กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เผยถึงกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC Banking) ว่า จะยังคงสืบสานพันธกิจในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอันดับหนึ่งในใจของกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ด้วยการให้ความยืดหยุ่นแก่ธุรกิจต่างๆ ตลอดจนการนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินที่ครบวงจร และการปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับการเติบโตของลูกค้าอย่างยั่งยืนในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (new normal) ด้วยแผนธุรกิจระยะกลางปี 2564 – 2566 กรุงศรีจะให้ความสำคัญกับการเสริมประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและการขยายธุรกิจสู่อาเซียน ต่อยอดการผสานพลังความแข็งแกร่งของกรุงศรีกับเครือข่ายที่กว้างขวางของ MUFG เพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติอย่างแข็งขันและช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าในประเทศไทยและในอาเซียน
โยชิยูกิ โฮริโอะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทางกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างหลากหลาย เช่น ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อช่วยเสริมเงินทุนในการปฏิบัติงานและเสริมสภาพคล่องแก่ลูกค้า แบ่งปันมุมมองที่เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมผ่านการสัมมนาออนไลน์ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับลูกค้าผ่านกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจต่างๆ ในปี 2563 กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นยังคงตอกย้ำความเป็นผู้นำด้วยยอดเงินฝากกว่า 61% ของส่วนแบ่งตลาด ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 27% จากปี 2562 และยังครองส่วนแบ่งตลาดด้านสินเชื่อกว่า 42% ในกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่น”
“ด้วยเป้าหมายที่จะยังคงสถานะการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอันดับหนึ่งในใจลูกค้า โดยการสนับสนุนลูกค้าในการขยายโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุควิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) นี้ กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC/MNC Banking) ได้เผยแผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 ที่มีโฟกัสสำคัญ คือ การเสริมประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น และการขยายธุรกิจสู่อาเซียน เราได้กำหนดกลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแก่ลูกค้าแต่ละรายจากความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้าที่แม่นยำกว่าเดิม พร้อมนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินที่ครบวงจรจากความร่วมมือและศักยภาพของกรุงศรีและ MUFG และการปรับแพลตฟอร์มการปฏิบัติงานของกลุ่มธุรกิจฯ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพโดยรวม นอกจากนี้ทางกลุ่มงานจะเสริมศักยภาพของเราให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ปรับปรุงส่วนงานให้คำปรึกษาให้สามารถให้คำแนะนำแก่ลูกค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย และขยายธุรกิจให้สามารถตอบรับการเปลี่ยนแปลงด้านซัพพลายเชนและการลงทุนของลูกค้าได้ ในปีนี้ เราจะให้ความสำคัญกับรายได้ที่ไม่ได้มาจากดอกเบี้ย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ธุรกรรมทางการเงิน การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อนุพันธ์ และประกันภัยประเภทต่างๆ โดยเราตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 2.5% จากปีที่แล้ว”
“เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนในกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นที่เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บริษัทญี่ปุ่นบางรายได้ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนไปสู่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศไทย รวมถึงมีการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้น ยังมีโอกาสสำหรับลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติในการขยายธุรกิจสู่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกมากมาย ซึ่งปีที่แล้วกรุงศรีได้เปิดสำนักงาน EEC ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มช่องทางในการติดต่อให้บริการแก่ลูกค้าและช่วยสนับสนุนการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น อุตสาหกรรมที่เราให้ความสำคัญก็คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การค้า และการเงิน”
“กรุงศรีจะยังคงส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติต่อไปด้วยการนำเสนอบริการต่างๆ ที่ช่วยสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันข้อมูลความรู้ผ่าน Krungsri Business Virtual Seminar กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจผ่าน Krungsri Virtual Business Matching 2021 และ Krungsri-MUFG Virtual Business Matching 2021 ให้กับลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติ รวมถึงลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอี โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถขยายธุรกิจได้ภายใต้เครือข่ายของ MUFG” โฮริโอะกล่าวเพิ่มเติม