ที่มา : Techsauce
พูดคุยกับคุณ Julien Mialaret ผู้เป็น Operating Partner, Idinvest Partners (VC) กับประเด็น Smart City ว่าหลังจากมีการระบาดของ COVID-19 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และจริง ๆ แล้วความหมายของ Smart City คืออะไร รวมไปถึงอนาคตของ Smart City ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
Smart City คืออะไร
ในมุมมองของคุณ Julien Mialaret ได้ให้รายละเอียดของ Smart City ไว้ 2 แบบ คือ
- แบบที่ 1 เมืองที่สร้างใหม่ขึ้นมาเลย พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มาอำนวยความสะดวกในการสื่อสารและช่วยในการดูแลเมืองนั้น ๆ โดยตอนนี้มีหลายองค์กรที่กำลังสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา อย่าง Tencent, Google, NTT และ Sumitomo แต่การสร้าง Smart City แบบนี้จะยากมาก เพราะต้องลงทุนเยอะ และต้องเริ่มทุกอย่างใหม่ทั้งหมด
- แบบที่ 2 เป็นเมืองที่พัฒนามาจากเมืองที่มีเดิมอยู่แล้ว อย่างเช่น การพัฒนา Smart City ในกรุงเทพ ปารีส หรือกัวลาลัมเปอร์ โดยจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในเมืองแบบเดิม รวมทั้งมีบริการดิจิทัลต่าง ๆ (Digital Services) ให้คนที่อาศัยในเมืองนั้น ๆ ได้ใช้ โดยเทคโนโลยีเหล่านั้นจะต้องไม่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม มีราคาที่ไม่สูงเกินไป และทำให้เมืองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความท้าทายสำคัญของการสร้าง Smart City
- จะต้องสร้างโปรดักส์ที่คนสามารถเข้าถึงได้ ในราคาที่เหมาะสม และต้องเป็นสิ่งที่คนต้องการจริง ๆ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของผู้คน แต่มาในราคาที่ยอมรับได้ ดังนั้น จะต้องมีการออกแบบเทคโนโลยีเหล่านี้ดี ๆ เพื่อให้นำมาใช้ได้จริง
- สำหรับการพัฒนาเมืองที่มีอยู่แล้ว จะไม่สามารถตัดโครงสร้างการบริการเก่า ๆ ที่มีมาหลายสิบปีแล้วออกไปได้ จะต้องอาศัยการปรับให้เข้ากันเท่านั้น
- ต้องทำงานกับทางภาครัฐ ซึ่งในบางประเทศก่อให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน แต่ก็ทำให้งานที่ออกมามีความมั่นคงมากกว่า
- จะต้องมีการสร้างเทคโนโลยีที่ใช้ได้ในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านขนส่ง ด้านพลังงาน ดังนั้นทางที่ดีจะต้องให้บริษัทที่มีความถนัดในแต่ละด้านร่วมงานกันจะทำให้การทำงานไปได้ง่ายขึ้น
ผลกระทบของ COVID-19 กับการพัฒนา Smart City
ก่อนการระบาดของ COVID-19 นั้น จุดประสงค์หลัก ๆ ของการสร้าง Smart City คือ
- ต้องการจะลดมลภาวะ และช่วยสร้างความรับผิดชอบกับสภาพแวดล้อม เพราะผู้คนในเมืองเริ่มไม่ตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีกิจวัตรที่ก่อให้เกิดมลภาวะเพิ่มมากขึ้น
- ต้องการสร้างเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและความสบายในแบบที่ไม่ต้องลงทุนสูง
สองปัจจัยนี้จะต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในเมืองนั้น ๆ โดยบางพฤติกรรมนี้เราได้เห็นมาบ้างแล้วในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 เช่น ความต้องการบริการเดลิเวอรี่ และการใช้บริการออนดีมานด์
แต่หลังจากการระบาดของ COVID-19 สิ่งที่เห็นชัดมากขึ้นคือ คนมีความต้องการที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงมีพฤติกรรมในการใช้บริการต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปเยอะ ตัวอย่างเช่น ความต้องการบริการรถโดยสารแบบไร้คนขับ หรือความต้องการทำงานแบบ Remote working
ซึ่งจริง ๆ แล้ว การที่ COVID-19 ระบาดไม่ได้ส่งผลให้แนวทางการพัฒนา Smart City เปลี่ยนไป แต่มันเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของคนมากกว่า
นอกจากนี้ Julien มองว่า หลัง COVID-19 คนจะหันไปให้ความสนใจกับ เมืองรอง (Second-tier city) มากขึ้น เพราะเมื่อคนทำงานทางไกลได้ ดังนั้นนอกเมืองจึงกลายเป็นตัวเลือกสำคัญ ทั้งมีราคาที่พักที่ถูกกว่า และมีบรรยากาศที่ดีกว่า ส่วนในเมืองนั้นจะมีคนน้อยลง และมีเทคโนโลยีพวกรถยนต์ไร้คนขับที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มเลนถนนที่มีไว้สำหรับยานยนต์ประเภทนี้โดยเฉพาะ
The next big thing ที่จะมาช่วยเดินหน้า Smart City ไปสู่อนาคต
ในการพูดคุยคุณ Julien ได้พูดถึงประเทศจีนไว้เยอะมาก เพราะว่ามีหลายเทคโนโลยีที่สร้างขึ้น และทดสอบในจีน และหลังจากนั้นก็นำมาส่งต่อให้ประเทศอื่น ๆ ใช้ในการพัฒนาเป็น Smart City ดังนั้น จีนจึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะเมืองเซินเจิ้น ที่เมื่อ 30 ปีก่อนเป็นเพียงเมืองท่าแห่งการประมง แต่ปัจจุบันนี้เซินเจิ้นคือเมืองแห่งเทคโนโลยีสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่เป็นทางเชื่อมจีนแผนดินใหญ่กับฮ่องกง โดยในเมืองเซินเจิ้นมีการใช้เทคโนโลยีมากมายที่เอามาอำนวยความสะดวกให้ผู้คน มีการออกกฎให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การบังคับให้แท็กซี่และบริการขนส่งให้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และเซินเจิ้นยังเป็นเมืองแรกที่มีการใช้ 5G
สิ่งต่อไปที่เราต้องมองต่อจากนี้ไปคือ ประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีการผลิตเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับ Smart City ออกมามากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้หลาย ๆ ประเทศ กำลังอยู่ในขั้นการพัฒนาไปเป็น Smart City และกำลังสร้างโครงสร้างใหม่ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี้นี้ เพราะฉะนั้นจะต้องจับตามองประเทศเหล่านี้มากขึ้น
ในส่วนของประเทศแถบเอเชียที่มีความกังวลเรื่องของสังคมผู้สูงอายุอาจจะมาทำให้การพัฒนา Smart City นั้นล่าช้าลง ทางด้าน Julien มองว่า ยังมีข้อดีของสังคมผู้สูงอายุเช่นกัน อย่างเช่นในญี่ปุ่น ที่สังคมผู้สูงอายุเป็นตัวขับเคลื่อนให้มีการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาทำงานแทน รวมไปถึงเกิดเทคโนโลยีทางการแพทย์ขึ้นมา ดังนั้น การที่มีสังคมผู้สูงอายุอาจจะส่งผลดีให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมา