ตลาดการเงินทำงานไม่ปกติ อีกความเสี่ยงที่น่าจับตา

มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเงินโลกกำลังแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเผาจริงแค่ไหน นโยบายการเงินสู้เงินเฟ้อสูงที่ยังไม่แน่นอนอาจปรับไปตามสถานการณ์ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มเป็นประเด็นร้อนมากขึ้น สถานการณ์แบบนี้จะทำให้มุมมองนักลงทุนกลับมาปิดรับความเสี่ยงต่าง ๆ ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ยิ่งจะทำให้ความผันผวนและสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกสูงขึ้นบนความไม่แน่นอนหลายเรื่องที่เห็น

ตลาดการเงินโลกอาจขาดสภาพคล่องทำงานไม่เป็นปกติในสถานการณ์แบบไหน 

ภายใต้ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินที่สูงขึ้น ภาวะการเงินตึงตัว และนักลงทุนปิดรับความเสี่ยงเร็ว อาจทำให้ตลาดการเงินทำงานไม่ปกติ (Market dysfunction) ขาดสภาพคล่องได้ในระยะข้างหน้า ยิ่งถ้ามีการ Deleveraging เทขายสินทรัพย์อย่างฉับพลันไม่เป็นระบบระเบียบ โดยเฉพาะกับผู้เล่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องไม่สมดุล (Liquidity mismatch) อยู่ก่อนแล้ว เพราะไม่ถูกกำกับดูแลเข้มงวดในเรื่องนี้มากนัก ซึ่งอาจขยายวงผลกระทบไปยังภาคธนาคารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดสินทรัพย์นั้น ๆ จนทำให้ตลาดการเงินขาดเสถียรภาพได้

องค์กรการเงินระหว่างประเทศและธนาคารกลางในโลกเริ่มมองเห็นความสำคัญของความเสี่ยงนี้ และเห็นว่าต้องเตรียมรับมือกับการเทขายสินทรัพย์สภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นอย่างไร้ระเบียบเอาไว้ โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางหลักกำลังเร่งขึ้นดอกเบี้ยและทยอยลดขนาดงบดุล (Balance sheet normalization) จากการขายสินทรัพย์ทางการเงินที่เคยซื้อไว้จากการใช้มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Program) ก่อนหน้านี้ ทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินในประเทศนั้น ๆ ถูกดึงออก และตลาดสินทรัพย์อ้างอิงนั้น ๆ อาจถูกกระทบจากธนาคารกลางซึ่งเคยมีบทบาทช่วยสร้างสภาพคล่องให้ตลาด (Market maker) จะทยอยขายสินทรัพย์ที่ถือไว้ออกมาเพื่อลดขนาดงบดุล

หากนักลงทุนปิดรับความเสี่ยงฉับพลัน ตลาดการเงินจะมี Fragmentation มากขึ้นจนอาจขาดสภาพคล่องได้

ปกติแล้วตลาดการเงินมีลักษณะแบ่งแยกส่วนกัน (Financial fragmentation) ตามธรรมชาติของประเภทสินทรัพย์ทางการเงิน ลักษณะประเทศ ความซับซ้อนของตัวกลางทางการเงิน หรือประเภทนักลงทุน ซึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายประเทศและกฎเกณฑ์ของอุตสาหกรรมภาคการเงินที่กำหนดไว้ต่างกัน ทำให้ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk premium) ที่สะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศและความเสี่ยงของสินทรัพย์ออกมาไม่เท่ากัน แต่หากเกิดเหตุการณ์มากระทบทำให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยงกะทันหัน ทำให้นักลงทุนกลัวความเสี่ยงไม่เชื่อมั่นที่จะเอาเงินไปลงทุนในตลาดหนึ่ง ๆ ขึ้นมา หากจะตัดสินใจเลือกลงทุนตราสารทางการเงินในตลาดนั้น ๆ ก็ต่อเมื่อได้รับผลตอบแทนที่ Credit risk premium สูงคุ้มความเสี่ยง หรือถ้าจะตัดสินใจให้กู้เงินก็จะเรียกมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงมากพอ

ถ้าเกิดกลไกเสริมแรง (Self-reinforcing downward spiral) ขึ้นอีก จะยิ่งทำให้ตลาดการเงินมีลักษณะเป็น Fragmentation เกินพื้นฐานธรรมชาติขึ้นไปอีก เช่น ยิ่งนักลงทุนกลัวความเสี่ยงภายใต้ความผันผวนของตลาดการเงินที่สูงขึ้นมาก ก็ยิ่งต้องการ Credit risk premium ของตราสารในตลาดนั้น ๆ สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการระดมทุนแพงขึ้นมาก จนผู้ออกตราสารระดมทุนได้ยากขึ้น จนสุดท้ายแล้ว ตลาดสินทรัพย์ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง อาจลุกลามไปตลาดสินทรัพย์จุดอื่น ๆ จนกลายเป็นความเสี่ยงของระบบการเงินโลกโดยรวมขึ้นมาได้ และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงขึ้นในที่สุด

เศรษฐกิจโลกอาจถดถอยได้…ภายใต้ฉากทัศน์ตลาดการเงินโลกทำงานไม่ปกติ

ภายใต้ฉากทัศน์ภาวะการเงินโลกตึงตัวขาดสภาพคล่องฉับพลันไม่เป็นระบบระเบียบเช่นนี้ จะส่งผลลบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกตามมา และอาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ก็พอเห็นบ้างแล้วในตลาดพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอังกฤษ นักลงทุนเกิดกลัวความเสี่ยงกะทันหัน ขาดความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ เพราะรัฐบาลชุดใหม่ประกาศนโยบายการคลังขัดกับแนวนโยบายการเงินของประเทศ จนทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลขาดสภาพคล่อง กองทุนบำเหน็จบำนาญของอังกฤษที่ถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่เยอะเกิดปัญหาต้องการสภาพคล่องสูงขึ้นฉับพลันหลังเกิด Margin calls ถูกบังคับให้ต้องขายสินทรัพย์ทางการเงินที่ถืออยู่ ทำให้บรรดานักลงทุนอื่น ๆ ในตลาดยิ่งกลัวความเสี่ยงและตลาดการเงินนั้น ๆ ยิ่งผันผวนมากขึ้นอีก ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษตึงตัว มีต้นทุนระดมทุนแพงจนไม่สามารถทำหน้าที่ตัวกลางในการระดมทุนได้ตามปกติ ธนาคารกลางอังกฤษต้องออกมาทำหน้าที่แหล่งพึ่งพาสุดท้ายในยามตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง (Market-makers of last resort) รับซื้อพันธบัตรรัฐบาลอัดฉีดสภาพคล่อง ป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปถึงผู้เล่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินรายอื่น หรือตลาดสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่นได้ทัน

ตลาดการเงินทำงานไม่ปกติ เป็นอีกความเสี่ยงที่น่าจับตา แม้โอกาสเกิดอาจดูไม่น่ามาก แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกได้ทันที หากผู้เล่นในตลาดการเงินไม่ได้เตรียมตัวรับความเสี่ยงแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องได้ทัน เพราะจะไม่สามารถทำหน้าที่ระดมทุนได้ตามปกติในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและธนาคารกลางหลักกำลังทำ Quantitative tightening เพื่อลดขนาดงบดุลและดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงินโลก ท่ามกลางภาวะโลกกำลังจะเผชิญความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าค่ะ


** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับออนไลน์