ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถโดยสารประจำทาง หมายเลขทะเบียน 14-3301 กรุงเทพมหานคร เกิดเหตุเสียหลักตกข้างทาง บริเวณถนนเพชรเกษมฝั่งขาล่องใต้ใกล้อุทยานแห่งชาติหาดวนกร หมู่ 7 ตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิต จำนวน 14 ราย บาดเจ็บ 35 ราย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 นั้น
เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ลงพื้นที่ทันทีและจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถโดยสารประจำทาง หมายเลขทะเบียน 14-3301 กรุงเทพมหานคร มีการทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงได้มีการประสานงานการทำงานร่วมกับบริษัท วิริยะฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการประกันภัยรถภาคบังคับ เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2567 คุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 5 แสนบาทต่อคน กรณีบาดเจ็บค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 8 หมื่นบาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 2 -5 แสนบาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 3 แสนบาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และในส่วนการประกันภัยรถภาคสมัครใจ ประเภท 3 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2566 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก จำนวน 1 ล้านบาทต่อคน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 2 ล้านบาทต่อครั้ง สำหรับความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่จำนวน 1 แสนบาท ผู้โดยสาร 46 คน ๆ ละ 1 แสนบาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล จำนวน 1 แสนบาทต่อคน ประกันตัวผู้ขับขี่ 2 แสนบาทต่อครั้ง
สำหรับการติดตามค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องต้นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ขับขี่รถยนต์ ฐานความผิดขับขี่รถโดยประมาทเป็นเหตุทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหายและทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งทายาทโดยธรรมของผู้ประสบอุบัติเหตุที่เสียชีวิต จำนวน 14 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละจำนวน 5 แสนบาท และภาคสมัครใจประเภท 3 ความคุ้มครองต่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกโดยเฉลี่ยจ่ายจากจำนวนเงินความคุ้มครอง 10 ล้านฃบาท สำหรับความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้โดยสาร รายละจำนวน 1 แสนฃบาทต่อคน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่าผู้ประสบภัยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสงขลา โดยในวันที่ 5 ธันวาคม 2566 สำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประสานงานสำนักงาน คปภ. จังหวัดสงขลา สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (สงขลา) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อรวบรวมเอกสารและอำนวยความสะดวกเพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็วแล้ว ส่วนผู้บาดเจ็บทั้ง 35 ราย ที่ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทับสะแก 22 คน โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ 10 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 3 ราย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว สำนักงาน คปภ. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน เพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186”