การต่อสู้กับไฟป่าด้วยเทคโนโลยี

โดย Bakhtiar Talhah (บัคเทียร์ ตัลฮาฮ์ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO)

ไฟป่าและหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการป้องกันและต่อสู้กับเรื่องนี้

หลายคนที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – และแม้แต่ผู้อยู่นอกภูมิภาคนี้ – จะจดจำวิกฤตหมอกควันข้ามพรมแดนในปี 2558 ได้ ธนาคารโลกระบุว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อินโดนีเซียกว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบียประเมินว่าควันดังกล่าวเป็นเหตุให้กว่า 100,000 คนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

มีคนจุดไฟเหล่านี้ขึ้นเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตร จากนั้นก็ลุกลามจนคุมไม่อยู่ และรุนแรงขึ้นเนื่องจากน้ำฝนในฤดูแล้งมีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอันเป็นผลมาจากเอลนีโญ (El Niño) นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าเหตุการณ์เอลนีโญ (El Niño) และลานีญา (La Niña) ที่รุนแรงจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในศตวรรษที่ 21 เป็นเหตุให้อันตรายที่มีอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น เช่น ไฟป่า แม้ว่าภาวะ El Niño และ La Niña จะไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่หลายคนก็กลัวว่าหลังจากโควิด -19 แล้ว ฤดูแล้งนี้จะเป็นอันตรายถึงชีวิตเช่นกัน

ทำความเข้าใจไฟป่า

เป็นเวลานับพันปีมาแล้วที่คนใช้ไฟเพื่อล่าสัตว์ ชุมนุมกัน และทำการเกษตรแบบถางแล้วเผาป่าโดยแทบไม่ส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ภัยคุกคามที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผลจากนโยบายการใช้ที่ดินซึ่งส่งเสริมให้คนตัดไม้ ปลูกพืช และทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลที่ไม่เข้มงวด

ผู้คนเผาป่าด้วยเหตุผลหลายประการ บางครั้งก็เป็นเพราะเรื่องงานที่เป็นประโยชน์ (เช่น เพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์และสืบต่อพันธุ์) บางครั้งก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งก็จงใจเผาป่าเพื่อสร้างความเสียหาย ทั้งหมดนี้อาจทำร้ายระบบนิเวศป่าไม้และชุมชนโดยรอบได้

ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันปาล์มร้อยละ 85 ของโลก คนมักใช้ไฟเป็นเครื่องมือจัดการที่ดินเพราะใช้ง่ายและราคาถูก สำหรับผู้มีฐานะยากจน นี่มักเป็นทางเลือกเดียวที่มี ในปีนี้ ขณะที่เกษตรกรต้องดิ้นรนเพื่อชดเชยกับรายได้ที่ไม่เพียงพอ ก็มีความเสี่ยงว่าหลายคนจะหันไปใช้วิธีเผาเพื่อกำจัดต้นไม้ในที่ดินของตน

ไฟป่าเหล่านี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งเนื่องจากหลายจุดเกิดขึ้นในพื้นที่พรุที่มีการระบายน้ำ ถ่านหินเลนแห้งติดไฟได้ง่ายและระอุอยู่ใต้ดินได้นานหลังจากที่เปลวไฟบนพื้นผิวดับแล้ว นอกจากนี้ พื้นที่พรุที่เสียหายยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เพลิงไหม้ในประเทศอินโดนีเซียปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์วันละ 15 ถึง 20 ล้านตันในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2558 – ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเศรษฐกิจสหรัฐทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน

เทคโนโลยีแสดงให้เห็นถึงวามหวัง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจำนวนมากที่ช่วยให้เราป้องกันและรับมือกับไฟป่าเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things หรือ IoT) และเซ็นเซอร์ไร้สาย

อุปกรณ์ IoT และเซ็นเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิบรรยากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ และระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งช่วยให้ตรวจจับและเตือนภัยในระยะต้นได้ นอกจากนี้ ยังมีค่าพารามิเตอร์ของป่าไม้และสภาพภูมิอากาศสำหรับจัดทำแบบจำลองการแพร่กระจายของไฟด้วย

Wilmar (วิลมาร์) ใช้เทคโนโลยีการตรวจจับระยะไกลเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติในพื้นที่และระบุจุดที่เกิดไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังให้แผนที่แสดงแปลงสัมปทานแก่สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) เพื่อรวมไว้ในแพลตฟอร์ม Global Forest Watch (GFW) ซึ่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุไฟป่า อีกทั้งมีความแม่นยำถึง 1 ตารางกิโลเมตร ช่วยให้ Wilmar ระดมกำลังเพื่อปฏิบัติการติดตามผลในพื้นที่ได้

โดรน (Drones)

เมื่อต้องหยุดไฟไม่ให้ลามและจำกัดความเสียหาย เวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด กรอบเวลาสำหรับคุมไฟมีน้อย โดยเริ่มตั้งแต่ไฟเริ่มลุกจนถึงโหมกระหน่ำจนคุมไม่อยู่ โดรนช่วยให้นักผจญเพลิงมองเห็นพื้นที่ได้จากมุมสูงและได้รับข้อมูลแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับเส้นทางการส่งสัญญาณ (transmission path) การปล่อยโดรนทำได้รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเฮลิคอปเตอร์ จึงช่วยบริการฉุกเฉินให้พัฒนาแผนเพื่อคุมไฟได้

ปัจจุบันนี้ เกษตรกรผู้ปลูกน้ำมันปาล์มหลายรายกำลังใช้โดรนเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ดับเพลิงหลายชิ้นที่ตนมี เช่น บริษัท Golden Agri-Resources (GAR) ใช้โดรนในพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เมื่อใช้ร่วมกับการเฝ้าระวังด้วยดาวเทียม จะช่วยให้ตรวจจับและยืนยันได้เร็วขึ้น ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินของ GAR ก็จะตอบสนองได้เร็วขึ้นด้วย

Machine-learning และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI)

Machine Learningและ AI ถูกนำมาใช้กับชุดข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อระบุภัยที่คุกคามสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่

การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี – ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เป็นจุดที่ไฟไหม้รุนแรงที่สุดและลามเร็วที่สุด ปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตและผู้บริโภคพึ่งพาเครื่องมือเฝ้าระวังซึ่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียม แต่การตรวจจับอาจล่าช้าเมื่อเมฆบดบังวิสัยทัศน์ของพื้นที่เพาะปลูก

ระบบเฝ้าระวังป่าไม้ที่ใช้เรดาร์แบบใหม่สำหรับให้ประชาชนใช้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ Radar Alerts for Detecting Deforestation (RADD) ได้รับทุนสนับสนุนจากการร่วมมือของผู้ผลิตและผู้ซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ 10 ราย ระบบนี้ใช้เรดาร์และ Machine Learning อันทันสมัยเพื่อช่วยให้บริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ตรวจจับการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นเกือบทันทีและมีความแม่นยำมากขึ้น ผลเบื้องต้นจากโครงการนำร่องในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียระบุว่าระบบดังกล่าวระบุการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนได้เร็วกว่าระบบที่ใช้แสงหลายสัปดาห์

AI ยังเปิดโอกาสในการหาและวิเคราะห์ข้อมูล (mining) จากโซเชียลมีเดียเพื่อรับข้อมูลเชิงลึกที่แจ้งขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดการเหตุฉุกเฉินจากหมอกควันไฟป่า Artificial Intelligence for Digital Response (AIDR) เป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส (open source) ที่ใช้ Machine Learning ที่ต้องป้อนข้อมูลให้ระบบเรียนรู้ (supervised machine learning) และ AI เพื่อกรองและจัดประเภทข้อความในโซเชียลมีเดียจำนวนหลายพันต่อนาที แม้ว่าหน่วยงานด้านมนุษยธรรมจะใช้สิ่งนี้เป็นหลักในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ แต่ก็เห็นได้ชัดถึงวิธีที่หน่วยงานรัฐใช้สิ่งนี้จัดลำดับความสำคัญของงานรับมือภัยพิบัติจากหมอกควันไฟป่า

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)

การจุดไฟเพื่อกำจัดต้นไม้ในที่ดินเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างสิ้นเชิงภายในเขตสัมปทานของสมาชิก RSPO ทั้งหมด เพื่อให้สมาชิกของเรามีภาระรับผิดชอบ เราใช้เครื่องมือตรวจสอบ เช่น Global Forest Watch Fire, ESRI ArcGIS GIS Software Suite, ภาพถ่ายดาวเทียม PlanetScope ความละเอียดสูง และข้อมูลอัคคีภัยสำหรับระบบจัดการทรัพยากร (Fire Information for Resource Management System หรือ FIRMS) ของนาซ่า (NASA) เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เราตรวจพบได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด เมื่อตรวจพบจุดความร้อน (hotspot) เราจะติดต่อสมาชิกให้ตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการตามความเหมาะสม

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2651 เราได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเขตสัมปทานของสมาชิก พื้นที่ที่ครอบคลุม และจุดความร้อนให้ประชาชนเข้าดูได้บนเว็บไซต์ของเราผ่านทางแอปพลิเคชัน GeoRSPO ที่มีแผนที่แบบอินเตอร์แอคทีฟ แอปพลิเคชันนี้ช่วยให้ตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานได้ จึงมีความโปร่งใสมากขึ้น

ปีที่แล้ว เราตรวจพบจุดความร้อน 1,403 แห่งภายในเขตสัมปทานของสมาชิก RSPO จากทั้งหมด 463,952 จุดทั่วมาเลเซียและอินโดนีเซีย จุดความร้อนในสัมปทาน RSPO จึงคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.30 ของจุดความร้อนทั้งหมดที่ตรวจพบ สิ่งนี้นับเป็นเรื่องดี แต่ยังแสดงให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกรอบการติดตามและสอบสวนของประเทศที่เข้มงวดขึ้น

ทว่าต้องดำเนินการเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการกำกับดูแล

ในปี 2558 สำนักงานการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Agency for Aviation and Space) ของอินโดนีเซียคำนวณว่าพื้นที่สัมปทานน้ำมันปาล์ม 500,000 เฮกตาร์ถูกเผาระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ที่ถูกเผาทั้งหมด

เทคโนโลยีช่วยลดอุบัติการณ์ของอัคคีภัยเหล่านี้ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับความมุ่งมั่นในระยะยาวที่จะจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและตามธรรมาภิบาลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

สำหรับภาคส่วนน้ำมันปาล์ม เราจำเป็นต้องมีสถาปัตยกรรมการกำกับดูแลที่สอดคล้องและเอื้อกัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่กฎระเบียบรัฐกับมาตรฐานของเอกชนไม่เป็นไปในทางเดียวกัน รัฐบาลมีอำนาจบังคับให้ดำเนินการผลิตที่ยั่งยืนโดยใช้นโยบายและกฎระเบียบของประเทศ ในขณะที่มาตรฐานของเอกชน เช่น RSPO มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมโดยการเข้าถึงตลาดและให้สิ่งจูงใจด้านราคาระดับพรีเมียม

ในการขจัดไฟป่าและหมอกควันอย่างแท้จริง เราต้องมีทั้งการกำกับดูแลและเทคโนโลยี – รวมทั้งตัวแสดงภาครัฐและเอกชน – ที่ทำงานอย่างสอดคล้องกัน