ลดวงเงิน…คุ้มครองเงินฝาก เหลือ 1 ล้านบาท มุ่งสร้างวินัยทางการเงิน ลดภาระภาครัฐและผู้เสียภาษี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การลดวงเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 64 น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้มีความรอบคอบ ทั้งในด้านสถาบันการเงินและผู้ฝากเงิน เพื่อลดโอกาสของการเกิดภาระของภาครัฐและผู้เสียภาษี ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 

นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทยในปัจจุบัน ก็ทำให้ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนเวลาการปรับลดวงเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองออกไป ขณะที่การเปิดโอกาสใ​ห้ผู้มีเงินออมสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นส่วนที่สะท้อนว่า ระบบการเงินของไทยไม่ได้เผชิญกับปัญหาด้านสภาพคล่องเหมือนกับวิกฤตปี 2540 ด้วยเช่นกัน 


 สำหรับผลกระทบในด้านการย้ายเงินฝากน่าจะอยู่ในวงจำกัด แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสถานะสภาพคล่องและเงินทุนที่แข็งแกร่ง  จึงยังเป็นตัวเลือกที่ดีในก​ารฝากเงินและสร้างความมั่นใจว่าผู้ฝากจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน พร้อมผลตอบแทนในอัตราที่กำหนด ซึ่งนอกจากในด้านความมั่นคงแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถตอบโจทย์ในด้านความสะดวกสบายในการใช้บริการทางการเงินอื่นๆ รวมถึงเป็นรากฐานข้อมูลการทำธุรกรรมเพื่อใช้บริการสินเชื่อ หรือเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อในอนาคต   โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมสูงถึง 20.12% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมาณ 11-12% รวมถึงมีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ 195.14% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปัจจุบันของทางการที่ 100% ประกอบกับมีเกณฑ์การผ่อนปรนจากทางการ อาทิ ความยืดหยุ่นในการจัดชั้นหนี้ และการกันสำรองหนี้ด้อยคุณภาพในระดับสูงถึง 1.49 เท่าของเอ็นพีแอล 

ดังนั้น จึงทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนได้ โดยที่ยังทำหน้าที่เกื้อกูลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบและทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่ยังมีธุรกิจอยู่ ประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ สามารถส่งมอบเงินฝากพร้อมผลตอบแทนคืนให้ผู้ฝากได้ทุกบาททุกสตางค์