บันทึกมรดกสายสัมพันธ์สหภาพยุโรป-ไทยใน “EU Urban Heritage”

คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร สถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (เบลเยียม,  เดนมาร์ก,  ฝรั่งเศส. อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส) นักวิชาการ นักโบราณคดี และผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมชื่อดัง สร้างสรรค์บันทึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์เกี่ยวมรดกทางวัฒนธรรมในแคมเปญวิดีโอที่มีชื่อว่า EU Urban Heritage เรื่องราวที่ถ่ายทอดสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยาวนานระหว่างไทยและยุโรป รวมทั้งความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมต่อการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนในยุคปัจจุบัน 

“EU Urban Heritage” ประกอบด้วยวิดีโอทั้งหมด 4 ตอนที่บอกเล่าความเป็นมาของมรดกแห่งสายสัมพันธ์ รวมทั้งอาคารประวัติศาสตร์ในกรุงเทพฯ ที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ร่วมอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานทูต หรือ ทำเนียบเอกอัครราชทูต นอกจากนี้ ยังนำชมสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่ผสมผสานศิลปะจากต่างวัฒนธรรมไว้ด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างและหลากหลายที่มีมายาวนานในสังคมไทย พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันปกป้องรักษามรดกทางวัฒนธรรม และปลุกจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับศักยภาพขอ’วัฒนธรรมที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“ผมเชื่อว่าอดีตคือรากฐานของปัจจุบัน ยุโรปและไทยมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง และหล่อหลอมรวมกันอยู่ในมรดกทางวัฒนธรรมที่เราสามารถเห็นได้จากสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ ที่แสดงถึงความเป็นสากลของสยามในสมัยแรกและประเทศไทยในสมัยต่อมา เราต้องไม่ลืมว่ายุโรปดำรงอยู่ในประเทศไทยในฐานะมิตรและเป็นพันธมิตรมาช้านาน มรดกทางวัฒนธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างเรา มันจึงสำคัญมากที่เราจะต้องพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยต่อไปบนรากฐานนี้”

จุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า

“เราสามารถย้อนรอยอดีตของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและยุโรปได้ไปจนถึงสมัยอยุธยา สะท้อนให้เห็นว่าเรามีความมั่นใจต่อ

การเปิดรับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์จากต่างประเทศโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของเราเอง สถาปนิกจากยุโรปมีอิทธิพลต่ออาคารที่สร้างอย่างงดงามตามแบบตะวันตกหลายแห่งในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความเปิดกว้างของสังคมไทยต่อความคิดที่เราพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมและดี สปิริตของความเปิดกว้างนี้ยังดำรงอยู่ในกรุงเทพฯโดยไม่เสื่อมคลาย การผสมผสานของวัฒนธรรมไทยและตะวันตกอย่างมีเอกลักษณ์นี้ นี้ทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีความงดงามอย่างยิ่ง”

“EU Urban Heritage” ประกอบไปด้วยวิดีโอที่มีเนื้อหาแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ มรดกทางอาคารของสถานทูต (The Heritage Embassies), ทำเนียบเอกอัครราชทูต (The Heritage Residences), มรดกอาคารทางศาสนา (The Religious Heritage) และสถาปัตยกรรมยุโรปที่ได้รับการบูรณะในกรุงเทพฯ (European Architectures in Bangkok) โดยทั้งหมดจะนำเสนอวิวัฒนาการของกรุงเทพฯ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ดำเนินไปพร้อมกับการเริ่มก่อตั้งสถานทูตและสถานกงสุลริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บางรัก ที่เราถือได้ว่าเป็น “ประตูสู่กรุงเทพมหานคร”

ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงใหม่ที่ก่อตั้งมาสองร้อยกว่าปี เป็นเมืองระดับโลกที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นแหล่งรวมของศาสนาและวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ร่วมกัน นอกจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามที่มีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมยุโรปและวัฒนธรรมไทยแล้ว เรายังมีมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มีโบสถ์กาลหว่าร์ ที่เราสามารถเห็นได้ถึงความความหลากหลายของวัฒนธรรมในสถานที่เหล่านี้อีกด้วย”

ติดตามชม “EU Urban Heritage” ได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนเป็นต้นไป ทางเฟซบุ้คของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู)  https://www.facebook.com/EUinThailand