ธุรกิจครอบครัวถือเป็นธุรกิจรากฐานของระบบเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาค เพราะการริเริ่มทำธุรกิจในครอบครัวนั้นคือการส่งต่อความเป็นมาของธุรกิจ ปรัชญา/แก่นแท้/จิตวิญญาณของธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น แต่หากจะคิดว่าธุรกิจครอบครัวเป็นธุรกิจขนาดเล็กแค่ในครัวเรือนเท่านั้นละก็ผิด ด้วยว่าธูรกิจครอบครัวสามารถเติบใหญ่เป็นธุรกิจระดับโลกได้ หากมีหลักการบริหารจัดการที่ดีภายในธุรกิจครอบครัว ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์ การวางตัวผู้สืบทอด ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้จากรุ่นสู่รุ่น แต่กระนั้น ก็ยังมีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะไม่สามารถส่งต่อถึงรุ่นที่ 3 ได้ ทว่า รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผู้อำนวยการ ศูนย์ธุรกิจครอบครัว (FAMZ) ได้ถอดรหัสการวางกลยุทธ์การบริหารธุรกิจครอบครัวที่มีมิติทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถยืนยงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและหักล้างคำกล่าวที่ว่าได้
การบริหารธุรกิจครอบครัวให้ยืนยงจากรุ่นสู่รุ่นถือเป็นความท้าทายและมีพัฒนาการอะไรหรือไม่ อย่างไร
ต้องบอกว่า การบริหารธุรกิจครอบครัวถือเป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุด เพราะเป็นการบริหารที่มีความซับซ้อน อ่อนไหวเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อำนาจการควบคุมธุรกิจและมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็มักไม่นิยมเปิดเผยเรื่องภายในครอบครัวให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ ศาสตร์ด้านนี้จึงถูกขีดให้อยู่ในวงจำกัด ทั้งที่ธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย และกล่าวได้ว่า ธุรกิจครอบครัวถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ อาทิ ค่านิยมและเป้าหมายของครอบครัว เนื่องจากคนเอเชียมักอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่และให้ความสำคัญกับการดูแลคนในครอบครัวมากกว่าคนตะวันตก
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการที่เด่นๆ ของธุรกิจครอบครัวที่เห็นได้ชัดเจนและแตกต่างจากเมื่อสิบปีก่อน คือ
- ประการแรก การปรับตัวให้เป็น ‘ธุรกิจครอบครัวมืออาชีพ’” ที่เปิดกว้างและไม่จำกัดการบริหารธุรกิจแต่เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น แต่สามารถทำงานกับมืออาชีพได้อย่างกลมกลืน
- ประการที่สอง ความเข้าใจที่มีต่อ‘ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัว’ ว่า ครอบครัวมีอิทธิพลอย่างไรกับธุรกิจ เข้าใจความสมดุลระหว่างธุรกิจกับครอบครัว เช่น เข้าใจถึงเป้าหมายทางธุรกิจและเข้าใจเป้าหมายของครอบครัวด้วย ในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารและสมาชิกในครอบครัวจึงต้องรู้จักการทำให้สมดุลระหว่างธุรกิจกับครอบครัว เนื่องจากในฟากของธุรกิจมีผู้เกี่ยวข้องทั้งมืออาชีพ พนักงาน ซัพพลายเออร์และลูกค้า ขณะที่ในฟากของครอบครัวก็มีผู้อาวุโส คู่สมรส ญาติพี่น้อง ลูกหลานและคนในบ้านที่ต้องดูแล
เหตุผลของการก่อตั้ง ศูนย์ธุรกิจครอบครัว (FAMZ)
การก่อตั้ง FAMZ ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเมื่อสักสิบปีก่อน ในขณะนั้น กลุ่มธุรกิจครอบครัวเป็นกลุ่มที่คนมักมองข้าม ที่สำคัญ ถึงปัจจุบันนี้คนที่เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ผมเชื่อว่าก็มีไม่มากนัก จริงๆ แล้ว ก็มีธุรกิจที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพียงบางส่วนงานเท่านั้น อย่างบริษัทที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ขณะที่ FAMZ เป็นที่ปรึกษาของธุรกิจครอบครัวจริงๆ
ขอบเขตการทำงานของเราส่วนใหญ่จะเป็นงานทางด้านการบริหารจัดการ การวางระบบบริหาร การลดความขัดแย้ง การสืบทอดธุรกิจ การทำให้ธุรกิจเติบโต การปรับปรุงความสัมพันธ์ การลดความขัดแย้งของสมาชิกในครอบครัวให้ดีขึ้น การส่งผ่านความเป็นเจ้าของธุรกิจให้สมดุลและไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ซึ่งตรงนี้แตกต่างกันมาก แต่เราก็ทำงานร่วมกันกับบริษัทที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย
กล่าวได้ว่า ณ ปัจจุบัน FAMZ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจครอบครัว เพราะเราก็ทำเฉพาะด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง แค่เรื่องธุรกิจครอบครัวเราก็มีอะไรให้ค้นหาและพัฒนาทางออก (โซลูชั่น) ให้กับธุรกิจครอบครัวมากมายอยู่แล้ว เนื่องจากกลุ่มธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยเรามีอยู่มากและเนื่องจากความหลากหลายของธรรมชาติในแต่ละครอบครัว ทำให้ต้องการโซลูชั่นเป็นของตนเองแตกต่างกันไปด้วย ฉะนั้น งานของเราที่ทำอย่างต่อเนื่องนั้นจึงค่อนข้างมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน
มีประสบการณ์จากการคลุกวงในอะไรที่น่าสนใจและพึงต้องระมัดระวังหรือไม่
การเข้าไปคลุกคลีกับธุรกิจครอบครัวต่างๆ นั้น เราต้องวางบทบาทของเราอย่างสมดุลให้ได้ เพราะนี่คือความไว้วางใจที่แต่ละธุรกิจครอบครัวให้ความไว้วางใจกับเรา ดังนั้น นอกจากเราจะต้องมีองค์ความรู้อยู่ในตัวแล้ว เราต้องทำความเข้าใจกับวิธีการบริหารธุรกิจและวิธีการบริหารธุรกิจครอบครัวแล้ว ที่สำคัญ ต้องมีประสบการณ์ด้วย
ด้วยว่า ภายในธุรกิจครอบครัวมักจะเป็นหลายๆ ตัวแปรที่มีความซับซ้อน หรือเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายมูลเหตุ เช่น บางกรณีก็เกิดจากการบริหารงาน ขณะที่บางกรณีอาจเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือความขัดแย้งส่วนบุคคลและรวมๆ กันจนกลายเป็นปัญหาของธุรกิจครอบครัว ซึ่งคนที่จะเข้าใจปัญหาตรงนี้ได้ ส่วนหนึ่งต้องมีประสบการณ์และเคยทำงานเป็นที่ปรึกษามาก่อน หรือเคยเข้าไปช่วยธุรกิจเหล่านี้ทำแผนงานต่างๆ หรือเคยเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งอยู่ในระดับที่พอสมควรจึงจะมองสถานการณ์ออก
การทำงานในลักษณะนี้หากเสนอทางออกหรือทางแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงของปัญหาที่อาจจะมีมากกว่าเดิมอีก เพราะนอกจากปัญหาเดิมจะแก้ไขไม่ได้แล้วก็ยังจะนำไปสู่ปัญหาใหม่อีกด้วย
ที่สำคัญ แต่ละครอบครัวต่างก็มีลักษณะธรรมชาติที่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น การสั่งสมประสบการณ์มากๆ จึงจะทำให้เราสามารถอ่านกรณีศึกษาใหม่ๆ ออก เหมือนกับหมอที่ตรวจคนไข้มามากๆ พอเห็นอาการของคนไข้ก็พอจะวินิจฉัยโรคหรือสาเหตุของโรคได้ว่ามาจากสาเหตุอะไร
จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา อะไรคือปัญหาของธุรกิจครอบครัวที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้ปัญหาลุกลาม
ปัญหาสำคัญเร่งด่วน คือ ปัญหาที่เจ้าของธุรกิจครอบครัวที่เป็นสมาชิกของครอบครัวด้วยไม่เห็นเป้าหมายในอนาคตร่วมกันทั้งของธุรกิจและของครอบครัวที่เป็นภาพเดียวกัน เรียกได้ว่า ต่างฝ่ายต่างมองภาพในอนาคต หรือเป้าหมายธุรกิจ หรือเป้าหมายครอบครัวของตนเอง หรือแม้แต่เป้าหมายชีวิตไปคนละทาง หรืออาจไม่มีเป้าหมายร่วมไปกับพี่น้องคนอื่นๆ ด้วยซ้ำ
สาเหตุที่เกิดการมองภาพหรือเป้าหมายคนละทิศทางนั้นมาจากการที่ไม่ได้ถูกฝีกหรืออบรมบ่มเพาะให้สมาชิกครอบครัวต้องคิดร่วมกับครอบครัวหรือญาติ ดังนั้น จึงเกิดผลลัพธ์ของการมองภาพหรือทิศทางอย่างช่วยไม่ได้และโทษคนๆ นั้นไม่ได้ด้วย และคนๆ นั้นก็จะมีเป้าหมายเฉพาะของตนเอง อีกทั้งไม่ได้มีจิตสำนึกที่จะต้องระลึกว่า ตนควรจะต้องนำพาธุรกิจครอบครัวไปด้วยกัน หรือต้องรักษาความสัมพันธ์ ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ฯลฯ
เมื่อคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน หรือไม่มีเป้าหมายเดียวกัน ต่างคนก็ต่างมีวิธีการหรือเส้นทางของตนเอง แล้วเมื่อต้องมาอยู่ในครอบครัวเดียวกันหรือมาบริหารกิจการด้วยกัน บางทีก็จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ นี่จึงเป็นมูลเหตุที่ธุรกิจครอบครัวต้องช่วยกันหล่อหลอมและสร้างให้เกิดขึ้นมา มิฉะนั้น ก็อาจจะนำพาไปสู่ปัญหาอะไรบางอย่างที่ไม่อาจคาดคิดได้ในภายหลัง
ปัญหาความสัมพันธ์ภายในธุรกิจครอบครัวถือว่าเป็นปัญหาวิกฤตด้วยหรือไม่
ต้องบอกว่า กว่า 80% ของปัญหาความขัดแย้งจากครอบครัวหรือธุรกิจมักจะเป็น “จุดเริ่มต้นของจุดจบตระกูล” โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่เคยมีปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว แน่นอนว่า สถานการณ์เหล่านี้ย่อมจะทำให้จุดเริ่มต้นของความกดดันเหล่านี้ลากยาวไปสู่จุจบของสถานการณ์ได้ ด้วยว่า ธุรกิจครอบครัวนั้นมีความสมดุลของสองฟากที่ต้องรักษานั่นคือความต้องการของ “ธุรกิจ” กับ “ครอบครัว” ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
การจะรักษาสมดุลระหว่าง “ธุรกิจ” กับ “ครอบครัว” ให้ได้นั้น สมาชิกครอบครัวจะต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองเสียก่อน ซึ่งหากจะกล่าวให้เห็นภาพ ผมก็ต้องขออ้างอิงจากทฤษฎี The Three Circle Model of Family Business ซึ่งเป็นวงกลมสามวงทับซ้อนกันที่อธิบายถึงบทบาทการบริหารงาน การบริหารธุรกิจและการบริหารครอบครัว โดยมีความสัมพันธ์กับประเด็น “ครอบครัว – ความเป็นเจ้าของ – ธุรกิจ” และเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มต่างๆ คือ 1) สมาชิกในครอบครัว ซึ่งมีทั้งสมาชิกครอบครัวที่เป็นเจ้าของ สมาชิกครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจด้วย กับ สมาชิกครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ 2) คนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว 3) สมาชิกครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ซึ่งสองกลุ่มหลังต้องทำงานร่วมกันกับกลุ่มแรก
ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือสมาชิกที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ทั้งสามวงนี้ให้ดีก่อน เพราะบางบทบาทหน้าที่มีส่วนทับซ้อนกัน นั่นคือ บางคนเป็นสมาชิกครอบครัวและเป็นทั้งเจ้าของ บางคนเป็นสมาชิกครอบครัวเป็นเจ้าของและเป็นทั้งผู้บริหารด้วย จากทฤษฎีนี้หากเราเข้าใจว่า เราอยู่ตรงพื้นที่ไหนของวงกลมแล้วพื้นที่นั้นควรได้รับอะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร จะทำให้การอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวและการบริหารงานราบรื่นไปด้วยดี แต่ถ้าสมาชิกเกิดสับสนในบทบาทหน้าที่ปัญหาก็จะวนซ้ำ มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา
ถ้ามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว ผมแนะนำให้แก้ไขที่เรื่องนี้ก่อน เพราะถ้าความสัมพันธ์ดี ไม่ขัดแย้งกันก็จะสามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้ หรือดำเนินการอะไรได้ง่าย แต่หากปัญหายังไม่ปะทุมาก หรือคิดว่าปล่อยไว้ก่อนหรือซื้อเวลา เพราะคิดว่า ถ้ายังแก้ปัญหาตอนนี้ไม่ได้จะขอวางไว้ก่อน ผมว่าก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ถ้าแก้ไขได้ก็ให้จัดการเรื่องความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เรียบร้อยก่อน โดยหาทางเลือกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ก่อน และพิจารณาถึงผลกระทบโดยส่วนรวมก่อนและพิจารณาความเสียหายของคู่กรณีด้วย แม้จะต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง แต่ก็ต้องพิจารณาถึงสมาชิกในครอบครัวของเราด้วยว่า มีความเสียหาย หรือได้รับความเดือดร้อนจากการแก้ปัญหา ดังกล่าวด้วย เพราะความเป็นญาติและด้วยความเป็นสายเลือดเราก็ทิ้งใครไว้ไม่ได้ ในกรณีที่เขาต้องเสียสิทธิ์ เราจะต้องดูแลเขาอย่างไร ตรงนี้เราก็ไม่สามารถเพิกเฉยได้ เพราะจะมองหน้ากันไม่ติดในภายหลัง
ปัญหาการสืบทอดธุรกิจ หรือการวางตัวทายาทของธุรกิจครอบครัวมีความหนักหนาหรือไม่ อย่างไร
ต้องบอกว่า ปัญหาการสืบทอดทางธุรกิจหนักหนามาก เป็นปัญหาที่ทุกครอบครัวต้องเจอและเป็นปัญหาที่ต้องเตรียมตัว เพราะธุรกิจครอบครัวจะสืบทอดธุรกิจจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอยู่เสมอ บางครอบครัวในต่างประเทศสามารถสืบทอดได้ถึง 70 กว่ารุ่นและหลายครอบครัวก็ทำได้เช่นกัน นั่นแสดงว่า มีศาสตร์ที่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวอยู่
ขณะที่ประเด็นสำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยนั้น เราไม่รู้ว่า กระบวนการตรงนี้คืออะไรและเราเพิ่งจะศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการที่เราเข้าไปเป็นที่ปรึกษาเราก็พบว่า เรามีส่วนช่วยให้การสืบทอดธุรกิจค่อนข้างเป็นไปได้อย่างราบรื่น นั่นคือคนที่ได้รับการคัดเลือกให้สืบทอดธุรกิจก็ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถ ความสามัคคีในครอบครัวก็ยังคงมีอยู่ได้เหมือนเดิม
การสืบทอดธุรกิจอย่างราบรื่นนั้นไม่ใช่การได้คนเก่ง แต่ในครอบครัวแตกแยกกันหมด เพราะสมาชิกในครอบครัวรู้สึกว่า ไม่ยุติธรรม ไม่โปร่งใส ฯลฯ ดังนั้น เราต้องได้คนที่เก่งและได้รับการยอมรับด้วย เพราะช่วงรอยต่อของการสืบทอดระหว่างเจเนอเรชั่นนั้นอ่อนไหวมาก ตั้งแต่ใครคือผู้ที่ได้รับการคัดเลือก คุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมคืออะไร คนที่ได้รับการประเมิน (คนที่ได้รับการแคนดิเดท) เมื่อได้รับโอกาสแล้วเกิดไม่ใช่ – เราจะทำอย่างไร หรือคนที่ได้รับการประเมินแต่ไม่ได้รับเลือก เขาจะไปอยู่ที่ไหน – อย่างไร ในส่วนของผู้ใหญ่ เมื่อลุกจากตำแหน่งผู้บริหาร เขาจะไปอยู่ตรงไหน รายได้เป็นอย่างไร และยังมีคุณค่าในชีวิตอยู่อีกหรือไม่ ตรงนี้จะแตกต่างจากการสืบทอดกับธุรกิจทั่วไปที่เมื่อลุกจากตำแหน่ง เราก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร และมีการจัดแพ็กเกจให้ เช่น โบนัส บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ”
ธุรกิจครอบครัวจะรับมือกับการสืบทอดธุรกิจจนเติบใหญ่ ไม่หยุดชะงัดแค่รุ่น 3
คำกล่าวที่ว่า รุ่น 1 ทำ รุ่น 2 สร้าง แต่กิจการมาไม่ถึงรุ่น 3 นั้นก็ยังมีส่วนจริงอยู่มากทีเดียว แต่หากมีโอกาสได้สัมผัสกับธุรกิจครอบครัวก็จะพบว่ามีโอกาสเติบโตได้แน่นอน เนื่องจาก
- หนึ่ง แต่ละครอบครัวมีจุดแข็งมากมายที่สืบทอดต่อๆ กันมา อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งมาก เพราะบางครอบครัวทำมาแล้วหลายเจเนอเรชั่น ฉะนั้น องค์ความรู้จึงสั่งสมในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งสมแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็แล้วแต่ นอกจากนี้ องค์ความรู้ยังถ่ายทอด สั่งสมกันมาผ่านพนักงานในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นด้วย
- สอง ถ้าธุรกิจครอบครัวมีเป้าหมายร่วมกันในระยะยาว โดยอยากให้ธุรกิจครอบครัวสามารถบริหารจัดการหรือดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน แล้วเริ่มเตรียมตัวของตนเอง คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่มีความต่อเนื่อง เพราะมีทรัพยากรบุคคลที่เป็นเจ้าของเข้ามาดูแลและบริหารจัดการ สืบทอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้แตกต่างจากธุรกิจทั่วๆ ไปที่ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจที่ชัดเจน แล้วในเมื่อผู้บริหารหมดวาระก็ต้องมานั่งลุ้นต่อว่า ผู้บริหารที่จะมาใหม่จะมีความสามารถหรือไม่ ดีเหมือนหรือไม่/เหมือนกับผู้บริหารคนก่อนหน้านี้หรือไม่ แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวที่มองอะไรในระยะยาวๆ จะมีการเตรียมคนไว้ตั้งแต่เล็กๆ อบรมบ่มนิสัยปลูกฝังให้รักธุรกิจครอบครัว นั่นก็จะทำให้การส่งต่อธุรกิจและการขยายธุรกิจให้เติบโตเป็นไปได้อย่างแน่นอน
- สาม มีเครือข่ายที่ดีไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ซัพพลายเออร์ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งข้อเท็จจริงคือคนเหล่านี้มักจะไม่ทำอะไรกันแค่ในระยะสั้นๆ แต่จะมีการทำงานร่วมกันจนดูว่าลงตัวแล้วและเป็นคู่ค้ากันมาโดยตลอด ฉะนั้น การมีคู่ค้าที่ดีจึงดีทั้งเรื่องความไว้วางใจกันได้ การมีข้อมูลตลอดจนการไหลเวียนของข้อมูลในโซ่อุปทานจะถึงกันหมด นอกจากนี้ ก็มีความเกี้อกูลกัน การลดความเสี่ยง การผิดเงื่อนไข หรือความผิดเรื่องการเบี้ยวหนี้ก็จะมีน้อย ธุรกิจครอบครัวก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้