ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey – Thailand Perspective ซึ่งเป็นผลการศึกษาสะท้อนมุมมองของเจนซี และมิลเลนเนียลชาวไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม
ผลสำรวจ Global 2024 Gen Z and Millennial Survey จัดทำขึ้นโดยดีลอยท์ ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 13 ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี (Gen Z) และมิลเลนเนียล (Gen Y)จำนวน 22,841 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล ที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก โดยมีคนไทยที่เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามทั้งหมด 301 คน แบ่งเป็น เจนซี 201 คน และ มิลเลนเนียลชาวไทย จำนวน 100 คน ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกของคนไทยในทั้งสองเจเนอเรชั่นดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีเดียวกันของคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันทั่วโลก ดังต่อไปนี้
ด้านสุขภาพจิต และ ความกังวลหลัก
จากผลการสำรวจในปีนี้พบว่า เรื่องที่เจนซีมีกังวลมากที่สุดคือ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การว่างงาน (ร้อยละ 36) และ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 21) สำหรับปัจจัยที่มิลเลนเนียลมีความกังวล 3 อันดับแรกได้แก่ ค่าครองชีพ (ร้อยละ 37) การความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง (ร้อยละ 26) และ ความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก (ร้อยละ 24) นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีในประเทศไทย ร้อยละ 42 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 60 รู้สึกดีถึงดีมากกับสภาพจิตใจโดยรวมของตนเองในปัจจุบัน เทียบกับปี 2566 โดยคนทั้งสองกลุ่ม ระบุว่ามีความเครียดน้อยลง ผู้ตอบแบบสอบถามเจนซีที่บอกว่ารู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ลดลงจากร้อยละ 51 เหลือร้อยละ 40 และ มิลเลนเนียล ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 39 เหลือร้อยละ 38 เหตุผลที่สร้างความเครียดได้แก่ การเงินในอนาคต การเงินในชีวิตประจำวัน และ งาน
ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกับสุขภาพจิตของคนไทย
ความคาดหวังของเจนซีและมิลเลนเนียลไทยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินว่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลง เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยความคาดหวังต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และ มิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 26 เหลือร้อยละ 22 ความคาดหวังต่อสถานการณ์การเงินของตัวเอง ของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือ ร้อยละ 19 และ มิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 33 และ ความคาดหวังต่อสถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจ/การเมืองของเจนซี ลดลงจากร้อยละ 27 เหลือร้อยละ 15 และมิลเลนเนียล ลดลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 23
ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 42 ของ เจนซี และ ร้อยละ 45 ของมิลเลนเนียล เชื่อว่าองค์กรภาคธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 49 และ 47 ตามลำดับ คนไทยรุ่นใหม่มีความคาดหวังว่าภาคธุรกิจควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมองภาคธุรกิจควรสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงาน ให้ผลตอบแทนที่เท่าเทียมและโปร่งใส สนับสนุนด้านทุนการศึกษา และ สร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะไม่มาซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย ร้อยละ 81 และ 92 ตามลำดับ ตอบว่ามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มเดียวกันทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ ที่ร้อยละ 62 และ 59 ตามลำดับ เจนซี ร้อยละ 90 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 91 มองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 92 ของเจนซี และ ร้อยละ 93 ของมิลเลนเนียล ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้นๆ ทานมังสะวิรัติ หรือ วีแกน (Vegan) และ เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ปัจจัยด้านการทำงาน
คนรุ่นใหม่ไทยมีเป้าหมายในการทำงานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกพนักงาน โดยร้อยละ 96 ของ เจนซีในประเทศไทย และ ร้อยละ 99 ของมิลเลนเนียล ตอบว่าการมีเป้าหมายในการทำงานค่อนข้างสำคัญหรือสำคัญมากต่อความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเจนซีและมิลเลนเนียลทั่วโลกที่ร้อยละ 86 และ ร้อยละ 89 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ร้อยละ 91 ของ เจนซีในประเทศไทย และ ร้อยละ 93 ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย บอกว่างานปัจจุบันทำให้ตนเองรู้สึกถึงความมุ่งหมาย (Purpose) ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ร้อยละ 55 ของ เจนซี และ ร้อยละ 60 ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง ร้อยละ 55 ของเจนซี และ ร้อยละ 57 ของมิลเลนเนียล ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และ เป็นงานที่มีความหมาย
ในภาพรวม เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยเห็นว่านายจ้างมีความใส่ใจต่อพนักงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเจนซี ร้อยละ 70 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 74 ตอบว่า นายจ้างให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน เจนซี ร้อยละ 77 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 76 ตอบว่ารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับผู้จัดการอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ และ เจนซี ร้อยละ 73 และ มิลเลนเนียล ร้อยละ 68 บอกว่าหัวหน้างานรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีการพูดคุยสื่อสารเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งคำตอบของเจนซีและมิลเลนเนียลคนไทยทั้งสองกลุ่ม สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ ร้อยละ 52 และร้อยละ 59 ตามลำดับ
“ดีลอยท์ติดตามความเคลื่อนไหวของคนทั้งสองเจนเนอเรชั่นทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราอยากทราบพัฒนาการทางความคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ และ ความเข้าใจกันระหว่างคนในวัยต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น” อริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว
มานิตา ลิ่มสกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Human Capital ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “อยากจะขอเน้นย้ำว่าเรื่องการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี หรือ Mental Well-being เป็นเรื่องสำคัญมาก กลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล คือ แรงงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในวันนี้ องค์กรที่มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลคนรุ่นใหม่ได้อย่างถูกต้อง จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ผลการสำรวจมีความน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของคนไทยที่มีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลกในในหลายแง่มุม ถ้ามองให้ละเอียดกว่านั้น จะเห็นถึงความแตกต่างกันของคนในแต่ละเจนอีกด้วย”