“หมอชนะ” แอปที่คนไทยต้องมีไว้สู้ COVID-19

เพื่อต่อกรกับ COVID-19 นี่คือ ‘หมอชนะ’ แอปพลิเคชั่นที่คนไทยต้องมีและเป็นระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์วิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ  เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’และเช็คอินด้วยแอปนี้เมื่อเข้าสู่อาคารสถานที่ต่าง ๆ  

‘หมอชนะ’ เป็นการผนึกกำลังระหว่างทีมพัฒนาร่วมประชาชน -เอกชน-ภาครัฐ” นำโดย ‘Code for Public’ กลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ และ ‘กลุ่มช่วยกัน’ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก  

แนวคิดการพัฒนาแอป “หมอชนะ” ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นความเสี่ยงที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ คือ การปกปิดข้อมูลของผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จนส่งผลให้แพทย์และพยาบาลต้องหยุดการทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ๆต่อครั้งเพื่อกักตัวเองหรือล้มป่วย เมื่อพบภายหลังว่าผู้มารับบริการติดเชื้อ COVID-19  แอป “หมอชนะ” จึงแก้ปัญหานี้ โดยอาศัยเทคโนโลยี GPS และบลูทูธ เพื่อติดตามตำแหน่งของผู้ใช้แอปและแสดงให้เห็นว่ าผู้ใช้แอปได้ผ่านพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ ทำให้เมื่อผู้มารับบริการทางการแพทย์แสดงข้อมูลในแอป บุคลากรทางการแพทย์ก็จะสามารถจัดลำดับความเร่งด่วนและวางมาตรการรักษาหรือส่งตรวจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ส่วนผู้ใช้แอปทั่วไปก็สามารถตรวจดูแอปเพื่อประเมินได้ว่า พื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง แล้วปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางหรือบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งย่อมจะทำให้ทุกคนสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย”แอป “หมอชนะ” ใช้งานง่าย และมุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง แต่ไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล โดยการลงทะเบียนใช้แอปเป็นแบบไม่ระบุตัวตน ยิ่งกว่านั้น คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตามพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยเมื่อผ่านวิกฤติ COVID-19  ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที อีกทั้งการโค้ดแอปยังมีลักษณะเป็น ‘โอเพ่นซอร์ส (Open Source)’ เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่น ๆ เพื่อขยายผลต่อไปอีกด้วย