากที่สุด และจากสำรวจประชากรในชุมชนโดยมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 3,000 ครัวเรือนจากจำนวนคาดการณ์ทั้งหมด 13,000 ครัวเรือนพบว่า ชุมชนเลือกย้ายขึ้นอาคารทรงสูงมากสุดถึง 64% ตามด้วยการรับเงินเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต 20% และ 5% เลือกที่ดินเปล่าบริเวณหนอง”