สานต่อโครงการ “คนไทยยุคใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน ปี 3” ติวเข้มอาสาสมัครผ่าน Virtual Training

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย นับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โดยกว่า50% ของคนไทยวัยระหว่าง 25-30 ปี พบว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตและ/หรือสินเชื่อบุคคล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานมีรายได้เป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องหนี้ อาศัยการแก้ไขเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอและไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ

สมาคมธนาคารไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้สังคมทางการเงินของประเทศมีความแข็งแกร่งและมั่นคงมากยิ่งขึ้น ผ่านการส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินที่ดีให้คนไทย จึงเดินหน้าสานต่อโครงการ “คนไทยยุคใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน ปีที่3” โดยเน้นถ่ายทอดความรู้ทางการเงินไปสู่นิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งกรุงเทพ และ ต่างจังหวัด เพื่อปลูกฝังและวางรากฐานความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงิน

สำหรับเตรียมความพร้อมในการวางแผนทางการเงินในอนาคตของวัยเริ่มต้นทำงาน ซึ่งทุกธนาคารร่วมมือกันส่งอาสาสมัครที่จะเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรู้ทางการเงินรูปแบบใหม่ Learning by Gaming ให้กับนิสิต นักศึกษา ในรั้วมหาวิทยาลัย

โครงการ “คนไทยยุคใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน ปีที่ 3” ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมยุค New Normal โดยจัดอบรมอาสาสมัครพนักงานของธนาคารสมาชิก 11 ธนาคาร รวมกว่า 700 คน ผ่านระบบออนไลน์รูปแบบเสมือนจริง หรือ Virtual Training เน้นเสริมทักษะการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางการเงินส่วนบุคคลผ่านการเล่นเกม รวมไปถึงทักษะการสื่อสารและเทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพ (Train the Trainer) ให้แก่อาสาสมัคร เพื่อเป็นตัวแทนในการส่งต่อความรู้ความเข้าใจและปลูกฝังพฤติกรรมการบริหารจัดการทางการเงินที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่ช่วงวัยทำงาน โดยมี ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ในฐานะประธานโครงการ “คนไทยยุคใหม่ ใส่ใจเรื่องเงิน” และ กอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการปฏิบัติการแทนประธานสมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วย ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าคณะทำงานโครงการฯตลอดจนผู้บริหารธนาคารสมาชิกร่วมกันเปิดตัว กิจกรรมในครั้งนี้

ปิติ  ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ในฐานะประธานโครงการ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมากและได้กลายเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย ยิ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลาย ๆ ส่วนเข้ามาเอื้อต่อการใช้จ่ายและตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ สินค้าและบริการต่าง ๆ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้คนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มที่จะถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายเกินตัวและเป็นหนี้เร็วขึ้น

ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าใจและการปลูกฝังพฤติกรรมการบริหารจัดการด้านการเงินที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับนักศึกษาที่กำลังจะกลายเป็นผู้มีรายได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเตรียมรับมือกับความท้าทายทางการเงินที่จะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

“ถ้ามองในด้านบวก เราอาจต้องขอบคุณโควิดที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความตระหนักรู้ และเห็นความสำคัญเรื่องความรู้ทางการเงินมากกว่าเดิม และส่งผลให้การถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เพราะโควิดได้สะท้อนถึงความเปราะบางต่อภาวะการจ้างงานของคนไทยทั้งประเทศ มีหลายคนถูกเลิกจ้าง และการหางานก็เริ่มยากขึ้น แตกต่างจากสมัยก่อน

เรื่องนี้จะเป็นสิ่งเตือนใจเมื่อเด็ก ๆ ก้าวสู่การเริ่มต้นทำงาน เพราะหากได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว หนี้ที่เกิดขึ้นอาจต้องใช้เวลานานในการแก้ไข ดังนั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญก็คือ ทำอย่างไรจะป้องกันกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้”

ปิติกล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุกประเทศมองว่าวัคซีนต้านโควิดเป็นความหวัง ซึ่งไม่ทราบว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ แต่วัคซีนที่จะคุ้มกันคนรุ่นใหม่ไม่ให้เป็นหนี้เกินตัวและเร็วเกินไปสามารถสร้างได้แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยการให้ความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy ซึ่งเป็น 1 ในแผนงานยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิก ซึ่งกิจกรรมการอบรมเทรนเนอร์ออนไลน์แบบเสมือนจริง (Virtual Training) ในปีนี้เป็นรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้เข้าถึงมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น และให้ความรู้กับนิสิตนักศึกษาจำนวนเพิ่มขึ้น เทรนเนอร์อาสาสมัครทุกคนจะสามารถนำเครื่องมือการถ่ายทอดความรู้นี้ ไปใช้ส่งต่อความรู้ให้กับน้องๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน อันรวมถึงความยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป”

ด้าน ดร. เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าคณะทำงานโครงการ กล่าวว่า

“วัตถุประสงค์ของโครงการคือ เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินในกลุ่มนักศึกษา โดยในปีที่ 3 มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมเป็น 20,000 คนเพิ่มขึ้นจากโครงการในปีที่ 2 ที่มีจำนวน 6,770 คน ในปีนี้ยังเน้นการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านการเล่นเกม (Learning by Gaming) ที่ได้ทั้งสาระ ความรู้และความสนุกสนานยิ่งกว่าเดิม ให้กับมหาวิทยาลัยที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันในปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยและคณะเป็นจำนวน 30 มหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อขยายฐานและต่อยอดโครงการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

ในปีนี้อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เป็นจำนวนกว่า 700 คน จาก 11ธนาคารสมาชิก  ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารทิสโก้ ทีเอ็มบีและธนชาต ธนาคารไทยเครดิต ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแลนด์แอนเฮาส์ และ ธนาคารไอซีบีซีไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจเป็นอย่างดีเยี่ยมจากบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมการธนาคาร โดยก่อนที่จะลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้กับนักศึกษานั้น ทางอาสาสมัครจะต้องเข้ารับการอบรมในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Training) เกี่ยวกับความรู้ทางด้านการเงินส่วนบุคคล ทักษะในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และ วิธีการจัดกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้อาสาสมัครทุกคนมีความรู้และทักษะในการจัดกิจกรรมได้อย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน”

สำหรับวิธีการทำงานของทีมอาสาสมัครในปีนี้มีการแบ่งงานชัดเจนขึ้น ซึ่งได้เรียนรู้จากปีที่ผ่านมาว่าแต่ละคนมีความชำนาญที่แตกต่างกัน จึงเปิดโอกาสให้อาสาสมัครเลือกตำแหน่งหน้าที่ได้ตามความถนัดของแต่ละคน โดยมีสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้ทางการเงิน และพัฒนากลยุทธ์ เนื้อหาและรูปแบบเกมต่าง ๆ ให้เป็นที่น่าสนใจ สนุกสนาน ได้ความรู้ตามวัตถุประสงค์ แต่อย่างไรก็ตาม การที่โครงการจะบรรลุสำเร็จได้ก็ต้องมีทีมงานที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างคณะทำงานของสมาคมฯ และทีมอาสาสมัครที่ทำหน้าที่ส่งต่อความรู้และคุณค่าของโครงการ รวมถึงศักยภาพในการส่งมอบความรู้ทางการเงินอย่างมืออาชีพสู่รั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต่อไป

“ในปีนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด ถึงแม้ว่าเราจะต้องเปลี่ยนวิธีการอบรมเป็นระบบออนไลน์ให้เข้ากับยุค New Normal แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือ พลังจิตอาสาที่พร้อมจะส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับน้องๆ นักศึกษาทั้งประเทศที่กำลังจะจบการศึกษาออกไป เริ่มต้นทำงานและมีเงินเดือน เพราะหากน้อง ๆมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน จะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ถูกต้อง และเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ชีวิตของตนเองและครอบครัว อันจะนำมาซึ่งรากฐานที่สำคัญของความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน และภารกิจนี้ เป็นภารกิจสำคัญที่สมาคมฯ ต้องการผลักดันให้เห็นผล” ดร. เบญจรงค์ กล่าวสรุป