Medix ชี้โควิด-19 Disrupt ดิจิทัลเฮลท์ในไทย เผยคนไทยทุ่มเงิน/เวลา – ต้องการ ‘ความเห็นที่ 2’ มาก

ผลสำรวจ Medix Global Health จัดทำโดยกันตาร์ เผย โควิด-19 ผลักดันให้คนไทยใช้บริการด้านดิจิทัลเฮลท์มากขึ้น รวมถึงแอปการจัดการด้านสุขภาพและบริการปรึกษาทางไกล

  • 84% ของคนไทยจะใช้แอปดิจิทัลในอนาคต สาเหตุมาจากโควิด-19
  • 82% ของคนไทยจะใช้บริการปรึกษาทางไกล เพื่อรับคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพ
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง เป็นโรค 3 อันดับแรกที่
    คนไทยกังวล
  • 76% ระบุว่าสนใจในบริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคลของ เมดิกซ์ (Medix)

งานวิจัยล่าสุดของเมดิกซ์ โกลบอล (Medix Global) ที่จัดทำโดย กันตาร์ (Kantar) เปิดเผยว่า บริการด้านดิจิทัลเฮลท์ และการใช้แอปเพื่อขอคำแนะนำทางการแพทย์และแนวทาง
การรักษา ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและข้อจำกัดในการมีระยะห่างทางสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

84% หรือ 4/5 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นกลุ่มตัวอย่างของประชากรไทย ตอบว่า การแพร่ระบาดของโรคทำให้เห็นถึงประโยชน์ของดิจิทัลเฮลท์แคร์หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ และในอนาคตจะใช้แอปดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อขอคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพและแนวทางการรักษาต่อไป แสดงให้เห็นความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 51% ในกลุ่มนี้ที่เคยใช้แอปเพื่อการดูแลสุขภาพมาแล้ว นอกจากนี้ ความกลัวและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ตอบแบบสำรวจ 82% ตอบว่าอยากจะขอคำแนะนำทางการแพทย์ผ่านบริการปรึกษาทางไกล


ซิกัล อัทซ์มอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง เมดิกซ์ โกลบอล กล่าวว่า “คนไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความรอบรู้เรื่องการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพ และมีความคาดหวังสูงต่อบริการทางการแพทย์ที่ได้รับ การแพร่ระบาดของโรคครั้งใหญ่ยิ่งตอกย้ำว่า คนทุกคนจำเป็นต้องดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว และมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดีและเปิดรับการนำนวัตกรรมมาใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ และเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมมากขึ้น”

ฟีเจอร์ที่อยากเห็นในดิจิทัลแอปต่าง ๆ

คำตอบที่ได้รับเมื่อสอบถามเกี่ยวกับฟีเจอร์สำคัญในแอปเพื่อการดูแลสุขภาพดิจิทัล ที่ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้คำตอบโดยเรียงลำดับตามความสำคัญ ดังนี้ 1) การวิเคราะห์ผลตรวจเลือดผ่านระบบดิจิทัลและรับคำแนะนำ 2) การอัปโหลด จัดการข้อมูล และการแชร์เวชระเบียนของตนได้ และ 3) การประเมินความเสี่ยงด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบดิจิทัลผ่านอัลกอริทึม นอกจากนี้ การสำรวจยังสรุปได้ว่า คนไทยมีความวิตกกังวลด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาระบบทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งมากที่สุด

เชื่อมั่นในระบบสุขภาพของไทย

ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศไทยนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจ 37% มีความพึงพอใจกับระบบสาธารณสุข ในขณะที่ 66% พึงพอใจกับระบบสุขภาพที่ให้บริการโดยเอกชน โดย 3 อันดับแรกที่คนไทยอยากให้ปรับปรุงให้ดีขึ้น ได้แก่ การเข้าถึงบริการสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล และคุณภาพของระบบการแพทย์ โดย 76% หรือประมาณ 3/4 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า มีความสนใจในบริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคล ในขณะที่ 85% กล่าวว่า จะเพิ่มแผนประกันสุขภาพให้ครอบคลุมโซลูชั่นและการรักษาด้วยเทคโนโลยีล่าสุดที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งและการดูแลสุขภาพในระบบดิจิทัล

“ผลการสำรวจนี้ ตอกย้ำว่าแนวทางสหสาขาวิชาชีพของเมดิกซ์ ที่ยกระดับการดูแลสุขภาพให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่คนไทยต้องการ” นางซิกัลกล่าวและเสริมว่า “แนวทางนี้ รวมถึงการเข้าถึงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ คำแนะนำและทางเลือกต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักษา ศูนย์บริการลูกค้าที่พร้อมให้บริการและดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เครือข่ายมืออาชีพที่คอยให้กำลังใจตลอดการรักษา รวมทั้งแพทย์และพยาบาลในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเคสของคุณ และการที่ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานระบบการดูแลสุขภาพที่มั่นคง ก็ทำให้เมดิกซ์สามารถช่วยคนไทยตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านของตนได้ โดยมุ่งเน้นที่การดูแลป้องกันการดูแลสุขภาวะ และระบบติดตามสุขภาพที่ดีขึ้น”

ในแง่การมีส่วนร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ป่วย คนไทย 76% ที่ตอบแบบสำรวจ มีความมั่นใจในข้อมูลที่ได้รับ เข้าใจในเงื่อนไขต่าง ๆ ทางการแพทย์ และเห็นว่าจะช่วยให้ได้การวินิจฉัยที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีความมั่นใจสูงในผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ แต่ 81% ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่มีอาการรุนแรง กล่าวว่าอยากจะขอความเห็นที่สองเพิ่ม หากมีอาการรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจากกลุ่มคนที่ตอบแบบสำรวจนี้ มี 18% ที่มีอาการป่วยรุนแรง และในกลุ่มผู้ป่วยรุนแรงนี้ มี 88% อยากจะขอคำปรึกษาทางการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าการวินิจฉัยนั้นถูกต้อง หรือแนวการรักษาที่แนะนำนั้น เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

การสำรวจ Medix Medical Monitor Research ของเมดิกซ์ โกลบอล โดยกันตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดข้ามชาติชั้นนำ จัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 7 – 25 มิถุนายน 2564 เป็นการสำรวจภาคตัดขวางในกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ของไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และออสเตรเลีย เนื้อหาของการวิจัยครอบคลุมเรื่องความตระหนักรู้และพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ โรคมะเร็ง และความสนใจในบริการดิจิทัลเฮลท์แคร์ ทั้งนี้ เมดิกซ์จะนำผลการสำรวจไปใช้เพื่อทำความเข้าใจกระแสด้านสุขภาพหลัก ๆ ในตลาดเหล่านี้ และเพื่อประเมินความสนใจที่มีต่อบริการหลักของบริษัท

* การศึกษานี้ ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากคนไทยที่มีภูมิหลังแตกต่างกันในแง่รายได้ อายุ และเพศ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจาก 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และสงขลา

เกี่ยวกับเมดิกซ์ 

เมดิกซ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 เป็นกิจการชั้นนำที่ให้บริการนวัตกรรมการจัดการทางการแพทย์คุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปัจจุบันมีสำนักงานที่กรุงลอนดอน ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ เทลอาวีฟ จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ มุมไบ นิวยอร์ก มิวนิก และเมลเบิร์น มีฐานลูกค้าสมาชิกมากกว่า 7 ล้านคน ในกว่า 90 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประกันชีวิตและประกันสุขภาพจากทั่วโลก สถาบันการเงิน องค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐ และเมดิกซ์ยังให้ความสำคัญกับการให้บริการที่เพิ่มคุณค่าด้านการจัดการดูแลสุขภาพ

ทีมให้บริการทางการแพทย์ของเมดิกซ์ประกอบด้วยแพทย์ประจำ 300 คน พร้อมด้วยพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัย ทีมบริหารทางการแพทย์ เครือข่ายคุณภาพระดับโลกที่ได้รับการรับรองและผู้เชี่ยวชาญกว่า 4,000 คน และโรงพยาบาลชั้นนำ 2,000 แห่ง

เมดิกซ์ให้บริการด้วยการนำเสนอโซลูชันที่ช่วยให้ลูกค้าบรรลุผลทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วว่าดีขึ้น เมดิกซ์ให้บริการจัดการดูแลผู้ป่วยรายบุคคลทั่วโลก (Global Personal Case Management Services) บริการจัดการป้องกันโรค (Disease Prevention Management Services) โซลูชันด้านดิจิทัลเฮลท์ (Digital Health Solutions) บริการฟื้นฟูสุขภาพ (Rehabilitation Services) การดูแลสุขภาพจิต (Mental Health) บริการดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home Care Services) รวมถึงบริการด้านกลยุทธ์การดูแลสุขภาพและบริการกำกับดูแลทางการแพทย์ (Health Strategy and Medical Governance Services) โดยให้บริการแก่บริษัทประกัน กลุ่มสถาบันทางการเงิน องค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เมดิกซ์ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่มีร่วมกัน (shared value) จึงมุ่งส่งเสริมให้คนทั่วโลกได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมช่วยลดความแตกต่างในบริการ และช่วยคุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความเชื่อที่ว่าการเข้าถึง การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและความยั่งยืนนั้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สุดในด้านสิทธิทางสังคม เมดิกซ์จึงให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง และมุ่งมั่นในการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั่วโลก