สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO (เบโด้) เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้แนวคิด BEDO – BCG ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วย “การท่องเที่ยวชีวภาพ” ตั้งเป้าสร้างงาน – สร้างรายได้จากการใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพ การแลกเปลี่ยนในเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยว พร้อมเปิดตัว“ตลาดปันรักษ์” แห่งที่ 4 อย่างเป็นทางการที่ชุมชนเกาะกลาง บ้านคลองกำ คลองประสงค์ จ.กระบี่ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด การสร้างรายได้และส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ

ภารกิจ “เบโด้”

คุณสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ เบโด้ (BEDO) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงภารกิจขององค์กรว่า

คุณสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ BEDO กำลังคลี่ผ้าที่ใช้ย้อมสีจากใบไม้ ดอกไม้ ด้วยการอบนึ่ง เป็นเทคนิคที่เรียกว่า “อีโค่ บาติก” (ในภาพ ชาวชุมชน เข้ามาช่วยที่อบนึ่งออกมาเพื่อดูลวดลาย)

“เบโด้ มีภารกิจสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนนำทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนาให้เกิด “คุณค่าและประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ” ควบคู่ไปกับ “การอนุรักษ์” เพื่อให้ทรัพยากรชีวภาพคงอยู่ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในรุ่นลูกหลานต่อไป โดยการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้ชุมชนที่เชื่อมโยงกับความคงอยู่ของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนชุมชนสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BEDO-BCG อันเป็นกิจกรรมที่ “เครือข่ายชุมชน เบโด้”ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ (B) เศรษฐกิจหมุนเวียน (C) และเศรษฐกิจ สีเขียว (G) เนื่องจากทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ “เบโด้” ได้เข้าสำรวจและส่งเสริมด้านการพัฒนาสินค้าจากความหลากหลายของทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสร้างความยั่งยืนให้ผู้คนในชุมชน”

คุณสุวรรณากล่าวต่อไปว่า “เบโด้” มี 2 แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชน คือ

  1. หากเป็นชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้มาตรฐาน เก็บไว้ได้นาน สามารถนำไปจำหน่ายยังที่ไกลๆ ได้ก็จะใช้ช่องทางการทำตลาดทางตรง เช่น การรับฝากขายที่ร้านฟ้าใสแกลลอรี่ที่ศูนย์ราชการที่กรุงเทพฯ การให้ชุมชนออกบูธจำหน่ายสินค้า การจับคู่ธุรกิจกับช่องทางการตลาดหลัก เช่น ตลาดมินิ อตก. ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท ขณะเดียวกัน ก็อบรมให้ชุมชนทำตลาดแบบออนไลน์ ฯลฯ
  2. สำหรับชุมชนที่ไม่สามารถนำออกไปจำหน่ายนอกชุมชนได้ “เบโด้” ก็จะสร้างการรับรู้ให้คนภายนอกเข้ามาสัมผัสเยี่ยมชม เพื่อทำให้เศรษฐกิจชุมชนเกิดการหมุนเวียน ซึ่ง “เบโด้” เรียกการตลาดแบบนี้ว่า “ท่องเที่ยวชีวภาพ” ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และด้วยบริบทของพื้นที่ เบโด้ จึงได้นำเครื่องมือการตลาดในนามของ “ตลาดปันรักษ์” มาต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และคาดหวังว่าความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชนจะเข้มแข็ง เมื่อสิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตคนก็ดีส่งผลให้เกิดสังคมที่เกื้อกูลสัมพันธ์กัน ดังคำที่ว่า “เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี  สังคมก็ดี”
วิถีชาวบ้านที่มีรายได้เพิ่มจากการขายของที่ ตลาดปันรักษ์

ตลาดปันรักษ์ – วิสาหกิจชุมชน

สำหรับการเปิดตัว ตลาดปันรักษ์ สักหอย ปล่อยปู ดูนกแล เขเรือ แลหวันตก มาตะคลองประสงค์ ครั้งที่ 2” ที่บ้านคลองกำ คลองประสงค์ จ.กระบี่ และนับเป็น “ตลาดปันรักษ์” แห่งที่ 4 ที่ “เบโด้” ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และได้เปิดพื้นที่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ให้คนในชุมชนได้นำสินค้า วัตถุดิบเพื่อการทำอาหาร และอาหารพื้นถิ่นเข้ามาจำหน่ายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัสวิถีชุมชนบ้านเกาะกลาง คลองประสงค์ จังหวัดกระบี่

ขณะที่ คุณศุภสิทธ์ จำปาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจชีวภาพ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากทรัพยากรชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ เบโด้ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงตลาดปันรักษ์แห่งนี้ว่า “เนื่องจากชุมชนตำบลคลองประสงค์ มีลักษณะเป็นเกาะใกล้เมือง การทำตลาดชุมชนในกิจกรรมท่องเที่ยวชีวภาพที่นำผลผลิต ผลิตภัณฑ์ อาหารพื้นบ้านมาจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ และจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี  “เบโด้” จึงได้ส่งเสริมให้เกิดตลาดชุมชน ตามแนวคิด “ตลาดปันรักษ์” ให้สมาชิกในชุมชนมีสถานที่ค้าขาย สร้างการเรียนรู้/สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้กระจาย ต่อเนื่อง และยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ชุมชน “ลด ละ เลิก” การใช้โฟม พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เพื่อช่วยลดขยะที่สร้างภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ตลาดปันรักษ์นี้เป็นแห่งที่ 4 และเป็นแห่งที่ 2 ของปีนี้ โดย “เบโด้” ได้รับงบสนับสนุนเพื่อทำโครงสร้างตลาด สื่อประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรม”

ตลาดปันรักษ์ บ้านคลองกำ เกาะกลาง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับชาวชุมชน
ทั้งพ่อค้าแม่ค้า สมาชิกชุมชน และรถสามล้อรับจ้าง
น้ำผึ้งชันโรง จากวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงชันโรง

นอกจากนี้ คุณสุวรรณายังกล่าวถึงการท่องเที่ยวชีวภาพอื่นๆ ว่า “นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมเยือนชุมชนตำบลคลองประสงค์ และตลาดปันรักษ์ บ้านคลองกำ ยังจะสามารถเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ซึ่งเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจด้วย อาทิ  กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อม ซึ่งมัดย้อมด้วยสีธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน เช่น เปลือกไม้แสม เปลือกไม้โกงกาง ใบหูกวาง ใบสาบเสือ ฯลฯ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะบ้านคลองประสงค์ และศูนย์เลี้ยงชันโรงบ้านคลองประสงค์ ฯลฯ”

กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ คุณป้า คณิต สุขแดง ผู้ริเริ่มทำผ้ามัดย้อมในชุมชนด้วยการใช้สีจากเปลือกไม้แสม เปลือกไม้โกงกาง ใบหูกวาง ใบสาบเสือ ฯลฯ กลุ่มลูกค้าที่แวะมาเยี่ยมมีทัวร์จากฝรั่งเศสด้วย

ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพ

ขณะเดียวกัน “เบโด้” ยังได้ดําเนินงานด้าน “ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน” (Community BioBank) เพื่อเก็บรวบรวมและจดบันทึกการเติบโตของต้นกาแฟโรบัสต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม ด้วยสัดส่วนประมาณ 20% รอง จากสายพันธุ์อราบิก้า โดยพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้ต้องเป็นพื้นที่ที่มีอากาศชุ่มชื้น เช่น ชุมพร ระนอง กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

คุณพิศิษฏ์ เป็ดทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านดินแดง พาเยี่ยมชมไร่กาแฟที่ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ ในสวน อันเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ และชะมดที่เลี้ยงไว้ประมาณ 40 ตัว

สําหรับจ.กระบี่มีพื้นที่ปลูกอยู่ 3 อําเภอ คือ ลําทับ, คลองท่อม และปลายพระยา เฉพาะในชุมชนลําทับมีไร่กาแฟประมาณ 100 ไร่ ไร่ละ 200 ต้น โดยที่การปลูกกาแฟส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสวนผสม โดยมีต้นกาแฟเป็นหลักและปลูกผลไม้แซม อาทิ กล้วย ลองกอง มังคุด ทุเรียน ส่วนหนึ่งเพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือน และสามารถนำผลผลิตส่วนเกินนั้นมาขายสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากราคาของกาแฟขี้ชะมดสูงถึง 2 หมื่นบาท/กก. ราคาขายต่อช็อตอยู่ที่ 300 บาท ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดีให้แก่คนในชุมชน ทั้งนี้ BEDO ให้การส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชนที่มีความสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่กับการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน

กาแฟขี้ชะมด แปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งกาแฟสำเร็จรูปและสกินแคร์ด้วย

กาแฟขี้ชะมด Chamone

นอกจากนี้ “เบโด้” ยังนำเสนอ “กาแฟขี้ชะมด” ว่าเป็นพืชที่สร้างเศรษฐกิจชีวภาพให้คนในพื้นที่อีกด้วย โดยมี คุณพิศิษฏ์ เป็ดทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านดินแดง ต.ดินแดง อ.ลําทับ จ.กระบี่ และเป็นผู้บุกเบิกการผลิตกาแฟขี้ชะมดแบรนด์ Chamone จนเป็นที่รู้จัก ทำหน้าที่เป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงเมล็ดกาแฟ จนถึงการเก็บผลผลิตให้กับผู้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้แห่งนี้

คุณพิศิษฏ์ กล่าวว่า “ในรอบปีกาแฟจะออกดอก เริ่มติดลูกเมล็ดกาแฟในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม คอกาแฟต้องลองสัมผัสกับ “กาแฟขี้ชะมด” เป็นกาแฟขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย มีความหอมละมุน นุ่มลิ้น คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของกาแฟขี้ชะมดที่คนรักกาแฟไม่ควรพลาด อย่างไรก็ตาม จากการที่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เพิ่งปลูกกาแฟเป็นปีที่ 3 ดังนั้น ปีหน้าผลผลิตของกาแฟจะให้ผลลัพธ์อย่างเต็มที่ในปีที่ 4 เป็นต้นไป”