ไทม์ไลน์การปรับทิศนโยบายการเงินของสหรัฐ, ญี่ปุ่นอาจถูกเลื่อนออกไปไกลกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่จีนเสี่ยงเผชิญเงินฝืดท่ามกลางวิกฤตภาคอสังหาฯ

เงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดภายใต้ตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งสร้างความไม่แน่นอนต่อไทม์ไลน์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วง 1H67 ในเดือนธันวาคม อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้น 3.4% YoY และ 0.3% MoM จากเดือนก่อนที่ 3.1% และ 0.1% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคพื้นฐานอยู่ที่ 3.9% YoY และ 0.3% MoM จากเดือนก่อนที่ 4.0% และ 0.3% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตทั่วไปเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.0% YoY จากเดือนก่อนที่ 0.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 1.8% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.0%

ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดในเดือนธันวาคม รวมถึงการบริโภคและการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ลดทอนโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของคณะกรรมการเฟดยังคงสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไปจนกว่าจะเห็นสัญญาณการลดลงของเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% จนถึงกลางปี 2567 ก่อนเริ่มปรับลดในช่วงต้นไตรมาส 3/2567 ท่ามกลางความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อรอบใหม่ได้

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในญี่ปุ่นรวมถึงความเสี่ยง recession ลดโอกาสที่ BOJ จะยกเลิกนโยบายดอกเบี้ยติดลบในไตรมาส 1 ในเดือนพฤศจิกายน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 อยู่ที่ -2.9% YoY สอดคล้องกับตัวเลขรายได้แท้จริงที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ที่ -3.0% YoY ขณะที่ในเดือนธันวาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงสู่ระดับ 2.4% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 2.1% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.3%

เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ในไตรมาส 4/67 สะท้อนจาก (i) รายได้แท้จริงที่ติดลบต่อเนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่โตไม่ทันเงินเฟ้อซึ่งนำไปสู่การลดลงของกำลังซื้อภายในประเทศ  (ii) การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่กดดันรายได้จากการส่งออก และ (iii) แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงทั้งในฝั่งของภาคการผลิตและบริการ ประกอบกับ ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ตอนกลางของญี่ปุ่นช่วงต้นปีที่กดดันกิจกรรมการผลิต ในขณะที่รัฐบาลอาจต้องตั้งงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับมาตรการฟื้นฟู จากปัจจัยดังกล่าวต่างๆ ข้างต้น วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการยกเลิกนโยบายดอกเบี้ยติดลบของ BOJ อาจถูกเลื่อนออกไปเป็นไตรมาส 2/2567 จากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากภัยพิบัติต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดในจีนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผลการเลือกตั้งในไต้หวันอาจทำให้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ดำเนินต่อไป ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนธันวาคมยังคงปรับตัวลง 0.3% YoY และเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉพาะภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นที่ 1% YoY สอดคล้องกับ PMI ภาคบริการที่ยังอยู่ในทิศทางการขยายตัวในเดือนธันวาคม (Official: 50.4, Caixin: 52.9) ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงทรงตัวที่ -2.7% YoY หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในรอบหลายปีในเดือนมิถุนายนที่ -5.4% YoY สำหรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวัน ยังคงเป็นไปตามที่คาดการณ์ ไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรค DPP ได้คว้าชัยชนะไปโดยได้คะแนนเสียงที่ 40.05% อย่างไรก็ตาม พรรค DPP กลับไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ที่นั่งไปที่ 51 จากทั้งหมด 113 ที่นั่ง

การลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีราคาผู้บริโภคและราคาผู้ผลิตสะท้อนถึงอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอและอุปทานส่วนเกิน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดต่อเนื่องหรือความเสี่ยงต่อ Japanification ในอนาคต ขณะที่ชัยชนะของไล่ชิงเต๋อจากพรรค DPP คาดว่าจะทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างไต้หวันกับจีนดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม การที่พรรค DPP ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน เนื่องจากความเห็นต่างของพรรค KMT และ TPP โดยเฉพาะการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงทางการค้ากับจีน

เศรษฐกิจไทย

การบริโภคยังมีปัจจัยสนับสนุนช่วยให้เติบโตต่อเนื่องในช่วงต้นปี ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นต่อการออกพ.ร.บ.กู้เงินสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ยึดตามข้อกฎหมาย

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวต่อเนื่องบวกกับมาตรภาครัฐ คาดว่าจะช่วยหนุนการเติบโตของการใช้จ่ายในช่วงต้นปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือน ที่ 62.0 จาก 60.9 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลและดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร  ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนทั้งจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่อาจรุนแรงและขยายวงกว้าง นโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและมีผลเชิงลบต่อการส่งออกของไทย

ในช่วงต้นปีคาดว่าการบริโภคจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นและตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ 1% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาด รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนของมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa-Free) และยังมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการ Easy-E-Receipt (ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการมูลค่าสูงสุด 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567) ซึ่งเบื้องต้นทางการประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 70,000 ล้านบาท ช่วยหนุน GDP เพิ่มขึ้น 0.18% นอกจากนี้ ยังมีการขยายเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพด้านพลังงาน อาทิ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ถึงสิ้นเดือนมีนาคม และการคงราคาค่าไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วยสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนออกไปอีกในงวดบิลเดือนมกราคมถึงเมษายน

โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังมีความไม่แน่นอน หลังกระบวนการตีความของคณะกรรมกฤษฏีกาเสร็จสิ้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดเผยว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับความเห็นการกู้เงินของรัฐบาล 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการโครงการดิจิทัลโดยแนะนำให้ยึดตามข้อกฎหมายในมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561 เป็นสำคัญ 

โดยทั้ง 4 มาตราที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุ มีสาระสำคัญดังนี้

(i) มาตรา 53 “การกู้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน”

(ii) มาตรา 6 “รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้”

(iii) มาตรา 7 “ การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฏหรือการดำเนินการใดๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจาราณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย”

(iv) มาตรา 9 “คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับความคุ้มค่าและภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ”

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะดำเนินการต่ออย่างไรหลังจากได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะที่กระบวนการออกพ.ร.บ.เงินกู้ยังต้องผ่านขั้นตอนความเห็นขอบผ่านสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และอาจรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลเคยมีแผนที่จะดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ด 10,000 บาท แก่กลุ่มเป้าหมาย (50 ล้านคน) ในเดือนพฤษภาคมของปีนี้