ธนาคารกรุงไทย เติบโตตามยุทธศาสตร์ ไตรมาส 2 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ จำนวน 11,195 ล้านบาท มุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น บริหารพอร์ตสินเชื่อได้อย่างสมดุล รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางแก้หนี้ ส่งเสริมการมีสุขภาพทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวท่ามกลางความท้าทายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ทั้งนี้การฟื้นตัวยังต่ำกว่าศักยภาพ และเป็นการฟื้นตัวแบบ K-shaped Recovery โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงมาตรการเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคในระยะข้างหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกฟื้นตัวได้จำกัดจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และสภาวะภูมิอากาศแปรปรวน นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงในขณะที่มีค่าครองชีพสูงขึ้น ธุรกิจ SME รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่อยู่นอกระบบยังเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงฟื้นตัวได้ช้า รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
ธนาคารกรุงไทย จึงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ มุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังและยืดหยุ่น รักษา Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พร้อมดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่มุ่งสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูงให้สามารถปรับตัวและฟื้นตัว ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการช่วยเหลือให้ครอบคลุมและตรงจุด เช่นมาตรการรวมหนี้และแก้หนี้อย่างยั่งยืนตามลักษณะและประเภทของกลุ่มลูกค้าเปราะบาง โดยยึดมั่นในแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) สนับสนุนให้ธนาคารเติบได้โตตามเป้าหมาย ทั้งในด้านคุณภาพสินทรัพย์ และการบริหาร Portfolio เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ
ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 เทียบกับไตรมาส 1/2567 ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวัง ติดตามคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 181 ตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และบริหารจัดการ Portfolio เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 11,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.1 โดยรายได้รวมจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.1 สินเชื่ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2566 แม้ปรับลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการชำระคืนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อภาครัฐ ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นๆลดลงร้อยละ 7.3 จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.7 สินเชื่อด้อยคุณภาพปรับลงอยู่ที่ระดับ 98,701 ล้านบาท และ NPLs Ratio ที่ร้อยละ 3.12
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารมุ่งเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวังต่อเนื่อง รักษา Coverage ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ พร้อมตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 22,274 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 โดยมีรายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 12.9 ทั้งจากการบริหารจัดการ Portfolio เพื่อรักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มุ่งเน้นคุณภาพ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.6 โดยค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างระมัดระวังโดยธนาคารตั้งค่าเผื่อด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายตามศักยภาพของทรัพย์สินอย่างเหมาะสม อีกทั้ง ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมลูกค้าในทุกภาคส่วนและเพื่อพร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต
ณ 30 มิถุนายน 2567 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 17.57 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 20.75 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่องสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด
ธนาคารมุ่งช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมสนับสนุนแนวนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและผู้ประกอบการ SME รายย่อย ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 3 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายความร่วมมือโครงการ “สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้สูง มุ่งลดภาระทางการเงิน เพิ่มความสามารถในการดำรงชีพอย่างเหมาะสม รวมถึงให้ความรู้ สร้างวินัยการเงิน กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีอย่างยั่งยืน ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ธนาคารกรุงไทย มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมและปฏิรูปองค์กรอย่างต่อเนื่อง ให้ก้าวนำการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อน “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัย บนดิจิทัลแพลตฟอร์มและให้บริการทางการเงินผ่านทุกช่องทาง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างสะดวก ทั่วถึง และเท่าเทียม พร้อมตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Transition Finance (ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม) เงินฝากสีเขียวภายใต้มาตรฐานสากล และผลิตภัณฑ์บริหารจัดการทางการเงินเชื่อมโยงกับเป้าหมายด้าน ESG เป็นต้น ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารที่ BBB+ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AAA(tha) โดยมีมุมมองเชิงบวกด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง