สำราญรสชาจีน…ย่านเมืองเก่านครเซี่ยงไฮ้


ดร.อัญชลี กิ๊บบิ้นส์

การได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปสัมผัสย่านเมืองเก่าในแต่ละเมืองในต่างแดน มักเปิดประสบการณ์ ที่ชื่นบานและมักเป็นทริปที่น่าจดจำ เพราะเสน่ห์ของความเก่าและกลิ่นอายของวันวาน มักเย้ายวนเสมอ ขณะที่หลากหลายประเทศในโลกมุ่งพากันพัฒนาไปสู่ความทันสมัยตลอดเวลา จนบางครั้งทิ้งหายอัตลักษณ์กันไปเลยก็มีในบ้านเราเอง กระแส การท่องเที่ยวแบบย้อนยุค กลับคืนสู่วิถีธรรมชาติและเข้าถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นก็เริ่มถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นมาอย่างนครเซี่ยงไฮ้

ถึงแม้จะพัฒนาเมืองไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันแต่ก็ยังพอจะมีมุมเมืองที่เปี่ยมคุณค่าหลงเหลืออยู่บ้าง ในเขตเมืองเก่าใจกลางเมือง เมืองเก่าแถบถนนเหรินหมิงและย่านยู่หยวน เขตหวงผู่ ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมายในตรอกซอกซอยแคบๆที่มีแต่รถจักรยานและคนเดินเท้าที่สัญจรไปมา ทว่า สะอาดตา ไม่มีขยะตามรายทาง ตรอกเล็กๆนี้พาเราเข้าไปถึงร้านน้ำชาที่คงอัตลักษณ์จีนโบราณ ยืนหยัดสวนกระแสร้านน้ำชาและคาเฟ่แบบแฟรนไชส์ ที่มีให้เห็นเกลื่อนเมืองในปัจจุบัน เครื่องเรือนโบราณและไม้แกะสลักฉลุลายที่ตกแต่งภายในร้านน้ำชาแห่งนี้ล้วนเป็นของเก่าโบราณอายุหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นไม้กฤษณาหอมแกะสลัก เก้าอี้หิน ประตูบานเฟื๊ยม ให้ความรู้สึกอบอุ่น คลาสสิคและคงอัตลักษณ์แบบจีนโบราณย้อนยุควัฒนธรรมการดื่มชาจีน มีมายาวนานเรียกได้ว่ามีมาก่อนชาติอื่นใด แต่เป็นที่แพร่หลายอย่างมากในสมัยราชวงศ์ถัง

ในสมัยนั้นมีคำกล่าวว่าดินแดนจีน คือ “แดนกวี แดนชา”เพราะชนชั้นสูงและหมู่นักปราชญ์หรือชนชั้นปัญญาชนของจีนในสมัยนั้น มักดื่มชา เพื่อสานมิตรภาพ โรงน้ำชาจึงเป็นที่ที่หมู่ปราชญ์จะมาพบปะเพื่อลับคมทางปัญญา แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน นักกวีก็มักแต่งบทกวีท่ามกลางบรรยากาศที่มีกาต้มน้ำและกลิ่นหอมกรุ่นของใบชา หรือยามที่มีสหายจากแดนไกลเดินทางมาเยือน ก็จะเลี้ยงน้ำชาต่างเหล้ารับรองกัน บรรยากาศแบบชนชั้นปัญญาชนในสมัยโบราณของจีนยังคงหลงเหลือให้ได้สัมผัสที่นี่

ร้านเซี่ยง เย๋ ฝู่ (相爷府) เป็นร้านน้ำชาโบราณที่ติดอันดับหนึ่งในร้อยของร้านน้ำชาดั้งเดิมทั่วประเทศจีน ด้วยความคงอัตลักษณ์ดั้งเดิม และอนุรักษ์รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจีนให้คงอยู่ไว้ได้อย่างน่าประทับใจ ภายในจะมีห้องดื่มน้ำชาที่เป็นแบบห้องส่วนตัว มีเครื่องดนตรีจีนโบราณที่ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งสถานที่ แต่ผู้มาเยือนสามารถดีดพิณบรรเลงในห้องจิบชาส่วนตัวได้เลย บริเวณที่เป็นห้องโถงเปิดโล่งก็งดงามไม่แพ้กัน ส่วนบนดาดฟ้าตกแต่งเป็นเก๋งจีน สวนหินแบบจีนโบราณ ตกแต่งด้วยไม้กระถางประดับที่งามคลาสสิค เป็นอีกมุมที่ชวนให้ต้องชักภาพ สามารถนั่งจิบชาชมจันทร์และบรรยากาศของแม่น้ำหวงผู่ หรือย่านไว่ทัน หรือ The Bund ยามค่ำคืนได้อย่างงดงาม

ร้านน้ำชาแห่งนี้อยู่ใกล้สวนยู่หยวน YU YUAN Garden สถานที่ท่องเที่ยวเขตเมืองเก่า
ที่เป็นที่รู้จักของนครเซี่ยงไฮ้ เดินเพียงห้านาทีก็ถึงอยู่บนหัวถนนอันเหริน An Ren Street (安仁路) หรือจะขี่จักรยานลัดเลาะจากสวนสาธารณะโบราณที่ติดกันกับวัดเฉิงหวงเมี่ยว (城隍庙)แล้วตัดเข้ามาในซอยเล็กๆก็จะมาถึงถนนอันเหริน ร้านน้ำชาแห่งนี้อยู่บนชั้น 4 ของอาคารยู่อันเค่อ 豫安客 พอถึงชั้นสี่ เมื่อลิฟท์เปิดก็จะพบบรรยากาศจีนโบราณในทันที

dav

รายการน้ำชาที่นี่จะมาพร้อมอาหารชุดในสนนราคาที่ปกติธรรมดา ไม่ใช่ราคาที่แพงจนเกิน
ราคา เรียกว่าคุ้มค่ากับการเลือกมานั่งจิบชา สนทนากับเพื่อนในบรรยากาศย้อนยุคที่วิเศษมาก ยิ่งถ้าจองผ่านแอพ หรือค้นหาโปรโมชั่นของร้านบนออนไลน์ก็จะมีส่วนลดลงไปอีก วันที่เราไปเยือนเราเลือกจิบชาขาวและมาคู่กับเมนูบะหมี่น้ำชามใหญ่ รสชาติดี และถั่วอบหลากชนิดเป็นเครื่องแกล้มระหว่างจิบชา ผู้จัดการร้านที่นี่เป็นมิตรกับเรามาก ให้บริการอย่างดี
ก็ถึงกับยกกู่เจิง พิณโบราณของจีนเข้ามาไว้ให้ในห้องจิบชาส่วนตัว เผื่อว่า เราจะอยากบรรเลงเพลงพิณควบคู่ ในหมู่เพื่อนๆให้ได้สุนทรีย์ตาม คนส่วนใหญ่มักจะได้เคยคุ้นกันว่า
วัฒนธรรมการดื่มชาแต่ดั้งเดิมนั้นมาจากประเทศจีน

แต่จวบจนปัจจุบันเริ่มมีชาฝรั่ง ชาญี่ปุ่น ชาอินเดีย ชาไทยแต่สิ่งหนึ่งที่สืบทอดกันมา ในเรื่องของวัฒนธรรมการดื่มชาก็คือชามักจะอยู่ท่ามกลางการพบปะขอหมู่มิตรแม้จะมีการประยุกต์รสชาติชาจนหลากหลายกันออกไป จากใบชาดิบ เป็นชาคั่ว หรืออบใบชา เพื่อที่จะให้การเก็บถนอมรสชาติของใบชาให้คงอยู่ได้ยาวนานขึ้น วาระของการดื่มชาจีน มีวาระสำคัญๆอยู่สี่วาระ คือ

  • วาระที่เป็นการเชื่อมมิตรภาพ ระหว่างศิษย์กับครูระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ระหว่างคู่ค้า ระหว่างมิตรสหาย
  • วาระที่สองคือเพื่อเป็นการให้เกียรติกันและกัน
  • วาระที่สาม ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันก็คือพิธียกน้ำชาเพื่อการสมรสเป็นการยอมรับลูกสะใภ้ใหม่เข้าไปในตระกูลของฝ่ายชาย
  • วาระสำคัญอีกวาระก็คือเพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน

ด้วยเหตุนี้ชาจึงเป็นสิ่งสำคัญทั้งเชิงสัญลักษณ์และวิถีชีวิตของมนุษย์ในเชิงมิตรภาพอันงดงามจึงมักมีการนำชาเป็นของฝากที่มีความหมาย ตามคตินิยมของชาวจีนโบราณ ชานับเป็นหนึ่งในเจ็ดของสิ่งจำเป็นที่ทุกครอบครัวจีนต้องมีไว้ เพื่อการเริ่มต้นชีวิตในแต่ละวัน คือ มีฟืน (ปัจจุบันก็คือเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้า) ข้าว น้ำมัน เกลือ ซอสถั่วเหลือง น้ำส้มสายชู และ ชา นั่นเอง

ถึงบรรทัดนี้ คงต้องยกบทกวีเกี่ยวกับชาสักบทหนึ่ง เขียนโดยนักกวีชื่อ ตู้เหล่ย ในสมัย ราชวงศ์ซ่งเขียนบทกวีเกี่ยวกับชาไว้ ในบทที่ที่ชื่อว่า คืนหนาว 寒夜

เอาเป็นว่า ขออนุญาตนำมาถอดความเป็นไทยให้พอได้เข้าใจกัน ปิดท้ายเรื่องราวของน้ำชาในบทความนี้

  • 寒夜 (杜耒)寒夜客来茶当酒, คืนหนาว สหายมาเยือน จิบชาต่างเหล้า
  • 竹炉汤沸火初红。 ฟืนไผ่ใช้ต่างเตา ร้อนผ่าวระอุแดงเดือดน้ำ
  • 寻常一样窗前月, เดือนดวงเดิม นวลผ่องส่องหน้าต่างแสงงาม
  • 才有梅花便不同。 ต้องดอกเหมยฉ่ำ ค่ำนี้ชวนยล มิเหมือนเคย

เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร. อัญชลี กิ๊บบิ้นส์ ปัจจุบันเป็นนักเขียน นักวิชาการอิสระ ผู้สืบทอดวิชากังฟูดั้งเดิมบู๊ตึ้งวิถีเต๋าสายซานเฟิง และเป็นผู้ก่อตั้ง “เรือนกายเรือนใจ” ณ บ้านพระธาตุ ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่สำนักฝึกเรียนกัมมัฏฐานผสานวิชากำลังภายในที่ไม่แสวงหากำไรใช้ชีวิตเรียบง่าย พัฒนาตนและพัฒนาคนอื่นด้านวิชาฝึกลมปราณวิถีเต๋า มวยไท่เก้ก ดนตรีจีน การเขียน อักขระจีน ศิลปะการแสดง ศิลปะการป้องกันตัววิถีชาติพันธุ์ไทใหญ่กับสรรพวิชาที่มุ่งบริหารกายและใจให้กลับสู่สมดุลยภาพและสร้างสมพลังด้านดีให้ชีวิต