ArtStory Event and “Alex & The Gang” Show Case ครั้งแรก พื้นที่แห่งโอกาสของเด็กพิเศษ ต่อยอดงานศิลป์สู่การสร้างอาชีพ

การจัดงาน ArtStory Event and “Alex & The Gang” Show Case ที่ชั้น 4 สยามพารากอน เมื่อเร็วๆ นี้ถือเป็นการจุดประกายความคิด และมุมมองใหม่ๆ ของสังคมไทยที่มีกับเด็กพิเศษ (ออทิสติก) โดยเฉพาะกับผลงานโชว์เคสของ “Alex & The Gang” “น้องอเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์” ศิลปินเด็กพิเศษที่ค้นพบตัวเองจากโลกจินตนาการสู่การเป็นนักเขียนผ่านตัวอักษรบนโลกออนไลน์ และงานดิจิทัลอาร์ท ต่อยอดเชื่อมโลกแห่งความเป็นจริงกับการออกแบบลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนเพื่อนๆ เด็กพิเศษที่มีความสามารถหลากหลายอีก 7 คน มาร่วมจัดแสดงผลงานที่แปลงร่างจากลายเส้นและงานศิลปะสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง สร้างความยั่งยืนให้เด็กพิเศษสามารถมีรายได้ มีอาชีพผ่านการทำงานศิลปะ สะท้อนให้สังคมเห็นคุณค่าของเด็กพิเศษ เปิดพื้นที่แห่งโอกาสอย่างเท่าเทียม เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

งาน ArtStory Event and “Alex & The Gang” Show Case ที่เปิดพื้นที่แห่งโอกาสสนับสนุนเด็กพิเศษเป็นครั้งแรกนี้เกิดขึ้นมาได้จากการสนับสนุนของผู้ใหญ่ใจดีหลายหน่วยงาน เพื่อการเชื่อมโยงจุดต่างๆ ให้ขึ้นเป็นเค้าโครงของภาพที่แจ่มชัด หรือ Connect The Dots อันได้แก่ ธนาคารออมสิน,  โรงพยาบาล BMHH (Bangkok Mental Health Hospital), อินโดบิก, แรบบิท แคช และดั๊กแฮมส์ เอนเนอยี่, สยามพารากอน ผู้สนับสนุนพื้นที่จัดกิจกรรมฟรี รวมถึง SCBX Next Tech ที่อนุเคราะห์ให้พื้นที่แห่งโอกาส อีกทั้งบรรดานายแบบ นางแบบกิตติมศักดิ์หลากหลายวงการทั้งผู้บริหารองค์กรธุรกิจและสื่อมวลชนที่ออกมา “ช่วยด้วยใจ” อย่างแท้จริง เพื่อสนับสนุนและตอกย้ำแนวคิดที่ว่า ผลงานศิลป์ของน้องๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด

ต่อยอดศิลปะสู่ความยั่งยืน

ความตั้งใจของ ArtStory By Autistic Thai ที่มุ่งเป้าสู่ความยั่งยืนนั้นเป็นปณิธานที่ คุณพี-วรัท จันทยานนท์ ซีอีโอ ArtStory เปิดใจว่า “โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากคลาสศิลปะบำบัดของมูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งใช้ศิลปะเข้ามาพัฒนาศักยภาพและสร้างอาชีพให้กับเด็กออทิสติก เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็นในสังคม สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ตามความตั้งใจของมูลนิธิฯ ที่จะเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับบุคคลออทิสติก และเห็นว่า ผลงานศิลปะของเด็กๆ สามารถนำมาต่อยอดเป็นลวดลายบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น แก้วน้ำ เสื้อผ้า หรือกระเป๋า ทำให้เด็กๆ มีรายได้จากฝีมือของตัวเอง สำหรับกิจกรรม ArtStory Event and “Alex & The Gang” Show Case ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเปิดพื้นที่แห่งโอกาสให้สังคมได้รับรู้ถึงความสามารถของเด็กพิเศษที่ไม่แพ้กับศิลปินมืออาชีพ อีกทั้งยังเป็นการทำให้ทุกคนมีคุณค่าในสังคมได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย”

สำหรับบทบาท “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank ของธนาคารออมสินนั้น คุณวชิรา การสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า “ธนาคารออมสินตั้งเป้าหมายภารกิจหลักในการดำเนินนโยบายไปสู่การเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งหนึ่งในแกนหลักของการดำเนินงาน ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มเปราะบาง โดยความร่วมมือกับมูลนิธิออทิสติกไทยมาตั้งแต่ปี 2566 และนำผลงานศิลปะของศิลปินเด็กออทิสติกของมูลนิธิฯ มาใช้ประกอบเป็นลวดลายบนกระปุกออมสินที่ใช้แจกในแคมเปญวันเด็ก โดยเป็นการจ้างงานผ่านบริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (ArtStory By Autistic Thai) เพื่อให้เด็กพิเศษได้แสดงออกถึงศักยภาพและความชำนาญในการใช้ศิลปะบำบัด อีกทั้งยังสามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้ช่วยเหลือตนเองและครอบครัว ซึ่งนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับจุดยืนของธนาคารออมสินที่มุ่งสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

คุณณัฐ อธิวิทวัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด บริษัทในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ว่า “เนื่องจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่ในแสดงศักยภาพของคนทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งรวมถึงบุคคลออทิสติกด้วย เราอยากมีส่วนร่วมสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพผ่านงานศิลปะของน้อง ๆ ศิลปิน  Artstory By Autistic Thai ทั้ง 8 คน  รวมถึงน้องอเล็ก ได้แสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงฝีมือการออกแบบลวดลายกราฟิกน่ารักๆ บนสินค้า และผลิตภัณฑ์ของพวกเขา อย่างน้อยทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และแสดงให้ทุกคนได้เห็นในฝีมือไม้ลายมือที่เป็นมืออาชีพ และเป็นได้รับการยอมรับ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อินโนบิก มุ่งดำเนินธุรกิจ Life Science เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย อีกทั้งมุ่งสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยมีความยั่งยืน และเป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”

น้องอเล็ก  ชนกรณ์  พุกะทรัพย์

ทำความเข้าใจกับออทิสติก

ความในใจตอนหนึ่งของ คุณ โสภี ฉวีวรรณ  คุณแม่ “น้องอเล็ก  ชนกรณ์  พุกะทรัพย์”  ศิลปินเด็กพิเศษที่มาร่วมแสดงงานในครั้งนี้ที่ว่า เธอสังเกตเห็นความผิดปกติของลูกเมื่อตอนอายุ 5-6 ขวบจึงได้พาไปพบแพทย์ และเมื่อได้รับรู้ว่า น้องอเล็กเป็นออสทิสติก อีกทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบอก จะทำบัตรคนพิการให้ นั่นยิ่งทำให้เธอเสียใจ แต่ที่สุดเมื่อเธอตัดสินใจว่า เธอจะสู้ และนี่คือจุดพลิกผันที่มีส่วนช่วยให้ “น้องอเล็ก” มาถึงจุดๆ นี้ได้อย่างสง่างาม พร้อมกับข้อเตือนใจของคุณแม่โสภีที่มีต่อบรรดาคุณพ่อคุณแม่ที่มีปัญหาทำนองเดียวกันว่า “ต้องไม่อาย และอย่าคิดว่านี่คือเรื่องกรรมเวร”  

ขณะที่ น้องอเล็ก – ชนกรณ์  พุกะทรัพย์  ศิลปินเด็กพิเศษ เปิดใจว่า  “ตอนนี้ผมมีความสุขกับการวาดภาพ และออกแบบงานต่างๆ ผมได้ค้นพบสิ่งที่ชอบและมีโอกาสลงมือทำ แม้ผมจะเป็นออทิสติก แอลดี แต่ผมทำมันได้ ฝากถึงเพื่อนที่เป็นเหมือนกับผมว่าการจะมีความสุขได้ต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง ค้นให้พบว่าความสุขของเราคืออะไร และลงมือทำ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอายเลยครับ You can do it I can do it. #อย่ายอมแพ้”

แล้วโรคออทิสติกคืออะไร ควรต้องดูแลกันอย่างไร นี่ย่อมจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ศ.นพ.รณชัย คงสกนต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล Bangkok Mental Health Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต หรือ BMHH ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorder: ASD) ว่า

“โรคนี้เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้านคือ ด้านการเข้าสังคม การพูดหรือด้านภาษา และพฤติกรรมมีการสนใจซ้ำ ทั้งนี้ จากตัวเลขกรมสุขภาพจิตกบว่า ประเทศไทยพบอัตราป่วยโรคออทิสติกได้ 6 คน/ประชากรทุก ๆ 1,000 คน คาดว่าทั่วประเทศจะมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้มากกว่า  3 แสนคน  

บทบาทของสังคมที่สำคัญที่สุดกับเด็กพิเศษเหล่านี้คือ ผู้ปกครอง คุณครูหรือผู้ดูแลต้องเปิดรับ เปิดใจ และยอมรับในตัวเขา ลองสังเกตสิ่งที่เขาชอบทำ สิ่งที่เขาถนัดจริง ๆ แล้วค่อยมองหาวิธีพัฒนาทักษะของเขาเพื่อต่อยอดมันต่อ  เช่น เรื่องความชอบด้านศิลปะ จุดเด่นของศิลปะแต่ละด้านจะช่วยเสริมพัฒนาการของกลุ่มเด็กพิเศษแตกต่างกันไป  และช่วยทำให้สมองเรียนรู้การเชื่อมโยงเรื่องราว  พร้อมส่งเสริมสมาธิให้ดีขึ้น ดังเช่น  BMHH  ได้เข้าสนับสนุนกิจกรรม “Alex & The Gang” Show Case โดย ArtStory By Autistic Thai ซึ่งได้แสดงผลงานศิลปะสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง สร้างความยั่งยืนให้เด็กพิเศษสามารถมีรายได้ มีอาชีพผ่านการทำงานศิลปะ สะท้อนให้สังคมเห็นคุณค่าของเด็กพิเศษ  ที่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเด็กเอง

วิธีการรักษาโรคออทิสติกให้มีประสิทธิภาพ คือ การรักษาแบบองค์รวมผสมผสานร่วมกันกับการบำบัดตามอาการเด่น และยังพิจารณาถึงประเภทของออทิสติกและระดับความรุนแรงในการต้องการความช่วยเหลือสนับสนุน โดยแพทย์จะให้แนวทางการบำบัดโรคออทิสติกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนกับผู้ปกครอง โดยเน้นการกระตุ้นพัฒนาการ การเพิ่มพฤติกรรมที่เหมาะสมและการปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ร่วมกันกับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการ การเรียนรู้และการสื่อสาร รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในสังคม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้และลดการพึ่งพา”

ขณะที่ นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ หรือ “หมอตัง” จิตแพทย์  โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต  (BMHH) ได้กล่าวถึง

แนวทางการเลี้ยงลูกวัยรุ่นในยุคนี้ที่มิใช่เฉพาะเด็กพิเศษว่า “พ่อแม่ควรจะต้องใช้หลักของ LOVE นั่นคือ L Llisten การเปิดใจรับฟัง และทำให้ลูกรู้สึกว่า ตนเองสามารถเข้าถึงพ่อแม่ได้, O Observe การสังเกตว่าเด็กทำอะไร เกินขอบเขตหรือไม่, V Validate การยืนยันความรู้สึก ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องตั้งใจรับฟังทั้งคำพูด และการแสดงออกทางภาษากาย อย่าด่วนตัดสินลูกไปก่อน และ E Encourage  การให้กำลังใจ

กล่าวโดยรวม คือ พ่อแม่ต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับลูก ทำให้ลูกรู้สึกว่าสามารถเข้าหา พูดคุยกับพ่อแม่ได้ โดยที่พ่อแม่ไม่ด่วนตัดสินไปก่อน เช่น เมื่อลูกเล่าปัญหาให้ฟังแล้วพ่อแม่ย้อนถามว่า ลูกคิดมากไปเองหรือเปล่า ฯลฯ นอกจากนี้  พ่อแม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ทั้งขอบเขตของตัวเอง และลูกว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โดยที่ตัวเองก็ต้องเคารพ และทำตามขอบเขตนั้นด้วย และเมื่อเวลาลูกออกไปเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย เขาควรจะสามารถรับรู้ได้ว่า “บ้าน” เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้สามารถกลับมาหาได้เสมอ เป็นพื้นที่ที่สามารถพูดคุย ระบายถึงความไม่สบายใจ ความยากลำบากต่าง ๆ ได้ การตระหนักได้ถึงสิ่งนี้ จะเป็นเหมือนเสื้อเกราะให้ลูกรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น  

นอกจากนี้ นพ.ณชารินทร์ ยังกล่าวถึงการใช้ศิลปะเพื่อสร้างความสุข  พัฒนาอารมณ์ และจิตใจว่า “การทำงานศิลปะนั้นเป็นเสมือนการระบายอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งบางครั้งอาจจะยากที่จะกล่าวออกมาเป็นคำพูด ที่สำคัญ ระหว่างการทำงานศิลปะ เราก็จะได้อยู่กับตัวเอง มีการคิด ไตร่ตรอง ถึงอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะทางตรง หรือ ทางอ้อม ดังนั้น นอกจากศิลปะจะเป็นช่องทางการระบายอารมณ์แล้ว ก็ยังสามารถเป็นการฝึกฝนสมาธิ การตระหนักรู้เท่าทันตัวเองได้อีกด้วย