แบงก์แจ้งสำรองเงินสดช่วงสงกรานต์ รองรับลูกค้า ประชาชน


ธนาคารกรุงไทย สำรองเงินสด 25,990 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย เตรียมสำรองเงินสด เพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าและประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ระหว่างวันที่ 12 – 16 เมษายน 2567 ทั้งการใช้บริการที่สาขา และเครื่อง ATMจำนวน 25,990 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองใน เขตกรุงเทพฯ จำนวน 4,160 ล้านบาท และเขตภูมิภาค จำนวน 21,830 ล้านบาท โดยสำรองสำหรับสาขาและจุดบริการทั่วประเทศ จำนวน 2,800 ล้านบาท และสำรองสำหรับเครื่อง ATM  จำนวน 23,190 ล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าและประชาชนสามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ สาขาที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า จะปิดทำการในวันที่ 14 เมษายน 2567

กรุงศรีสำรองเงินสด 9,628 ล้านบาท

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เตรียมสำรองเงินสดเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินของลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม และสาขาของธนาคาร
ทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 รวม 9,628 ล้านบาท ทั้งนี้ แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 6,131 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองสำหรับเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 2,161 ล้านบาท และเครื่องเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 3,970 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 3,497 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,582 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 1,915 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 543 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 5,565 เครื่องทั่วประเทศ (ข้อมูลจำนวนเครื่อง/สาขา ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567)

กสิกรไทยสำรองเงินสด 30,750  ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทยเตรียมสำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ 12-16 เมษายน 2567 รวมทั้งสิ้น 30,750 ล้านบาท ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 7,950 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,375 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 4,575 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี  813  สาขาทั่วประเทศ

สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) ที่มีอยู่จำนวนกว่า 9,100 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 22,800 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 8,300 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 14,500 ล้านบาท