ผศ. ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ ผู้รังสรรค์ Key Visual งาน Demark 2024

ภาพ Key Visual ของงาน Design Excellence Award 2024 หรือ Demark 2024 เป็นผลงานรังสรรค์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการตีความ The Power of Sustainable Design จุดพลัง สร้างสรรค์งานดีไซน์ อย่างยั่งยืน” และเป็นที่มาของการนำเสนอผ่านศิลปกรรมหม้อลายดอกโบราณ “ปูรณฆฏะ”

ที่มาของภาพ Key Visual ของงาน Demark 2024 เป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ ผมเป็ฯเจ้าของผลงาน Mitr Bumrungmueang Lettering  Design ที่ได้รับรางวัล DEmark Winner 2023 ทางด้านกราฟิกดีไซน์ สำหรับการออกแบบ Key  Visual DEmark 2024 ในปีนี้ ต้องบอกว่า ผมต้องทำการบ้านและค้นคว้าอย่างหนักในการมองหาความสอดคล้องของคำว่า พลังการออกแบบอย่างสร้างสร้างสรรค์และยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์แนวคิดเรื่อง The Power of Sustainable Design และกลายเป็นที่มาของภาพที่เห็น โดยนำเสนอ ศิลปกรรมหม้อลายดอกโบราณ “ปูรณฆฏะ”

การตีความและเชื่อมโยงไปสู่ภาพของ หม้อลายดอกโบราณ ปูรณฆฏะ คืออะไร

 ปูรณฆฏะ มาจากคำว่า “ปูรณะ” แปลว่าเต็ม และ “ฆฏะ” แปลว่าหม้อ มักเรียกซ้อนคำว่า “หม้อปูรณฆฏะ”

“ปูรณฆฏะ” เป็นหม้อลายดอกโบราณที่มีลักษณะเป็นหม้อทรงสูง ปากบาน คอคอด ตัวกลมป่องกลาง มีเชิง มีพันธุ์พฤกษาในลักษณะของกิ่งไม้เลื้อยออกมาจากปากหม้อห้อยลงมาทั้งสองข้าง เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ 

ในงานศิลปกรรมส่วนใหญ่มักมีพันธุ์พฤกษางอกออกมาจากหม้อน้ำ เป็นการนำสัญลักษณ์หม้อน้ำและพันธุ์พฤกษา ซึ่งหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์มารวมกัน อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการอำนวยพรให้กับผู้ที่พบเห็น

คตินี้ปรากฏทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  อ้างอิงจากข้อมูลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง  

แต่ในการถ่ายทอดครั้งนี้ ผมได้เอาองค์ประกอบของหม้อลายดอกโบราณมาถ่ายทอด โดยสื่อด้วยรูปทรงเรขาคณิต เพื่อให้ได้สัมผัสกับความทันสมัย  และนำมาออกแบบเป็นไอคอนทั้ง 8 กลุ่มสินค้าในการประกวด เรียกได้ว่า เป็นการรวบรวมแนวคิดเรื่องราวความสมบูรณ์ของงาน DEmark 2024  

ไอคอนทั้ง 8 เป็นตัวแทนของอะไร

ผมได้นำเอารายละเอียดต่างๆ ในแจกันมาประกอบร่างเรียงต่อยอดขึ้นมาใหม่ให้เกิดเป็น KV ย่อย  โดยคงสัดส่วนของแต่ละองค์ประกอบไว้เหมือนเดิม และให้ไอคอนทั้ง 8 แทนกลุ่มสินค้าที่ส่งเข้าประกวด ดังนี้

  1. Furniture ออกแบบ เป็นรูปทรงเก้าอี้
  2. Lifestyle ออกแบบเป็นรูป กล่อง หรือของขวัญ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเก็บของที่ระลึก (Souvenir)
  3. เครื่องแต่งกายเครื่องประดับ ออกแบบมาเป็นรูปสายสร้อย
  4. อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ออกแบบเป็นรูปเครื่องดูดฝุ่น เก็บฝุ่น
  5. ออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นรูปโมดูลา ทรงเรขาคณิตที่นำมาประกอบกันเป็นรูปทรงต่างๆ แสดงถึงบรรจุภัณฑ์
  6. กราฟฟิกดีไซน์ ออกแบบเป็นรูปเมาส์ ทรงโบราณ  ต้นกำเนิดของงานออกแบบในปัจจุบันทั้งหลายที่มาจากการคลิกเมาส์
  7. ตกแต่งภายใน เป็นรูปห้อง ที่มีเฟอร์นิเจอร์ประกอบภายในห้อง
  8. บริการแพลตฟอร์ม และดิจิทัล เป็นรูปไอคอนตัว D  ของแอปพลิเคชั่น DEmark

อาจารย์มีคำแนะนำอะไรให้ดีไซเนอร์รุ่นน้องที่อยากส่งงานเข้าประกวดอย่างไรบ้าง

เราต้องทำทุกวัน  ไม่ต้องเก่ง  แต่ต้องมีความคล่อง เราถึงจะประสบความสำเร็จ ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ส่งผลงาน การเปิดรับไอเดียใหม่ๆ ดูผลงานของนักออกแบบอื่นๆ เรียนรู้ และพัฒนาที่สำคัญคือต้องฝึกฝน จะช่วยให้ผลงานของเรามีคนเห็นได้บ่อยขึ้น 

นักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกที่สนใจเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2567 สามารถสมัครได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 3 มิถุนายน 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทาง  https://demarkaward.net/ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทร 063-993-7131, 063-993-5042, 02-507-8274 Email: demark@demarkaward.net