เป็นผู้หญิงอย่าหยุดสวย ตลาดเครื่องสำอางยัง “ดีด” ได้อีกไกล

Key Highlights

  • ตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะฟื้นตัวได้เร็วตามค่านิยมของผู้บริโภคที่ต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีขึ้น โดยได้รับอานิสงส์สำคัญจากการเปิดประเทศของหลายประเทศทั่วโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุเลาลง โดยคาดว่า ในปี 2573 ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะมีมูลค่าขึ้นไปแตะระดับ 3.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 12.38 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2%
  • ตลาดเครื่องสำอางของไทยจะมีมูลค่ากว่า 3.23 แสนล้านบาทในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.5 เท่า โดยได้รับแรงหนุนสำคัญทั้งจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยกลับมาตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย ขณะที่ตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณ 25% ของมูลค่าตลาดรวม และยังสามารถขยายตลาดส่งออกให้กว้างขึ้น เนื่องจากยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมากเพียง 1.5% ของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งโลก
  • เครื่องสำอางในกลุ่ม Clean Beauty เป็นกลุ่มเครื่องสำอางที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่จะสามารถตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกที่ผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

สุจิตรา อันโน Krungthai COMPASS


คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เครื่องสำอาง” [1]เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจและเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้กับตนเอง  ดังที่หลายคนชอบพูดกันว่า “เครื่องสำอางเปลี่ยนชีวิต” หรือ The Power of Makeup อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกใช้หลากหลายประเภท หลายคุณสมบัติ หลายระดับราคา และแม้วิกฤติโควิด-19 จะทำให้พฤติกรรมการใช้เครื่องสำอางของผู้คนเปลี่ยนไป แต่หลังสถานการณ์ดีขึ้น คาดว่าเครื่องสำอางยังเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญทั้งภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำหลายสำนักที่ระบุว่า “Lipstick Index [2]หรือ ดัชนีลิปสติก” ได้กลับมาแล้วตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ซึ่ง Lipstick Index เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะถดถอย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะลดลงไป แต่ยอดขายเครื่องสำอางต่างๆ กลับเพิ่มสูงขึ้น โดย NPD Group ระบุว่า ในปี 2565 ยอดขายปลีกสินค้าด้านความงามในสหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มขึ้น 11%YoY

จากที่กล่าวมาข้างต้น เราจะพาไปทุกท่านไปดูกันว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และหลายประเทศทั่วโลกเปิดประเทศเต็มรูปแบบ อนาคตตลาดเครื่องสำอางจะเป็นไปในทิศทางใด? มีโอกาสเติบโตอยู่หรือไม่? มากน้อยแค่ไหน? และเครื่องสำอางกลุ่มไหน? ที่จะมาแรงในอนาคต

ส่องอนาคต ”ตลาดเครื่องสำอาง” หลังโควิด-19 คลี่คลาย

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำ พบว่า มูลค่าตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกหดตัวลงอย่างชัดเจนเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยในปี 2563 มูลค่าตลาดเครื่องสำอางหดตัวอยู่ที่ประมาณ 10-20%YoY[3] แม้ตัวเลขการหดตัวอาจดูไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่ด้วยมูลค่าตลาดที่สูงกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐนั่นหมายถึงผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องสำอางสูญเสียรายได้ไปหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐจากวิกฤติโควิด-19 อย่างไรก็ดี คาดว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ตลาดเครื่องสำอางจะฟื้นตัวได้เร็วตามค่านิยมของผู้บริโภคที่ต้องการเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีขึ้น และความงามเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างบุคลิกภาพ และความมั่นใจกับตัวเอง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องสำอางได้มีส่วนเสริมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายและเร็วขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค อีกทั้งยังมีความหลากหลายทั้งเรื่องชนิด คุณสมบัติ คุณภาพ และราคา ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้มูลค่าตลาดเครื่องสำอางมีโอกาสกลับมามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ ภาพรวมมูลค่าตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกมีโอกาสฟื้นตัวชัดเจน โดยได้รับอานิสงส์สำคัญจากการเปิดประเทศของหลายประเทศทั่วโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุเลาลง จนส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการดำเนินชีวิตของผู้คน และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจ “The Professional Skin Care Consumer: Attitudes and Behaviors Survey ของ Kline & Company ที่ระบุว่า ในปี 2566 ผู้บริโภค 96% ยังคงมีแผนใช้จ่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิว โดยผู้บริโภค 54% มีแผนที่จะใช้จ่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมากขึ้น

นอกจากนี้ ในปี 2564 HKTDC Research ได้เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวไทยที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในอีก 3 ปีข้างหน้าพบว่า

  • 81% มีแผนใช้จ่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอาง และยังต้องการผลิตภัณฑ์ความงามแบบใหม่ตลอดเวลา  
  •  41% วางแผนที่จะใช้จ่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางมากขึ้น

ขณะที่ข้อมูลจาก The 1 Insight ในเครือเซ็นทรัล ระบุว่า ภายใต้ปรากฏการณ์ Revenge Spending หรือ ช้อปล้างแค้น ในยุคหลังโควิด-19 สินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางติดอันดับ 3 ใน 4 ของหมวดสินค้าเด่นที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่อความพึงพอใจมากขึ้น รองจากสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค และร้านอาหาร ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ลดความอัดอั้นและโหยหาการชอปปิงในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ของผู้บริโภค แต่ถือเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดเครื่องสำอาง และช่วยตอกย้ำว่าเมื่อวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป ตลาดเครื่องสำอางจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง


ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในอีก 6-7 ปีข้างหน้า ตลาดเครื่องสำอางจะกลับมาสดใสอีกครั้ง และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานด้านการตลาดของ Grand View Research ที่คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกจะขึ้นไปแตะระดับ 3.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12.38 ล้านล้านบาท ในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 4.2% (CAGR ปี 2565-2573) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.4 เท่า ขณะเดียวกันตลาดเครื่องสำอางของไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตสอดคล้องกับเทรนด์โลก โดยคาดว่า ในปี 2573 ตลาดเครื่องสำอางในประเทศของไทยจะมีมูลค่ากว่า 3.23 แสนล้านบาท [4]เติบโตเฉลี่ย 5.0% ต่อปี (CAGR ปี 2565-2573) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 1.5 เท่า


และเมื่อพิจารณาโครงสร้างตลาดเครื่องสำอางในประเทศของไทย[5] พบว่า เป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ 85% และนำเข้า 15% โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทั้งนี้ เครื่องสำอางที่ผลิตส่วนใหญ่ (72% ของมูลค่าการผลิต) จำหน่ายในประเทศ และส่งออก 28% ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และจีน โดยผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (สกินแคร์) มีมูลค่าตลาดมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 41% ของมูลค่าตลาดเครื่องสำอางในประเทศ รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม (แฮร์แคร์) และเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า (เมคอัพ) คิดเป็นสัดส่วน 16% และ 12% ของมูลค่าตลาดเครื่องสำอางในประเทศ ตามลำดับ

ตลาดส่งออกส่งสัญญาณฟื้นชัด หลังเปิดประเทศทั่วโลก

ตลาดเครื่องสำอางโลกเป็นตลาดที่ใหญ่ และมีมูลค่าสูง โดยในแต่ละปีทั่วโลกมีการนำเข้าเครื่องสำอางรวม 1.2-1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ[6] หรือประมาณ 4-5 ล้านล้านบาท โดยผู้นำเข้าเครื่องสำอางรายใหญ่ของโลก คือ จีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 40% ของมูลค่านำเข้าเครื่องสำอางรวมทั้งโลก โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีมูลค่านำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (สกินแคร์) และเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า (เมคอัพ) ที่มีสัดส่วนรวมกันกว่า 50% ของมูลค่านำเข้าเครื่องสำอางรวมทั้งโลก รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำหอม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม (แฮร์แคร์) ที่มีสัดส่วน 15% และ 11% ของมูลค่านำเข้าเครื่องสำอางรวมทั้งโลก ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องสำอางเป็นอันดับที่ 19 ของโลก6 ครองส่วนแบ่งตลาดเพียง 1.5% ของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งโลก ซึ่งผู้ส่งออกเครื่องสำอางรายสำคัญของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหภาพยุโรป (ผู้ส่งออกรายใหญ่ของสหภาพยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 25%) สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบ 70% ของมูลค่าส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งโลก

มูลค่าส่งออกเครื่องสำอางรวมทั้งโลกได้กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2564 และยังขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่าสินค้าประเภทเครื่องสำอางยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก สอดคล้องกับข้อมูลจาก NPD Group ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวยอดขายของหมวดหมู่สินค้าต่างๆ ตามร้านค้าเฉพาะทางและห้างสรรพสินค้าในสหรัฐอเมริกา พบว่า กลุ่มสินค้าด้านความงาม โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม Prestige Beauty [7]เป็นกลุ่มสินค้าเดียวที่มียอดขายปลีกสูงขึ้นในปี 2565 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยก็ตาม โดยยอดขายสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้าปรับขึ้น 18%YoY ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 12%YoY น้ำหอม 11%YoY และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม 22%YoY และจากที่กล่าวมาข้างต้นนับว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า ตลาดเครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดโลกในระยะข้างหน้า


เครื่องสำอางเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2565 การส่งออกเครื่องสำอางมีมูลค่ากว่า 8.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6%YoY แม้มูลค่าจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ก็นับว่าใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด-19 ถึง 96.3% แล้ว (เทียบกับปี 2562) สะท้อนว่า เครื่องสำอางของไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลง คาดว่า ตลาดเครื่องสำอางยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องตามเทรนด์ของตลาดโลก และไทยยังมี room to grow เนื่องจากยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก และความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออกเครื่องสำอางอยู่ในระดับที่ดี สะท้อนจากค่า RCA[8] เฉลี่ย 3 ปี (ปี 2563-2565) ที่อยู่ในระดับ 1.40 อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับ 18 ประเทศคู่ค้า อันได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี และเปรู และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเครื่องสำอางส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skin Care) เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า (Makeup) และผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม (Hair Care) ที่มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกรวมกันมากกว่า 50% โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2566-2567 ตลาดส่งออกเครื่องสำอางของไทยมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง 12.4%YoY และ 14.8%YoY ตามลำดับ

Clean Beauty กระแสแรงตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก

Clean Beauty อาจจะเป็นเทรนด์เครื่องสำอางที่ยังไม่คุ้นหูเท่า Pure Beauty และ Natural Beauty หรือแม้กระทั่ง Organic Beauty ที่เน้นส่วนผสมของเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติเป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่ Clean Beauty เป็นเครื่องสำอางที่เน้นทั้งส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ เน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของส่วนผสม โดยส่วนผสมต้องปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายทั้งต่อผิวพรรณและสุขภาพด้านอื่นๆ (Non-Toxic Beauty) รวมถึงไม่เป็นอันตรายต่อโลก อีกทั้งส่วนผสมต้องมีประสิทธิภาพและจำเป็นต่อผิวของผู้บริโภคด้วย ซึ่งนอกจากวัตถุดิบและส่วนผสมของเครื่องสำอางต้องสะอาด มีคุณภาพ และปลอดภัยแล้ว ยังต้องผ่านขั้นตอนการผลิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากนี้ ส่วนผสมและส่วนประกอบต่างๆ ต้องมีความโปร่งใส สามารถเห็นชื่อส่วนผสมที่ชัดเจนได้บนฉลากผลิตภัณฑ์ สำหรับตัวอย่างสารเคมีอันตรายที่พบมากในกลุ่มเครื่องสำอาง เช่น สารพาราเบน (หรือสารกันเสีย) ที่เป็นสารอันตรายที่พบเยอะสุดในเครื่องสำอาง โดยเฉพาะในกลุ่มสกินแคร์ โดยจะทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง สารตะกั่วที่พบมากในลิปสติก และสารมิเนอรัล ทัลค์ ที่มักพบในแป้งฝุ่นหรืออายแชโดว์

ในอนาคตอันใกล้นี้เทรนด์ Clean Beauty จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางทั่วโลก เพราะนอกจากจะสามารถตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกได้แล้ว ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ตามกระแส “Skinimalism” ซึ่งเป็นการดูแลผิวที่เน้นเผยสุขภาพผิวที่ดีตามธรรมชาติ โดยใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุด ภายใต้คอนเซปต์ “น้อยแต่มาก (Less is More)” สอดคล้องกับผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อปี 2565 ของ Kantar (บริษัทวิจัยข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาทางการตลาดระดับโลก) ที่ระบุว่า หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ผู้บริโภคจะเน้นเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ช่วยลดขั้นตอนการใช้ลง แต่มีคุณภาพที่สูงขึ้น และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าและผิวกายที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 18% ของยอดขายในปี 2560 เป็น 24% ของยอดขายในปี 2564

ขณะที่ผลสำรวจ Voice of the Consumer: Beauty Survey ในปี 2565 ของ Euromonitor พบว่า 56% ของผู้บริโภคทั่วโลกชื่นชอบสไตล์การแต่งหน้าที่ดูเป็นธรรมชาติเน้นเผยสุขภาพผิวดี และผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น นอกเหนือจากการเลือกซื้อเครื่องสำอางที่ใช้วัตถุดิบหรือส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ แต่จะให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องการไม่มีส่วนผสมที่ได้จากสัตว์ และไม่ทำการทดลองกับสัตว์ รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น


ปัจจุบัน ตลาด Clean Beauty ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 6,000 -7,000 ล้านเหรียญสหรัฐและมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องขึ้นไปแตะระดับ 14,980 ล้านเหรียญสหรัฐ[9] หรือราว5.09 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 12.7% (CAGR ปี 2564-2571) เพิ่มกว่า 2 เท่าตัว ในระยะเวลา 7 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้น และผู้บริโภคบางส่วนยังให้ความสนใจเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นจุดเด่นสำคัญของเครื่องสำอางกลุ่ม Clean Beauty

Beauty Tech ตัวช่วยเสริมทัพตลาดเครื่องสำอาง

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด หรือที่เรียกว่า “Beauty Tech” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ดียิ่งขึ้น สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning เทคโนโลยีเสมือน (AR and VR) และ Big Data รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้เพื่อความงามต่างๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ การทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบสภาพผิว และการให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลผิว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไม่ว่าจะเป็น ลังโคม (Lancôme) ที่ได้เปิดตัว Beauty Tech Flagship Store แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2565 พร้อมกับเปิดตัวเครื่องตรวจสอบสภาพผิวที่ใช้เทคโนโลยี AI และ Big Data เข้ามาช่วยให้สามารถวิเคราะห์สภาพผิวได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และเมื่อต้นปี 2566 ลอรีอัล (L’Oreal) เปิดตัว เทคโนโลยี แฮปตา (HAPTA) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับแต่งหน้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำสูง และลอรีอัล บราว เมจิก (L’Oréal Brow Magic) ที่เป็นอุปกรณ์ตกแต่งคิ้วด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ช่วยให้สามารถออกแบบ และสร้างทรงคิ้วได้ด้วยตัวเองภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

ข้อมูลล่าสุดจาก Tracxn ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการระดมทุนของ Startups ระบุว่า ปัจจุบันบริษัท Startups ด้าน Beauty Tech มีมากกว่า 12,200 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ B2C Commerce, B2B E-Commerce, Beauty Service, Tech Enables, Innovative Beauty Brands, Product Discovery Platforms และ Content Platforms โดยบริษัทกว่า 1,870 บริษัทสามารถระดมทุนรวมได้กว่า 1.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า การเติบโตของตลาดเครื่องสำอางจะเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Beauty Tech สามารถระดมทุนและสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้มากขึ้น สอดคล้องกับการประเมินของ SkyQuest Technology ที่คาดว่ามูลค่าตลาดของ Beauty Tech ทั่วโลก จะขึ้นไปแตะระดับ 2.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2571 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 มากถึง 332%

กลุ่มธุรกิจใด? ที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดเครื่องสำอาง


Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเติบโตของตลาดเครื่องสำอางไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลักหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างธุรกิจผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำอาง รวมไปถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางทั้งในกลุ่มวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบสังเคราะห์ และสมุนไพร เท่านั้น แต่ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม อย่างธุรกิจด้าน Beauty Tech ธุรกิจสื่อ, KOLs/KOCs [10](Influencers, YouTuber, Blogger, TikTokers และ Publishers) และธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ธุรกิจขนส่ง และแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน E-Commerce ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือเอ็มไอ กรุ๊ป ประเมินว่า สินค้าในหมวดความสวยและความงาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ของไทยมากเป็นอันดับสองรองจากสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และจะมีเม็ดเงินโฆษณารวมมากกว่า 9,300 ล้านบาท ในปี 2566

Implication:

  • Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดเครื่องสำอางของไทยจะฟื้นตัวชัดเจน และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ โดยได้รับแรงหนุนสำคัญทั้งจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยกลับมาตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าในปี 2566-2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 27.1 และ 36.6 ล้านคน ตามลำดับ สำหรับการส่งออกได้ส่งสัญญาณฟื้นตัวมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งแม้ว่ามูลค่าส่งออกจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ก็นับว่าใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด-19 ถึง 96.3% แล้ว (เทียบกับปี 2562) สะท้อนว่าเครื่องสำอางของไทยยังเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Clean Beauty เป็นกลุ่มเครื่องสำอางที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่จะสามารถตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกที่ผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ตามกระแส “Skinimalism” ซึ่งเป็นการดูแลผิวที่เน้นเผยสุขภาพผิวดีตามธรรมชาติ โดยใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุด ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถผลิตเครื่องสำอาง Clean Beauty ซึ่งเป็นเครื่องสำอางที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นในอนาคต จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น และสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำอางไว้ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • Beauty Tech จะเข้ามาช่วยยกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และมีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในระยะข้างหน้า ซึ่ง “Beauty Tech” จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำเสนอสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Machine Learning เทคโนโลยีเสมือน (AR and VR) และ Big Data รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้เพื่อความงามต่างๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ การทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบสภาพผิว และการให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลผิว เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า การเติบโตของตลาดเครื่องสำอางจะเป็นตัวเร่งให้บริษัท Startups และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Beauty Tech สามารถระดมทุนและสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้มากขึ้น
  • การเติบโตของตลาดเครื่องสำอางจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจหลักอย่างผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำอาง รวมไปถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ทั้งในกลุ่มวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบสังเคราะห์ และสมุนไพรต่างๆ นอกจากนี้ ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อมยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน อาทิ ธุรกิจด้าน Beauty Tech ธุรกิจสื่อและ KOLs/KOCs (Influencers, YouTuber, Blogger, TikTokers และ Publishers) และธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมไปถึงธุรกิจขนส่ง และแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้าน E-Commerce

[1] เครื่องสำอาง หมายรวมถึง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า เครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม สบู่ และผลิตภัณฑ์น้ำหอม

[2] Lipstick Index ถูกสร้างขึ้นโดยคุณ Leonard Lauder ประธานคณะกรรมการของ Estee Lauder แบรนด์เครื่องสำอางระดับโลกที่อธิบายถึงยอดขายเครื่องสำอางที่เพิ่มสูงขึ้นมาระหว่างเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ขึ้นในช่วงต้นศตวรรษ 2000 (https://www.adpt.news/2022/08/
15/lipstick-index-is-back-the-recession-may-have-already-occurred
)

[3] รวบรวมข้อมูลจากบริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำ ได้แก่ Allied Market Research, Statista, และ Research And Markets และ The Business Research Company วิเคราะห์โดย Krungthai COMPASS

[4] ข้อมูลจาก Euromonitor ประเมินมูลค่าตลาดโดย Krungthai COMPASS

[5] อ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ประเมินโดย Krungthai COMPASS

[6] อ้างอิงข้อมูลมูลค่านำเข้าและส่งออกรวมทั้งโลกของสินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง (HS 3303-3307 และ 3401) จาก International Trade Centre คำนวณโดย Krungthai COMPASS

[7] สินค้าในกลุ่ม Prestige Beauty คือ เครื่องสำอางระดับพรีเมียม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์

[8] RCA คือ ดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบที่ปรากฏ (Revealed Comparative Advantage) แสดงถึงศักยภาพการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลก หากค่า > 1 แสดงว่ามีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ค่า < 1 แสดงว่ามีความเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบ และค่า = 1 ไม่มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบ (ค่ามากกว่า คือ ดีกว่า)

[9] มูลค่าตลาดโลกของ Clean Beauty อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำ ได้แก่ Brand Essence Market Research, Statista และ Research And Markets และวิเคราะห์โดย Krungthai COMPASS (ใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ย)

[10] Key Opinion Leaders (KOLs) และ Key Opinion Consumers (KOCs) มีบทบาทสำคัญมากที่ช่วยให้นักการตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล