กกร. ยังเชื่อ ศก.ไทยขยายตัวในกรอบเดิม 2.5-4% เสนอภาครัฐดูแลศก.จริงจัง เพื่อประคองภาคธุรกิจ

ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนเมษายน 2565 ยังเชื่อว่า ท่ามกลางความท้าทายที่รุมเร้าประเทศไทย แต่เศรษฐกิจไทยยังคงไปได้ และยังคงขยายตัวในกรอบเดิม 2.5 – 4% หากการปรับค่าแรงอยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจผ่าน 2 มาตรการคือ มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการร่วมฯ 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนเมษายน 2565 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 นำโดยคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ และคุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ได้ระบุถึงสถานการณ์ ความท้าทายและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อให้ช่วยประคับประคองธุรกิจให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายนี้ไปด้วยกัน 

ความท้าทายที่ยังคงอยู่

1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านถือเป็นความท้าทายต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อในระดับสูง และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นมากสุดในคราวเดียวในรอบ 22 ปี และจะปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึง 2.5-2.75% ณ สิ้นปี

2.มาตรการ Zero Covid Policy ของจีน

จากมาตรการดังกล่าวทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว และกดดันให้ปัญหาโซ่อุปทานยิ่งตึงตัวขึ้น ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2022 ลดลงมากจาก 4.4% เหลือ 3.6% ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทย ขณะที่ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิม

3. ต้นทุนพลังงานกับค่าแรง

หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นมากจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน และมีแนวโน้มส่งต่อลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจที่ยังเปราะบาง อาทิ โรงแรม ค้าปลีกสะท้อนว่า การเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมากและส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ยังฝากความหวังที่ท่องเที่ยว

ท่ามกลางความท้าทายดังกล่าวมีเพียงการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น จากการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน พร้อมทั้งคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ  6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิม

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีมาอยู่ที่ 70-80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวในไทยปรับตัวอยู่กับโควิด-19 บ้างแล้ว อีกทั้งได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 119 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม ความเสี่ยงในระดับสูงทำให้ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5 – 4% ในกรอบเดิม หากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม และคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3 – 5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5 – 5.5%

ข้อเสนอแนะจาก กกร. ถึงภาครัฐ

จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ  และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ SMEs และประชาชน ในช่วงไตรมาส 2 -3 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

  1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง
    • ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน
    • ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตรเป็นระยะเวลา 3 เดือน
    • ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ, เพิ่มโควต้านำเข้า
    • เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
  2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
    • กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5, ขยายจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
    • ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง 
    • การลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า
    • การเปิดประเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม
    • การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงาน ชในแต่ละจังหวัดนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด โดยหากการปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้ กกร.จึงขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน

ขอเวลาปรับตัวเรื่องเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

กกร. ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายลำดับรองยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และควรมีเวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเช้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ นี้ด้วย กกร.จึงเสนอให้ภาคธุรกิจมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวตามกฎหมายลูก และชะลอบทลงโทษออกไปอีก 3 ปี