“โรงเรียนในฝันของคุณเป็นแบบไหน?”
แน่นอนว่า เราย่อมมีภาพที่แตกต่างกันออกไปตามแต่จินตนาการ และความรู้สึกที่อยากให้เป็น อยากจะเห็นโรงเรียนที่ให้ความรู้สึกอยากตื่นเช้านั่งรถไปทุกวัน โรงเรียนที่เด็กๆ และครูนั้นได้ แลกเปลี่ยนไอเดียกันไปมา โรงเรียนที่ให้ความรู้สึกว่าได้เรียนและได้ใช้ชีวิตไปด้วยเสมือนเป็น “บ้านหลังที่สอง” จริงๆ แต่จะทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้พร้อมกัน? ชวนคุยกับ มร.คริสโตเฟอร์ นิโคลส์ หรือ ครูใหญ่คริส ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ ถึงเรื่องราวในการเปิด “Senior School” อาคารเรียนใหม่ที่กำลังถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดดังกล่าว
ทำไมต้องมี Senior School?
ครูใหญ่คริส เท้าความให้ฟังว่า ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ เปิดมาได้ประมาณเกือบสามปีแล้ว โดยในช่วงแรกของการเปิดสอน ได้เริ่มต้นสร้างเพียงแค่อาคารหลังแรก (Junior School Building) พร้อมกับ Facilities อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ก่อน ซึ่งอาคารหลังแรกก็ได้รับการออกแบบให้มีส่วนช่วยเสริมการเรียนการสอนของเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบ ไปจนถึงเด็กโตอายุ 18 ปี ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ใช้เวลาในการศึกษาสภาพแวดล้อมด้านการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียน เพื่อนำไปใช้ในงานออกแบบอาคารเรียนแห่งใหม่ โดยเฉพาะ ในระดับ Senior School (อายุ 14-18 ปี) หรือตั้งแต่ Year 10 เป็นต้นไป ที่ต้องการพื้นที่การเรียนรู้ให้เหมาะกับช่วงวัย เตรียมความพร้อมสู่อนาคต
อาคารเรียนที่มีต้นแบบเป็นโรงแรมหรูและห้างใหญ่ใจกลางเมือง แรงบันดาลใจการสร้างตึกนี้ครูใหญ่คริสเล่าว่า เกิดจากการได้สังเกตดีไซน์โรงแรมหรูและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมือง อาทิ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซีและได้เห็นความสวยงาม มีชีวิตชีวา ตลอดจนการจัดสรรพื้นที่ให้สร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันไปในแต่ละโซน จึงมาคิดต่อยอดว่า “เราจะสามารถใส่บรรยากาศแบบนี้ในโรงเรียนบ้างได้มั้ย?” จึงเกิดเป็นคอนเซปต์ที่ผสมผสานระหว่างความเป็น “Learning & Living Space” ที่นำเอาข้อดีจากการออกแบบพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิต มารวมกับความต้องการของโรงเรียน เป็นพื้นที่ที่เด็กนักเรียนสามารถทั้งเรียน เล่น และสนุกกับการใช้ชีวิตได้ในเวลาเดียวกัน ยิ่งอยากเล่นก็ยิ่งอยากเรียน ใส่ความมีชีวิตชีวาเข้าไปในทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้วของอาคาร ทั้งใต้ต้นไม้ ทุกอย่างรอบตัว ถูกสร้างมาเพื่อเป้าหมายนั้น ซึ่งไอเดียนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ครูใหญ่คริส และนักออกแบบของบริษัท “Space Zero” จากประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการออกแบบพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ (Learning Space) มาแล้วหลายแห่งทั่วโลก
ห้องสมุดขนาดมหึมาที่ผสาน Learning Space และ Living Space สร้างแรงบันดาลใจที่ไม่รู้จบ
จริงอยู่ที่เมื่อเด็กโตขึ้นย่อมมีโลกส่วนตัว มีพื้นที่ของตัวเองแตกต่างกันไป ด้วยมุมมองและช่วงวัย บางทีอาจไม่ได้มีมุมวิ่งเล่นสนุกลิงโลดเท่าสมัยยังเล็ก แต่การคงไว้ซึ่งพื้นที่เล็ก ๆ ให้หัวใจยังสดใส พร้อมจะเล่นและเรียนรู้กับสิ่งรอบตัวไปได้เรื่อยๆ ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีเสมอ เพราะการเรียนรู้นั้นมีได้ตลอดชีวิต Senior School ของที่นี่ จึงยังคงพื้นที่ตรงนี้ไว้สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ในแบบของเด็กโต
“จากกรณีศึกษาของ Junior School ตลอดเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเด็กในวัย 2-5 ปีนั้น เรียนรู้ผ่านการเล่นเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า Play-based Learning ซึ่งให้ผลดีกว่าการเรียนทั่วไป สร้างแรงจูงใจให้พวกเขาได้มากกว่า เพราะโดยธรรมชาติเด็กเขาอยากจะเล่นสนุกอยู่แล้ว ยิ่งรู้ว่าจะได้เล่นก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาอยากจะลงมือทำ ยิ่งเล่นก็ยิ่งได้เรียนรู้ตามไปด้วย เมื่อใดก็ตามที่คุณใช้แรงจูงใจเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อนั้นพลังแห่งการเรียนรู้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น” และเมื่อเขากลายเป็นเด็กที่โตขึ้น ก็ยังคงพื้นที่เหล่านี้ไว้สำหรับกิจกรรมการเล่นและเรียนรู้ในแบบเด็กโต แม้ว่าพื้นที่สำหรับการเล่นสนุกแบบเด็กเล็กๆ จะลดน้อยลง แต่จะกลายเป็นห้องสมุดขนาดมหึมาที่ยังคงสร้างแรงจูงใจให้เด็กแต่ละคนไม่แพ้กัน แนวคิดนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญที่เวลลิงตันนำมาต่อยอดในการออกแบบ โดยจะไม่เปลืองพื้นที่ไปกับระเบียง หรือทางเดินว่างๆ ในอาคาร หรืออะไรที่ไม่ได้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกมุมคือที่ที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ไปตามแนวทางที่วางไว้
มากกว่า “คลาสรูม” คือ “เลิร์นนิง สตูดิโอ”
ในช่วงวัยที่ยังอยู่บนเส้นทางของการค้นหาตัวเอง และต้องคอยตักตวงทักษะความรู้ต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้พร้อมสำหรับการสอบวัดผลตามหลักสูตรการศึกษาประเทศอังกฤษ อย่างกลุ่มเด็ก Year 10-11 ที่ต้องเตรียมสอบ IGCSE (เทียบเท่า ม.4 ไทย) และกลุ่มเด็ก Year 12-13 ที่ต้องสอบในระดับ A Level (เทียบเท่า ม.6 ไทย) ดังนั้นทั้งเนื้อหาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนจะต้องมีความสอดคล้อง พร้อมช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของพวกเขาให้มากพอจะไปถึงฝั่งฝัน
Senior School จึงถูกออกแบบให้เป็นเหมือนห้องสมุดใหญ่ ที่รายล้อมไปด้วยพื้นที่การเรียนรู้ทั้งภายในและนอกตัวอาคาร โดยมี “เลิร์นนิง สตูดิโอ” (Learning Studio) เป็นหัวใจสำคัญในการเรียนการสอนที่ความรู้จะไม่ได้มาจากครูอย่างเดียว แต่จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ เป็นผู้กำหนดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยการได้พูดคุย แลกเปลี่ยนไอเดียกับเพื่อน ช่วยกันทำความเข้าใจร่วมกัน แล้วนำเนื้อหาที่ได้เรียนไปคิดต่อยอดกันด้วยตัวเองทั้งในหรือนอกห้องเรียนก็ได้ไม่จำกัด แล้วสุดท้ายครูจะคอยช่วยซัพพอร์ต คอยตั้งคำถาม โยนไอเดีย มาสรุปให้ว่าสิ่งที่แชร์กันไปได้อะไรบ้าง ตอบโจทย์หรือเปล่า
สรุปคือ “ห้องเรียนทั่วไป” การเรียนการสอนจะถูกกำหนดไว้แล้ว โดยมีครูเป็นศูนย์กลาง แต่ “Learning Studio” คือ การสร้างสมดุลของการเรียนรู้ ที่ครูจะเปลี่ยนจาก “Lecturer” มาเป็น “Facilitator” ที่ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการเป็นคนคอยผลักดันให้เด็กนักเรียนได้คิด ได้แชร์ไอเดีย แล้วมาค้นหาคำตอบที่ใช่ไปด้วยกัน พอได้มีพื้นที่แสดงความคิดตัวเองออกไปบ้าง เขาก็จะสนุกและตื่นตัวไปกับการเรียนมากขึ้น ซึ่งนี่คือการเรียนแบบ “Active Learning” ที่เด็กๆ ได้เป็นมากกว่านักเรียน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เวลลิงตันพยายามปลูกฝังมานาน
ดีไซน์เพื่อกระตุ้นการจดจำ ทำให้การเรียนรู้ไม่สะดุด
อาคาร Senior School แห่งนี้ ยังถูกออกแบบโดยเน้นที่รายละเอียดความแตกต่าง ที่ไม่เพียงแค่ในเรื่องการใช้สีและเส้นเท่านั้น แต่จะใส่ความเป็นเอกลักษณ์ลงไปในทุกพื้นที่ ชนิดที่หากคุณได้ลองเข้าไปก็จะสามารถแยกได้เลยว่าตัวเองกำลังอยู่ส่วนไหนของอาคาร
นอกจากการออกแบบที่เน้นความแตกต่างจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสดชื่นมีชีวิตชีวาอยู่เสมอแล้ว จากประสบการณ์การเป็นครูมาหลายปี ครูใหญ่คริสบอกว่า “ความแตกต่างของพื้นที่การเรียนรู้ มีส่วนช่วยเสริมให้เด็กได้เกิดการจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เพราะเด็กจะจดจำได้ว่าเขาได้เรียนรู้สิ่งนี้ตอนเขาอยู่ที่ไหน และในระหว่างที่เรียนอะไรอยู่ เด็กจะสามารถจดจำได้ดีขึ้นจากบรรยากาศและสภาพแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม หากเด็กไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน ต้องทำ ต้องเจอสภาพแวดล้อมที่ซ้ำซากจำเจทุกวัน ก็คงแอบเบื่อกันไปบ้างไม่มากก็น้อย จนอาจส่งผลถึงความกระตือรือร้นในการมาเรียน ความแม่นยำในการจดจำก็จะลดลง
การออกแบบรายละเอียดที่มีความแตกต่าง ช่วยสร้างให้เกิดความน่าสนใจ และเด็กจะพยายามมองหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีกว่า เช่น เรามีการจัดทำห้อง Harkness ให้เป็นพื้นที่ ที่เด็กใช้ในการสนทนาและร่วมกันอภิปรายเนื้อหาการเรียนรู้ ซึ่งแม้ลักษณะการใช้พื้นที่จะเหมือนกัน แต่เราก็มีการดีไซน์ห้อง Harkness ที่แตกต่างและไม่เหมือนกัน เพื่อกระตุ้นการจดจำและเรียนรู้”
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับ “การใช้แสง” ภายในอาคาร ด้วยการสร้างให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาในหลายพื้นที่พร้อมกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมภายในโบสถ์สไตล์ยุโรป เสมือนได้ย่อเวลลิงตันของอังกฤษมาไว้ในไทย แม้เนื้อที่จะเล็กกว่าแต่ก็ยังคงไว้ซึ่งประสบการณ์และบรรยากาศสภาพแวดล้อมอันเป็นเอกลักษณ์เหมือนกัน
“เรามีความตื่นเต้นกับอาคารเรียนหลังนี้มาก แม้ว่าตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่เราก็สามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในอาคาร ซึ่งเราก็ตั้งตารอวันที่เราจะได้เปิดใช้อาคารเรียนแห่งนี้ และสัมผัสบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นจริงๆ” ครูใหญ่คริส กล่าว
“โรงเรียนในฝัน” ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่คงดีไม่น้อยถ้าฝันนั้น มันเกิดขึ้นให้เห็นแล้วในชีวิตจริง
*ทั้งนี้ คาดว่า Senior School จะสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้ประมาณเดือนตุลาคม 2564 พร้อมมาตรการรับมือ COVID-19 ที่จะมีการออกคู่มือ คอยดูแลความเรียบร้อยกันอย่างเคร่งครัดตามมา*