กสอ. – มทร.ธัญบุรี จับมือทำแพลตฟอร์ม iAID เชื่อมโยงผู้ให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร

กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมมือเปิดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อพัฒนาภาคการเกษตร ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ

ใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยว่า กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เห็นความสำคัญของการส่งเสริมภาคการเกษตร  เพื่อมุ่งส่งเสริมและพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรม โดยการเชื่อมโยงตั้งแต่ ‘เกษตรกรต้นน้ำ – ผู้ผลิตกลางน้ำ – ผู้ทำการตลาดเกษตรปลายน้ำ’ จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรระดับชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ (iAID Application)สำหรับเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรและผู้รับบริการ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมทั้งโอกาสและเพิ่มช่องทางการใช้บริการเครื่องจักรกล/ผลิตภัณฑ์การเกษตร เป็นแหล่งเผยแพร่การเรียนรู้ ข้อมูลสมรรถนะ ข้อมูลการใช้งานเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี การทดสอบสาธิต ในด้านเทคนิคการใช้งานเครื่องจักรกลทางการเกษตร

 “ทุกมิติของกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำ (อุปกรณ์/เครื่องจักรกลทางการเกษตร) – กลางน้ำ (บริการด้านการเกษตร) – ปลายน้ำ (สร้างโอกาสแห่งความสำเร็จทางธุรกิจ) พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรสนับสนุนการดำเนินงาน จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ภาพความสำเร็จทางการเกษตรของประเทศไทย ในสาขาเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องจะถูกประสานและเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยความครบสมบูรณ์” รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรฯ กล่าวว่า

“จากกิจกรรมที่ มทร.ธัญบุรี ได้เริ่มต้นดำเนินการ มีผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตร และผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และมีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ แล้ว 18 บริษัท

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนำข้อมูลการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เข้าไปในแพลตฟอร์มออนไลน์ (iAID Application) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์บริษัทไปพร้อมกัน และผู้รับบริการสามารถค้นหา/เข้าถึงผู้ให้บริการได้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งสามารถเปรียบเทียบผู้ให้บริการได้ตรงกับความต้องการด้วย

นอกจากนี้ ขณะที่ทีมงานได้ลงพื้นที่ สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ สนใจเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร การเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์บริษัท และการเพิ่มช่องทางการทำการตลาดเป็น 3 อันดับแรก ซึ่งทั้ง 3 ด้านดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อหาแนวทางในการบูรณาการให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจกับผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตรต่อไป”

ส่วนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมต่อจากนี้ จะจัดประชาสัมพันธ์ Application ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศให้มีการจับคู่ธุรกิจการค้า จัดทำแผนกลยุทธ์ พร้อมวางระบบฐานข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและเผยแพร่ทางระบบออนไลน์ รวมถึงการออกแบบช่องทางการบริการในรูปแบบเว็บไซต์ เพื่อการค้นหาและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการด้านเทคนิคและการให้คำปรึกษาจากที่ปรึกษา โดยมุ่งหวังให้เกิด

การเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจสู่ห่วงโซ่อุปทาน ไม่น้อยกว่า 10 คู่ ซึ่งนอกจากจะเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายและโอกาสเชื่อมโยงทางธุรกิจแล้วยังถือเป็นให้บริการองค์ความรู้ข้อเสนอแนะและการดำเนินกิจกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นประโยชนและเกิดผลในทางปฏิบัติต่อผู้ประกอบการที่จัดว่าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์การให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอย่างครบวงจร ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลทั้งหมดได้ที่ www.iaid.in.th หรือสอบถามโทร. 061 240 2266

พร้อมกันนี้ ในงานแถลงข่าวเปิดกิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรฯยังจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Innovation/Iot Trend กับเทคโนโลยีการเกษตรไทย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มทร.ธัญบุรี พร้อมด้วย  เปรมศักดิ์ ทานน้ำใจ จากผู้ก่อตั้งโครงการ GetzTrac อาจารย์นิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  มทร.ธัญบุรี และ จุลจักร จันทร์ล้วน อดีตเป็นผู้บริหารกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร ปัจจุบัน เป็น CEO ธุรกิจส่วนตัว ดูแลทั้งหมด 4 บริษัท รวมถึงการนำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ (IAID Application) ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปองพล นิลพฤกษ์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ธัญบุรี พร้อมกับกิจกรรมให้คำแนะนำปรึกษาเชิงลึกในการพัฒนาด้านต่าง ๆ แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม.