เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับกิจกรรมการก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรจำนวนไม่น้อย ซึ่งหากขาดการบริหารจัดการที่ดีก็อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เอสซีจีได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจก่อสร้าง ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาวัสดุก่อสร้าง สถาปนิกและนักออกแบบเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาแนวทางเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและส่งมอบสินค้าบริการเหล่านี้ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในเวทีสัมมนา “Transformation to the Circular Built Environment” ในงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” เมื่อเร็วๆ นี้
เป้าองค์กรที่ชัดเจนคือกลไกสำคัญ
ความตั้งใจจริงและการวางแผนธุรกิจระยะยาวอย่างชัดเจนของผู้ประกอบการเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง หลายบริษัทจึงได้กำหนดแนวทางนี้ไว้ในวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจ
Satoshi Suzuki ผู้จัดการทั่วไป ฝ่าย Business Development Building โอบายาชิคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โอบายาชิได้กำหนดวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน 2050 ไว้อย่างชัดเจนว่า
“ในช่วงปี 2040-2050 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทุกบริษัทในเครือให้เป็นศูนย์ ด้วยการส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาสังคมเพื่อสุขภาวะที่ดี ตลอดจนพัฒนากระบวนการทำงานที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นจนจบทั้งของบริษัทและส่งเสริมให้คู่ค้าพันธมิตรปฏิบัติเช่นเดียวกัน รวมทั้งได้กำหนดแผนพัฒนาธุรกิจและบริการที่เป็นมิตรกับสังคม สร้างสาธารณูปโภคและชุมชนที่มีการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนแล้วมีการนำไปปฏิบัติร่วมกันในทุกภาคส่วนอย่างจริงจังจึงจะเป็นกลไกหลักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”
วางแผนที่ดี ขับเคลื่อน ศก.หมุนเวียน
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะลดขยะในการก่อสร้าง ซึ่งช่วยตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การวางแผนอย่างดี เพื่อให้สามารถประเมินปริมาณวัสดุก่อสร้างที่จะใช้ได้อย่างพอดี ไม่ทำให้เกิดขยะมากเกินไป
Johannes Reischböck ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) BIMobject AB กล่าวว่า วิธีการหนึ่งที่นักออกแบบและบริษัทก่อสร้างเริ่มใช้มากขึ้น คือ เทคโนโลยีจำลองพื้นที่ก่อสร้าง หรือ Building Information Modelling (BIM) ผสมผสานกับการวางแผนคำนวณอย่างแม่นยำ ทำให้สามารถประมาณการปริมาณวัสดุก่อสร้างที่ต้องใช้ได้อย่างพอดี เพื่อไม่ให้เกิดขยะจากการก่อสร้างหรือเกิดน้อยที่สุด
การใช้เทคโนโลยี BIM จึงตอบโจทย์ความต้องการด้านการก่อสร้างในปัจจุบันได้ดี เนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ต้องสร้างที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้นและ BIM ยังสามารถจำลองพื้นที่ก่อสร้างเพื่อตรวจสอบสเปกและคำนวณการใช้วัสดุในแต่ละจุดอย่างพอดี ทำให้นักออกแบบสามารถลองผิดลองถูกกับวัสดุแต่ละจุดได้ไม่จำกัด โดยไม่ต้องใช้วัสดุจริงให้สิ้นเปลือง
ใช้เทคโนโลยีผสานพลังแห่งธรรมชาติ
นอกจากการใช้เทคโนโลยีแล้ว การออกแบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างสมัยใหม่และคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ สุทธา เรืองชัยไพบูลย์ ประธานผู้อำนวยการ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ย้ำว่า การวางแผนโครงสร้างอาคารที่ดีและกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ
“ถ้าหันตึกไปในทิศทางที่ถูกต้องก็จะประหยัดพลังงานได้มาก การหมุนเวียนอากาศก็จะดี เราจึงใช้เทคโนโลยี เช่น BIM มาช่วยประเมินทิศทางลมและเปลี่ยนรายละเอียดการออกแบบตึกให้มีการหมุนเวียนของอากาศมากขึ้นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสบาย เทคโนโลยีนี้ช่วยลดการใช้พลังงานในตึกได้อย่างน้อย 15% ลองคิดคร่าวๆ ว่าหากทั่วกรุงเทพฯ มีโครงการที่พักอาศัยที่กำลังก่อสร้างซึ่งมีพื้นที่กว่า 1 ล้านตร.ม. เราจะสามารถลดพลังงานได้เท่าไหร่”
นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อช่วยลดอุณหภูมิให้กับเมือง เพราะการกระจุกตัวของอาคารต่างๆ ยิ่งทำให้เกิดความร้อนสะสมจากการใช้พลังงานในอาคาร ส่งผลให้เกิดอุณหภูมิในเมืองสูงกว่าบริเวณรอบๆ หรือ Urban Heat Island Effect
เสริมแกร่ง – สานความร่วมมือ
ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด สะท้อนให้เห็นว่า การวางแผนที่ดีและความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญมาก ตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงจากการสร้างบ้านของตนเองเมื่อ 20 ปีก่อนที่คำนวณการใช้วัสดุอย่างพอดิบพอดี ทำให้เมื่อบ้านสร้างเสร็จ มีเหล็กเหลือเพียงเส้นเดียว
“นอกจากการวางแผนที่ดีแล้ว ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายก็เป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบขยะที่เกิดขึ้น แม้ว่าสินค้าชิ้นนั้นจะถูกขายออกไปแล้ว เจ้าของบ้านในฐานะผู้บริโภคที่ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการทิ้งขยะ และหากทุกฝ่ายปฏิบัติได้ถูกต้องก็ควรจะได้รับประโยชน์จูงใจในรูปแบบต่างๆ เช่น การคืนภาษี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม”
สอดคล้องกับที่ นันทพงษ์ จันทร์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) หรือ ซีแพค ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรที่มีการพัฒนามาตลอด 60 ปี จนสามารถเป็น Construction Solution Provider หรือผู้นำด้านโซลูชั่นการก่อสร้าง ได้กล่าวเสริมว่า
“ความสำเร็จในการลดขยะหรือไม่สร้างขยะเลยระหว่างการก่อสร้างนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากคู่ค้าในทุกขั้นตอนการทำงาน ทุกคนทราบดีว่าสิ่งแวดล้อมกำลังเข้าสู่ยุควิกฤตและทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข ฉะนั้น เราจึงเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดของพนักงานทุกคนว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยชะลอวิกฤตดังกล่าวได้ด้วยงานของเขา และต้องทำงานกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันหาแนวทางการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างขยะให้น้อยที่สุด”
แปรเปลี่ยนขยะสู่การสร้างมูลค่าให้ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับซีแพคนั้น ได้นำแนวคิด “Waste to Wealth” มาใช้เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันลดการสร้างขยะจากการก่อสร้าง ผ่านหลากหลายวิธีปฏิบัติ เช่น การล้างแยกวัสดุอย่างหินที่ผสมในคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การเปลี่ยนสิ่งเหลือทิ้งให้เป็นวัสดุในขั้นตอนการทำงานอื่น เช่น การนำคอนกรีตส่วนเกินจากงานของลูกค้ามาหล่อเป็นพื้นคอนกรีตสำหรับสนามเด็กเล่นหรือทำโต๊ะและเก้าอี้ให้แก่วัดและโรงเรียน หรือนำคอนกรีตผสมเสร็จที่เหลือจากการใช้งานมาเทเป็นแผ่นคอนกรีต ก่อนจะบดเป็นผงเพื่อนำไปผสมคอนกรีตใช้ทดแทนในงานก่อสร้างใหม่ต่อไป
“โครงการ “ถนนคอนกรีตรีไซเคิล” ที่ร่วมกับ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้นำเศษคอนกรีต เช่น ก้อนปูน แผ่นพื้น หัวเสาเข็ม มาใช้เทเป็นถนนคอนกรีตในโครงการ ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะในแต่ละโครงการได้ถึง 7 ล้านบาทแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หินและทรายได้ถึง 100 ตันต่อพื้นที่ 150 ตร.ม. ซึ่งช่วยลดการทิ้งวัสดุแบบ Landfill และช่วยลดมลภาวะทางดิน น้ำ และอากาศระหว่างการขนส่งได้อีกด้วย นี่เป็นความร่วมมือที่มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง เพราะสามารถเปลี่ยนเศษวัสดุก่อสร้างที่เคยถูกนำกลับมาใช้เป็นเพียงแค่วัสดุถมพื้นที่ก่อสร้าง แต่ปัจจุบันสามารถนำกลับมารีไซเคิลให้ใช้งานได้มากขึ้น” คุณนันทพงษ์ กล่าว
นอกจากโครงการ “ถนนคอนกรีตรีไซเคิล” แล้ว ยังมีวัสดุอื่นๆ ที่สามารถแปรเปลี่ยนจาก “ขยะ” เป็น “ทรัพย์สิน” ได้ เช่น เอสซีจีได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ดำเนินโครงการ Recycle Plastic Road โดยนำพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมทดแทนยางมะตอย เพื่อใช้สร้างถนนให้กับโครงการของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
สิ่งที่คนในวงการธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือหลัก ผสมผสานกับการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม บนความมุ่งมั่นตั้งใจจริงนี้ ได้จุดประกายให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้ร่วมกันขยายผล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
รายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมของงาน SD Symposium http://bit.ly/31X1QGd หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel