‘ธนินท์’ ตอบจม. ‘ลุงตู่’ พร้อมแนะ 5 ยุทธศาสตร์

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ออกจดหมายตอบรับขอความร่วมมือจากนายกรัฐมนตรี พร้อมแนะ 5 ยุทธศาสตร์ 5 ยุทธการ ดังนี้

“ผมถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทย”
 

“การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจและธุรกิจในเกือบทุกด้าน รวมถึงจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น  … ภาครัฐควรเปลี่ยนวิกฤติมาเป็นโอกาสด้วยการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ควบคุม ป้องกันและรักษา โดยการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล ของประชากรทุกคน และทุกนิติบุคคลในประเทศ เพื่อให้การบริหารเหตุการณ์ มีข้อมูลในทุกมิติ อาทิ  สุขภาพ การเงิน การหาความรู้ การจ้างงาน ภายใต้การดูแลเรื่องความปลอดภัยข้อมูล และมีข้อมูลสนับสนุนความช่วยเหลือที่ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม ภายใต้ความปลอดภัยข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  … ตลอดจนการจัดทำระบบแสดงผลตามพื้นที่ Heat Map และระบบการบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือที่โปร่งใส Digital Donation Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริจาคสนับสนุนทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการรวบรวมความต้องการการช่วยเหลือของโรงพยาบาลต่างๆ ไว้ในที่เดียว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ความต่อเนื่องของธุรกิจ  … รัฐบาลควรเร่งปลดล็อคอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ต่อเนื่อง อาทิ การแก้กม.เพื่อรองรับ การจัดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Gov), Digital ID  ที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน, ระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ (Online KYC), การลงนามอิเลคโทรนิกส์ (e-Signature), การทำสัญญาออนไลน์ (Smart Contract) เพื่อทดแทนการใช้กระดาษ .. และควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้ รวมทั้งการใช้ระบบสื่อสารและโซลูชั่นที่รองรับการทำงานได้จากทุกที่ The New Normal ของการทำธุรกิจและการกลับมาเปิดตัวใหม่อีกครั้งของธุรกิจต่างๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจ้างงานและพัฒนาคน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เป็นการเตรียมคนเพื่ออนาคต … หากรัฐบาลส่งเสริมการจ้างงานชั่วคราวให้กับนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีงานทำในระยะนี้มาเป็นส่วนเสริมในการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การสร้างผู้ช่วยด้านดิจิทัลให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ  หรือนำกลุ่มเด็กจบใหม่ที่มีความสามารถด้าน ICT ไปช่วยพัฒนาการศึกษาออนไลน์ ยุทธศาสตร์นี้เน้นการสร้างความรู้ทางดิจิทัล และสมรรถนะทางเทคโนโลยีให้กับประชากรผ่านโครงการ Future Skilling เพื่อยกระดับทักษะของคนไทยทั้งประเทศ …  ในกลุ่มคนว่างงาน หากภาครัฐให้เงินสนับสนุนเพื่อการเรียนรู้งานแห่งอนาคต รวมทั้งการจัดทำแพลตฟอร์มในการหางาน และบริษัทที่ต้องการจ้างงานที่ใช้ Skill ใหม่ และเสนอให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 80% เพื่อรักษาสถานภาพพนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก พร้อมกับ Re-Skill พนักงาน โดยไม่ปลดออก แต่ต้องสร้างทักษะใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ความมั่นใจในตลาดทุน รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ตลาดการค้า และการลงทุน เพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง อาทิ เช่น สตาร์ทอัพ ธุรกิจ SME ที่อาจขาดสภาพคล่องในการระดมทุน และ มีการจัดตั้งและกระตุ้นกองทุนต่างๆ ให้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนรายได้ที่ขาดช่วง การขาดกระแสเงินสด และการรักษาพนักงาน ทั้งนี้ เนื่องจากในภาวะวิกฤติเช่นปัจจุบันการระดมทุนเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ดี และมีอนาคต แต่ประสบปัญหาการขาดกระแสเงินสดเป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : เศรษฐกิจใหม่ หรือ Economic Reform นอกจากการวางแผนระยะสั้นแล้ว ควรลงทุนเพื่ออนาคต เตรียมรองรับเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติ ได้แก่ เกษตรกรอัจฉริยะ และ การทำ e-Commerce  รวมถึงการวางแผนพื้นที่การเพาะปลูก การพัฒนาระบบชลประทานให้พื้นที่การเกษตรเข้าถึงน้ำ 100% การป้องกันน้ำท่วมนอกจากนี้ยังมีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะดึงดูดบุคลากร ผู้มีความรู้ และนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก การออกแบบเมืองที่มีความปลอดภัยปลอดเชื้อ การป้องกันด้านสาธารณสุข (Preventive Healthcare) การท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เน้นสุขภาพ จนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เป็นต้น

สำหรับสิ่งที่เจ้าสัวธนินท์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้ โครงการในระยะแรก ประกอบไปด้วย

  • การให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ การสร้างโรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ใช้งบประมาณ 175 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน การบริจาคชุดป้องกัน Tyvek 400 Tychem 2000 หน้ากาก N95 แว่นตานิรภัย ถุงคลุมเท้า ชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว (Coverall) และหน้ากากป้องกันเชื้อ (Face Shield) 
  •  มอบเงิน 77ล้าน ให้กับ 77 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน สนับสนุนอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ สนับสนุนแท็บเล็ต และโทรศัพท์วิทยุสื่อสาร จำนวนกว่า 500 เครื่อง พร้อมซิมทรูมูฟ เอช ที่ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน แก่โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวม 50 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการโดยกลุ่มทรู เป็นต้น 
  •  การช่วยเหลือประชาชนและแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ได้แก่ การดูแลผู้เฝ้าระวังตนที่กลับจากต่างประเทศ ผ่านโครงการมอบอาหารจากใจ ต้านภัยโควิด-19 ส่งอาหารถึงบ้านกว่า 2 หมื่นราย (จบโครงการแล้ว) ดำเนินการโดย CPF การมอบไข่ไก่ การแบ่งเบาค่าครองชีพด้วยการจำหน่ายอาหารพร้อมทาน ราคา 20 บาท จำนวน 1 ล้านถาด และข้าวกล่องจำนวน 13 ล้านกล่อง ราคา 20 บาท เป็นต้น   
  • CP ALL  ประกาศจ้างงานเพิ่ม 2 หมื่นอัตรา และ CPF ประกาศจ้างงานเพิ่ม 5,000 อัตรา เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่วนพนักงานกว่า 3 หมื่นคนในประเทศไทยไม่มีนโยบายเลิกจ้าง หากพนักงานได้รับเชื้อโควิด-19 มีนโยบายดูแลพนักงานโดยรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล บุคคลในครอบครัวของพนักงานหากได้รับผลกระทบ
  • มีการมอบคูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม   มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร SMEs นำร่องกว่า 50 ร้านค้าพันธมิตรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และสนับสนุนพื้นที่สื่อโฆษณาทุกช่องทาง ถวายปัจจัยสมทบทุนช่วยเหลือพระสงฆ์ทั่วประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19   จำนวน 500 วัด และยังมีการมอบอาหารให้กับชาวชุมชนคลองเตยกว่า 8,499 หลังคาเรือน 

“ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส กล้าตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ได้นำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ประกอบด้วย

  • โครงการปลูกน้ำ เพื่อนำพื้นที่ที่ปกติน้ำท่วมทุกปีมาพัฒนาเป็นแหล่งแก้มลิง เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรกรโดยรอบ
  • โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต้นแบบ เพื่อยกระดับรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรให้มีรายได้อย่างพอเพียง โดยจะคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบใน 3-4 จังหวัด โดยอาศัยหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย 
  • สร้างความต่อเนื่องให้กับระบบการเรียนของนักเรียน นักศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทางทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนาแพลตฟอร์มวีเลิร์น (VLEARN) เพื่อรองรับการเรียนรู้ได้จากทุกที่ สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และการเรียนระบบออนไลน์ การให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทุนวิจัย สร้างความร่วมมือด้านงานวิจัย และพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ และศูนย์วิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการค้นคว้าอุปกรณ์ตรวจเชื้อ วัคซีนและยารักษา     

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการที่ดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผล จึงถือได้ว่าโครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริมในการบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในเอกสารฉบับนี้ เป็นมุมมองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือเจริญโภคภัณฑ์ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป”