บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส1 ปี 2564 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 782 ล้านบาท กำไรสุทธิ 131 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 189 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมส่งซิกเล็งหาโอกาสลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) เสริมศักยภาพความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ต่อยอดก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค
บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณยอดขายและบริหารจัดการน้ำทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น และการรับรู้รายได้จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม และส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมีจำนวน 189 ล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงไฟฟ้า Gheco-One ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส1 ปี 2564 ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคนั้นมีการเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากบริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศ และต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 33 ล้านลบ.ม. เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขี้น 12 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสาเหตุหลักที่มีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทฯไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้น้ำของกลุ่มอุตสาหกรรม ยังคงดำเนินการปกติอย่างต่อเนื่อง กอปรกับมีความต้องการใช้น้ำจากลูกค้ารายใหม่เริ่มทยอยเปิดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) และการนำน้ำเสียมาบำบัดและใช้ใหม่ (Waste Water Reclamation) อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการ Reclamation Plant ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาด 25,000 ลบ.ม./วัน ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มผลิตตั้งแต่มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถนำน้ำที่ได้จากกระบวนการบำบัดดังกล่าวไปผลิตเป็น Demineralized Water และ Premium Clarified Water สำหรับจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าแล้ว โครงการดังกล่าวยังเป็นต้นแบบของการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งด้านการบริหารจัดการต้นทุนการจัดหาน้ำของบริษัทฯ รวมถึงการลดการพึ่งพิงน้ำดิบจากแหล่งน้ำอื่นอีกด้วย ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม จำนวน 1 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 203 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคว้างานโครงการโซลาร์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 1ปี 2564 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเท่ากับ 61 เมกะวัตต์ และสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้วกว่า 594 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯตั้งเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 โดยในไตรมาสแรก บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งสิ้น 122 ล้านบาท เติบโต 1,668% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ล่าสุด บริษัทฯ อยู่ระหว่างการขออนุญาตเปิดใช้งานระบบซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (P2P Energy Trading Platform) ภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ควบคู่กับการเตรียมติดตั้งเพื่อทดสอบระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) บนโรงกรองน้ำของบริษัทฯ ซึ่งจากแผนการต่อยอดทางธุรกิจดังกล่าว นอกจากเป็นการตอกย้ำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมงานแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบริษัทฯ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำเสนอให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าประเภท conventional ว่า ช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนเป็นระยะเวลา 37 วันของโรงไฟฟ้า Gheco-One ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้โรงไฟฟ้าได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายจาก EGAT ลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้า Gheco-One ในไตรมาสที่ผ่านมานี้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จและกลับมาดำเนินการตามปกติ โรงไฟฟ้าจะได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งกำไรจาก โรงไฟฟ้า Gheco-One ในช่วงที่เหลือของปีฟื้นตัวดีขึ้น
ในขณะที่โรงไฟฟ้าอื่นๆ อาทิ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่ง และโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP และโรงไฟฟ้า CCE ในไตรมาสนี้เติบโต 35% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่น ทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) ต่างๆ ในการเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค”