จากการที่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกและไทยต่างได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจาก COVID-19 เพราะหลายประเทศทั่วโลกต่างต้องใช้มาตรการ Lockdown เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่ประชาชนก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด คือ ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวตามปกติได้ และทำได้เพียงโพสต์ภาพการท่องเที่ยวที่ผ่านมาวนไปในโลกโซเชียล โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกซึ่งรวมถึงไทยจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีกว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อน COVID-19 ในปี 2562 ในแง่ของจำนวนและรายได้การท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนที่เป็นไปได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิทัล Virtual Tours หรือเทคโนโลยีท่องเที่ยวเสมือนจริง จึงถูกพัฒนาขึ้น โดยเป็นการจำลองสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ฯลฯ ด้วยภาพสามมิติ 360 องศา พร้อมองค์ประกอบด้านข้อมูลและสื่อมัลติมีเดียอย่างเหมาะสมเพื่อกระตุ้นความสนใจและทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเสมือนได้ไปเยือนยังสถานที่จริง ผ่านการรับชมหรือท่องเที่ยวด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นงาน Virtual Tours มุ่งหวังการสร้างการจดจำและคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจะอยากเดินทางมาสัมผัสกับสถานที่จริงในภายหลังเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย ดังนั้น Virtual Tours จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านการตลาดที่ถูกนำมาใช้กระตุ้นความต้องการด้านการท่องเที่ยวในอนาคต (Future Demand) รวมถึงการสร้างการรับรู้/แบรนด์ ในช่วงที่ประชาชนมีข้อจำกัดด้านการเดินทางเช่นในเวลานี้
ขณะเดียวกัน หากความเชื่อมั่นต่อการเดินทางของผู้คนฟื้นตัวขึ้นและกลับมาเดินทางได้ปกติแล้ว Virtual Tours ก็ยังน่าจะสามารถปรับให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ ได้ อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม กลุ่มผู้ป่วย ที่ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกนัก ซึ่งประชากรกลุ่มเหล่านี้ในแต่ละประเทศก็มีจำนวนอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ เทคโนโลยีเสมือนจริงนี้ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดอีเวนท์ นิทรรศการ การแข่งขันกีฬา สื่อการเรียนรู้ด้านการศึกษา หรือแม้แต่การออกแบบงานก่อสร้าง เป็นต้น
แม้ว่า Virtual Tours จะไม่ได้ช่วยในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในทันที แต่นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดเพื่อสร้าง Engagement และประสบการณ์รูปแบบใหม่กับนักท่องเที่ยว และเมื่อประกอบกับโปรโมชั่น/การส่งเสริมการตลาดหรือมาตรการกระตุ้นอื่นๆของภาครัฐและเอกชน ก็อาจจะทำให้มีโอกาสสร้างรายได้กลับมาในอนาคต อย่างไรก็ตาม การผลิต Virtual Tours นอกจากจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ในขณะเดียวกัน ความท้าทายสำคัญยังอยู่ที่การออกแบบให้เทคนิคต่างๆ ผสมผสานกันอย่างลงตัวและสามารถสร้างประสบการณ์เสมือนจริงที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายรู้สึกประทับใจให้ได้มากที่สุด ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหรือทักษะเฉพาะเจาะจงในการสร้างสรรค์ส่งผลให้ในปัจจุบันผู้ผลิต Virtual Tours ส่วนใหญ่ยังเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่องานด้านการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก
สำหรับภาคธุรกิจที่สนใจผลิต Virtual Tours นั้น ผู้ประกอบการคงต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเจ้าของสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวภาครัฐและเอกชนในแต่ละชุมชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการออกแบบงานดิจิทัล และอาศัยช่องทางออนไลน์ต่างๆ (Facebook, Google, Youtube) ที่ปัจจุบันกลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมและมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งแบบไลฟ์สดและการอัดคลิปวิดีโอ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างแคมเปญการตลาดที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังอาจต้องศึกษาประเด็นข้อกฎหมายด้านลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ประกอบด้วย กล่าวคือ
ผู้ประกอบการคงต้องประเมินความคุ้มค่าของการลงทุน หรือต้นทุนการผลิตเทียบกับโอกาสจากการต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคตว่าจะมีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งท้ายสุดแล้วมองว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จะยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควรสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่จะผลิต Virtual Tours โดยลำพัง