เมื่อ ไต้หวัน เกิดวิกฤตขาดแคลนคนเก่งสูงที่สุดในโลก รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร ?

ที่มา https://techsauce.co/

เมื่อนึกถึงโลกาภิวัฒน์ เรามักจะคิดถึงข้อดี ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสื่อสาร คมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศไร้พรมแดน แต่สิ่งที่ตามมาพร้อม ๆ ไปกับโลกาภิวัฒน์นั้น ก็คือการที่คนเก่ง ๆ ทั่วโลกผู้เป็นมันสมองสำคัญของเศรษฐกิจ ต้องการที่จะ ‘ย้ายประเทศ’ เพื่อเสาะหาโอกาสใหม่ให้กับตนเอง 

หนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ คือ การได้ทำความรู้จักกับประเทศอื่น ๆ ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า สวัสดิการที่เป็นธรรม รวมไปถึงโอกาสหน้าที่การงานที่มีมากกว่าประเทศของตนเอง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะคิดถึงกำไรชีวิตที่ได้หากไปประเทศใหม่ และค่าเสียโอกาสหากเลือกอยู่ประเทศเดิมต่อ ปรากฎการณ์ ‘สมองไหล’ (brain drain) จึงเป็นปัญหาสำหรับหลาย ๆประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับโซนเอเชียนั้น เป็นที่น่าแปลกใจว่า รายงาน Global Talent 2021 จาก Oxford Economics  ได้เผยว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มียอดขาดแคลนคนเก่งสูงที่สุดในโลก (Talent Deficit) แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจของไต้หวันจะดูดีกว่าหลาย ๆประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสินค้าชูโรงอย่างเซมิคอนดักเตอร์ส่งออกทั่วโลกก็ตาม แต่จำนวนประชากรวัยทำงานของไต้หวันลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำติดอันดับโลก รวมไปถึงอัตราการเสียชีวิตของประชากรมีสัดส่วนที่มากกว่า ทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนผู้เชี่ยวชาญและการพัมนาเศรษฐกิจในอนาคต 

รัฐบาลไต้หวันรับมือวิกฤตสมองไหลอย่างไร ?

ออกกฎหมายเปิดรับชาวต่างชาติเข้าทำงาน 

รัฐบาลไต้หวันได้รับรู้ถึงปัญหาด้านประชากรวัยทำงานที่ลดลงโดยตลอด ข้อมูลจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติของไต้หวัน (NDC) ประจำปี 2018 เผยคาดการณ์ว่าประชากรอายุตั้งแต่ 15-64 ปี จะปรับลงจาก 72.5% อยู่ที่ราว 48% ในปี 2065 

ภารกิจสำคัญที่ไต้หวันเริ่มทำก่อนเป็นอันดับแรกคือ การผลักดันกฎหมาย Foreign Professional Act เนื้อหาหลักก็จะผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมือง วีซ่าทำงาน กฎระเบียบการย้ายถิ่นฐาน และเพิ่มสิทธิพิเศษให้กับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกทั้ง 8 สาขา เช่น ด้านเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ การศึกษา และการเงิน สามารถยื่นขออนุมัติบัตรทองการจ้างงานได้ (Employment Gold Card) 

เช่นเดียวกันนี้ ยังมีการออกใบอนุญาตทำงานให้กับอาชีพอื่น ๆ อาทิ ศิลปินอิสระ (Work Permit for Foreign Professional Artist) ใบอนุญาตทำงานสำหรับบุตรหลานของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ (Work Permit for Foreign Professionals Adult Child) และวีซ่ารอการว่าจ้าง (ROC Employment Seeking Visa) 

ผลลัพธ์จากการผลักดันกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ชัดว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมาก ล่าสุดในปี 2019 ยอดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติปรับขึ้นร้อยละ 9.8 จากปี 2017 ซึ่งช่วยลดช่องว่างบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ในปี 2020 รัฐบาลไต้หวันยังเปิดแพลตฟอร์ม Contact Taiwan เพื่อดึงดูดนักเรียน นักศึกษาต่างชาติที่เรียนในไต้หวันให้สนใจทำงานต่อในประเทศ ลักษณะแพลตฟอร์มจะคล้ายคลึงกับ LinkedIn จะประกอบด้วยฟีเจอร์ประกาศสมัครงาน และหาคอนเนคชันสำหรับคนทำงาน รวมไปถึงแนะแนวอาชีพการงานให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวโน้มจะผลักดันกฎหมายสำหรับผู้ใช้แรงงานต่างชาติ (blue-collar workers) ในอนาคต 

โครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้ชีวิตการทำงาน

สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันใช้ดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานเพิ่มคือโครงสร้างด้านสาธารณูปโภค เนื่องจากไต้หวันตั้งอยู่ใจกลางท่าเรือขนาดใหญ่และเมืองใหญ่ ๆ ในทวีปเอเชีย และมีสนามบินนานาชาติถึง 3 แห่ง  ท่าเรือขนส่งสินค้าอีก 5 แห่ง ภายในประเทศก็มีบริการขนส่งมวลชนที่สะดวกสบายทั้งรถไฟใต้ดิน (MRT) ภายในกรุงไทเปและเมืองเกาสง ยังไม่รวมไปถึงรถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง มีความพร้อมด้านระบบประปาและพลังงานสูงกว่า 90% ในประเทศ และมีการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันได้เปิดรับการลงทุนจากฝ่ายเอกชนและต่างชาติให้เข้ามาขยายกิจการบริษัทข้ามชาติได้ ซึ่งจะช่วยเร่งการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศได้มากขึ้น 

COVID-19 อีกตัวแปรสำคัญของไต้หวันเพื่อดึงคนเก่งกลับเข้าประเทศ

วิกฤตโรคระบาดCOVID-19 กลับเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยให้ไต้หวันดึงชาวไต้หวันที่ไปอยู่ต่างประเทศและชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไต้หวัน ด้วยศักยภาพของรัฐบาลที่สามารถจัดการโรคระบาดได้ในเวลาอันสั้นจนสำเร็จ 

แม้ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ยังมีอยู่ แต่ค่าเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 รายต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดระดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ภาพลักษณ์ไต้หวันในสายตาของต่างชาติเป็นประเทศที่ปลอดภัยและมีสภาวะที่มั่นคงต่อการใช้ชีวิต ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. ปี 2021 มีชาวต่างชาติได้รับอนุมัติบัตรทองการจ้างงานเพิ่มทั้งหมด 2,127 ราย และมีผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอีก 18.8% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 

ความท้าทายหลักที่ไต้หวันยังคงต้องเผชิญ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคที่รัฐบาลต้องเผชิญอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ อันดับแรกคือกำแพงด้านภาษา เนื่องจากภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลักในการดำเนินการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอาจประสบปัญหาทางการสื่อสารและโอกาสในการหางานอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (Per Capita GDP) อยู่ที่ 28,383 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียกับสิงคโปร์ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวอยู่ที่ 82,503 ดอลลาร์

ข้อมูลจาก taiwaninsight