Back2School 2563 โควิด-19 ทำผู้ปกครองกังวลหนัก

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาใหม่ในปี 2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค. 63 เพื่อลดความเสี่ยงแก่เด็กนักเรียน แม้ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น

แต่จากผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองกว่า 86% ยังมีความกังวลหากบุตรหลานกลับไปโรงเรียน โดยเมื่อมีการเปิดเทอมแล้วนั้นทางผู้ปกครองอยากเห็นสถาบันการศึกษามีมาตรการในการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง อาทิ การคัดกรอง/ตรวจวัดไข้เด็กก่อนเข้าเรียน การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน การทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อสม่ำเสมอทั้งในห้องเรียน การปรับ/ลดกิจกรรมกีฬาที่มีการสัมผัสใกล้ชิด และการปรับตารางเรียน อาจจะมีการสลับเวลาเรียนระหว่างชั้นเรียนเพื่อลดความแออัดในห้องเรียน/โรงเรียน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ปกครองต้องมีการใช้จ่ายในด้านการศึกษา และการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้และการมีงานทำของผู้ปกครองบางกลุ่ม โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โครงการเราไม่ทิ้งกันอย่างมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำและไฟฟ้า มาตรการเยียวยาเกษตรกร ตลอดจนมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐคงอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบและประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการดำเนินมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคต

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภาระรายจ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรในวัยเรียนในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ปี 2563 อาจเป็นอีกหนึ่งความจำเป็นเฉพาะหน้าที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องคงต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ปกครองที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน อันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการขาดรายได้หรือตกงาน

สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งผู้ปกครอง 100% เห็นว่า รัฐบาลควรออกมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือการใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ในปี 2563 นี้ และนอกจากมาตรการช่วยสภาพคล่องหรือให้เป็นเงินสด (42.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) แล้ว ผู้ปกครอง 37.2% ต้องการมาตรการช่วยเหลือคล้ายกับที่รัฐบาลเคยออกในปี 2562 แต่ขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ปกครองมากขึ้น ขณะที่ผู้ปกครอง 8.3% ต้องการให้เพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายและเพิ่มวงเงินสิทธิลดหย่อนภาษีมากกว่าเดิม (ในปี 2562 รัฐบาลได้ออกมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือในการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ปกครองที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ (500 บาทต่อบุตร 1 คน) เพื่อช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายสำหรับผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย และมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา สำหรับประชาชนผู้เสียภาษี)

นอกจากมาตรการเพื่อดูแลปัญหาสภาพคล่องของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นโจทย์เฉพาะหน้าแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การบริหารจัดการให้การศึกษาของนักเรียนในแต่ละระดับ แต่ละพื้นที่ เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น ก็เป็นความท้าทายที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนและครอบคลุม ด้วยการออกแบบการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความปลอดภัยในชั้นเรียนของโรงเรียน ควบคู่กับความรู้และทักษะที่ได้รับอย่างเพียงพอไม่ว่าจะเป็นการเรียนในชั้นเรียนหรือการเรียนออนไลน์ โดยยึดผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นที่ตั้ง

ท้ายที่สุด โจทย์ในระยะกลางถึงยาว คือ การปฏิรูประบบการศึกษา ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน การวางแผนหลักสูตรวิชาเรียนให้ทันและสอดคล้องกับโลกของธุรกิจที่เปลี่ยนไป การพัฒนาการศึกษาในระบบให้มีคุณภาพและเท่าเทียมเพื่อลดภาระรายจ่ายของผู้ปกครองในการพึ่งพาการเรียนพิเศษ การสร้างแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทักษะที่จำเป็นของงานในอนาคตให้กับเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งวางแผนและลงมือดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและดำรงชีพได้ อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว  ​