ก้าวใหม่ของ LAZADA (ลาซาด้า) ที่โหมโปรโมชั่นในช่วงแคมเปญ 9:9, 10:10, 11: 11, 12:12 ในเดือนกันยายนจนถึงธันวาคมที่จะถึง ซึ่งแน่นอนว่า นี่คือสงครามที่ค่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซพร้อมปูพรมโปรโมชั่นให้นักช็อปออนไลน์อดใจไม่ไหวกันแน่ๆ แล้วการเปิดตัว LAZ MART (ลาซ มาร์ท) ล่าสุดที่ลาซาด้ายกซูเปอร์มาร์เก็ตมาไว้ในแพลตฟอร์มของตนเองและมีแผนจะขายทั้งของแห้งและของสด บวกกับประสบการณ์เดิมที่มาจากสายวิศวะและการบริหารงานด้านโซ่อุปทานของ แจ็ค จาง (JACK ZHANG) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารจากอาลีบาบาที่มารับไม้ต่อจาก เจมส์ ตง (JAMES DONG) อดีตซีอีโอที่ต้องไปรับหน้าที่ในประเทศอื่น เชื่อว่า The Next Step ของลาซาด้าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อ แจ็ค บอกว่า เขาอยากทำให้คนไทยได้สัมผัสประสบการณ์การช็อปปิ้งจากแพลตฟอร์มลาซาด้าได้อย่างสะดวก ง่ายดาย อีกทั้งมีประสบการณ์สุดเอ็นเตอร์เทนได้จากลาซาด้า พร้อมตั้งเป้าจะให้ลาซาด้าคือ Lifestyle Destination ของนักช็อป
Strategic Focus
เป้าหมายที่ลาซาด้าต้องการเป็นเบอร์ 1 ของแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์และมอบประสบการณ์การช็อปปิ้งที่สุดบันเทิง ครบครันและง่าย สะดวกต่อนักช็อปนั้น ความพยายามของลาซาด้าที่ผ่านมาย่อมสะท้อนจากฐานลูกค้า ณ ปัจจุบันที่มีเกิน 20 ล้านรายเฉพาะในประเทศไทย
แจ็ค คลี่แผนยุทธศาสตร์ของลาซาด้าที่จะเดินหน้าอย่างเข้มข้นขึ้น เนื่องจากลาซาด้าตั้งเป้าที่จะให้ลาซาด้าเป็น Lifestyle Destination ว่า
“กลยุทธ์ที่เราจะโฟกัสนับจากนี้ก็จะเป็นในเรื่องของ O2O (Offline to Online) ซึ่งเป็นการผสมผสานประสบการณ์การช็อปปิ้งและเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างร้านค้าออนไลน์และระบบออฟไลน์ ซึ่งเป็นหน้าร้านค้าจริงๆ เข้าด้วยกัน พร้อมกับมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงช่องทางทั้งสองนี้ นอกจากนี้ เรายังโฟกัสกับการผสมผสานระหว่าง “ช็อปปิ้ง” กับ “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” เข้าด้วยกัน ด้วยการสร้างสรรค์ประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบต่างๆ เพื่อทำให้คนที่เข้ามาช้อปได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากแพลตฟอร์มของลาซาด้า ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมผ่าน Laz Game ซึ่งช่วยส่งเสริมกิจกรรมให้กับผู้ค้า โดยให้คนเข้ามาเล่นเกมและเก็บ Voucher สิทธิประโยชน์จากคะแนนสะสมและการไลฟ์สดผ่าน Lazada Live ที่มีมาตั้งแต่ปีที่แล้วที่ทำให้ร้านค้ามีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น
อีกโฟกัสหนึ่งของลาซาด้าก็คือ การช่วยแบรนด์, ผู้ค้าหรือ Seller ตลอดจนร้านค้าหรือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มชองลาซาด้าให้สามารถประสบความสำเร็จได้ ด้วยการนำเทคโนโลยี เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ จาก อาลีบาบา (ALIBABA) เข้ามาช่วยมากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เรานำเข้าเทคโนโลยีมาตลอด แต่ส่วนมากจะนำมาให้แบรนด์ แล้วร้านค้าก็ได้ใช้ ในส่วนของระบบหลังบ้าน เราก็มีเครื่องมือต่างๆ ให้ใช้ อาทิ Business Adviser เมื่อเข้าไปชมก็จะรู้ว่า หน้าร้านเราเป็นอย่างไร มีจำนวนคนแวะเข้ามาเท่าไร สินค้าอะไรที่คนชอบเข้ามาดู นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ลูกค้าจะซื้อที่ราคาไหน ทำให้สามารถตั้งราคาได้ดีขึ้น สามารถเตรียมสต็อกสินค้าให้ตรงกับเทรนด์ที่ลูกค้าเข้ามาดูได้ รวมทั้งการตกแต่งร้านค้า ซึ่งเราให้ร้านค้าสามารถตกแต่งร้านค้าของตัวเองได้ สามารถออกคูปองส่วนลดได้ด้วยตัวเอง พูดง่ายๆ ว่า ร้านค้าสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองในแบบที่ต้องการได้บนแพลตฟอร์มของลาซาด้า นอกจากนี้ ก็มีเทคโนโลยีและฟีเจอร์ต่างๆ ที่ลาซาด้านำเข้ามาเพื่อให้บริการลูกค้า ในส่วนของ Customer Service ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI หรือการแชต ระบบ e-Payment ตลอดจนการใช้ Big Data ตลอดจนโฟกัสกับการขยายคลังสินค้าให้มีขนาดใหญ่และสามารถกระจายสินค้าได้ทั่วประเทศ และการลงทุนทางด้านระบบโลจิสติกส์
ที่สำคัญ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่าขนส่งสินค้าของเราค่อยๆ ลดลง เนื่องจากเรามีวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งมอบประสบการณ์การช็อปปิ้งที่ดีที่สุด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ฉะนั้น โลจิสติกส์จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการส่งมบประสบการณ์ เราจึงได้จับมือกับพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ และผู้ค้า เพื่อหาโซลูชั่นร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่จะต้องสินค้าให้ “ไว” ในราคาที่ “ใช่” และเราเชื่อว่า ในอนาคตค่าขนส่งสินค้าน่าจะลดลงได้อีก เพื่อไม่ให้ลูกค้าและร้านค้าต้องแบกภาระในส่วนนี้
ขณะเดียวกัน เราก็ยังคงโฟกัสกับการรวบรวมสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น และมองหาสินค้าที่มีราคาเข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อที่จะดึงกลุ่มลูกค้าวัย 18-24 ให้เข้ามาที่แพลตฟอร์มมากขึ้น
สำหรับการเพิ่มฐานลูกค้า เรามีเป้าหมายจะให้บริการผู้ซื้อถึง 300 ล้านคนของภูมิภาคนี้ในปี 2030 และมุ่งเป้าที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างอาชีพนับล้านตำแหน่งที่อยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของลาซาด้า สำหรับการเพิ่มฐานลูกค้าก็เป็นภารกิจที่เราต้องเพิ่มทุกวันอยู่แล้ว แต่เราก็จะเน้นจัดกลุ่มฐานลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คมากๆ นั้นเป็นกลุ่มที่เรามีสัดส่วนถึง 30%”
LAZ MART
ธุรกิจรีเทลออนไลน์มีสัดส่วนแค่เพียง 3% ของรีเทลทั้งประเทศไทย ดังนั้น แน่นอนว่า ตลาดนี้ยังมีช่องทางให้เติบโตได้อีกมาก ส่วนหมวดสินค้าที่ขายดีที่สุดบนแพลตฟอร์มของลาซาด้าคือ สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงามและสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอกนิกส์ ทว่า ล่าสุด ลาซาด้าก็ขยายแนวรบใหม่กับหมวดสินค้า Grocery ใน LAZ MART ฟีเจอร์ที่มีลักษณะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตบนแพลตฟอร์มโดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ LAZ MART โฟกัสกับกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มคุณแม่ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของครอบครัว และสินค้าที่จะเลือกมานำเสนอบน LAZ MART จะเป็นสินค้าที่มีอัตราการซื้อบ่อยกว่ากลุ่มอื่นๆ และต้องการให้ LAZ MART เป็นอีกตัวเลือกสำหรับการซื้อสินค้าหมวด Grocery และเพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีทุกอย่างบนลาซาด้า
“เราต้องการให้ลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มแบบ One Stop Service ที่มีการซื้อขายสินค้าทุกอย่างให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้ง่ายและสะดวกสบาย ทั้งนี้ สินค้าที่เราเลือกมาขายในเฟสแรกจะเป็นสินค้าแห้งก่อน พร้อมนำเสนอสินค้าทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศที่คนไทยรู้จักกันดี ขณะที่เฟสต่อไป เรามีแผนที่จะขายสินค้าสดใน LAZ MART ด้วย โดยลูกค้า
สามารถสั่งซื้อของสดและได้รับสินค้าภายในวันเดียวได้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการทดสอบ เมื่อพร้อมก็จะเปิดให้สั่งสินค้าได้ทุกประเภท”
ปุจฉาที่อาจเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ค้าที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้าว่า การเปิดตัวของ LAZ MART และการขายสินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ค้าหลายราย หรือผู้ค้าโดยตรง ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เองนั้นจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเข้มข้นบนแพลตฟอร์มหรือไม่ แจ็คให้ความเห็นว่า
“นี่คือการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วยและเป็นจุดประสงค์ของลาซาด้าที่เราต้องการให้ลูกค้าได้เลือกว่า จะซื้อกับร้านค้าที่มีอยู่หลายแห่ง หรือซื้อกับผู้ขายโดยตรง ซึ่งประเด็นนี้ ลาซาด้ามองว่าอยู่ที่ความพึงพอใจของลูกค้า หากคุณมีการบริหารจัดการที่ดี สื่อสารกับลูกค้าได้ดี แม้จะมีคู่แข่งใหญ่แค่ไหนเข้ามาก็ไม่กระทบกับการเลือกใช้บริการของลูกค้าอย่างแน่นอน”
SMART VILLAGE
แจ็คกล่าวเพิ่มเติมว่า ลาซาด้ายังมีเป้าหมายที่จะยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนในระดับรากหญ้าด้วย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก เพื่อให้ผู้ค้าจากชุมชนเหล่านี้ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มของลาซาด้า ซึ่งล่าสุด ลาซาด้าได้ดำเนินการผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่การค้าออนไลน์ ผ่าน โครงการสมาร์ท วิลเลจ ออนไลน์ (SMART VILLAGE ONLINE) เพื่อช่วยสร้างงานและส่งเสริมรายได้ผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยได้ทำการคัดเลือก 5 ชุมชนที่มีความพร้อม ได้แก่ ชุมชนนาข่า จ.อุดรธานี, ชุมชนด่านเกวียน จ.นครราชสีมา, ชุมชนแม่พระประจักษ์ จ.สุพรรณบุรี, ชุมชนควนขนุน จ.พัทลุง และชุมชนใบชา จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีสินค้าแสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นชุมชนเข้มแข็ง มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการเริ่มดำเนินการแล้วกับชุมชนนาข่าเป็นแห่งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“ลาซาด้าได้นำโมเดลจาก TAOBAO (เถาเป่า) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ โดยการร่วมมือกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการรากหญ้า ซึ่งการดำเนินงานสำหรับโครงการสมาร์ท วิลเลจ ออนไลน์ นี้ ลาซาด้าได้ลงพื้นที่สำรวจ สื่อสารกับชุมชนเป้าหมาย จัดกิจกรรมเวิร์คช้อป มีการทำโปรโมชั่นผ่านแอปพลิเคชัน จัดงานแสดงสินค้าชุมชนที่ผ่านการพัฒนาด้านดิจิทัลแล้วอย่าง “ผ้านาข่าชุมชนอัจฉริยะออนไลน์” และจากนี้จะเป็นการลงพื้นที่จัดกิจกรรมเวิร์คช้อปกับชุมชนที่เหลืออย่างต่อเนื่องในปีนี้” แจ็คกล่าว
Steps for Success
การเปิดตัวของ LAZ MART ที่มีลักษณะเป็น Retail Online ขณะที่ก่อนหน้าลาซาด้ามีลักษณะธุรกิจเป็น Marketplace ที่สำคัญ LAZ MART ยังเชื่อมโยงแบรนด์สินค้าให้เข้ามาทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มของลาซาด้าโดยตรง โมเดลทางธุรกิจของลาซาด้าจะเทคะแนนทางใดมากกว่า
กับประเด็นนี้ แจ็คกล่าวว่า “ลาซาด้าไม่ได้ขีดวงจำกัดตนเองว่า เราจะเป็น Retail Online หรือเป็น Marketplace เพราะไม่ว่าจะเป็น Retail หรือ Marketplace ก็ล้วนเป็นเส้นทางที่ทำให้เราเดินเข้าหาลูกค้าได้เช่นกัน เนื่องจากโฟกัสของเราอยู่ที่ลูกค้าเสมอ ดังนั้น โฟกัสของเราจึงอยู่ที่ความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน พร้อมที่จะลงทุนหรือนำเข้าระบบเทคโนโลยี เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีๆ อีกทั้งพร้อมมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ขณะเดียวกัน โฟกัสอีกส่วนของเราที่คู่ขนานกันไปก็คือ การเน้นให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จที่ได้จากอาลีบาบามาใช้กับลาซาด้าและกับผู้ค้าของเรา เพื่อสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งออนไลน์ที่ง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อนทั้งกับผู้ค้าและผู้ใช้”
ทั้งนี้ แจ็คกล่าวถึงการแบ่งปันความรู้แก่ผู้ค้าบนแพลตฟอร์มของลาซาด้าเพื่อให้ประสบความสำเร็จว่า ประกอบด้วย
- การแยกประเภทสินค้าอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขาย เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน
- การสร้างทราฟฟิคให้เพิ่มขึ้น จากเครื่องมือของแพลทฟอร์ม อาทิ การใช้คีย์เวิร์ด การแสดงผลส่วนบุคคล และความใกล้เคียงของประเภทสินค้า
- การทำโปรโมชั่นและการวางแผนราคา อาทิ การสร้างคูปองส่วนลด หรือการกำหนดราคาในช่วงแคมเปญ
- การใช้เครื่องมือเพื่อขยายขนาดของตะกร้าสินค้า อาทิ จัดส่งฟรีเมื่อมีการช้อปปิ้งในจำนวนชิ้นที่กำหนด หรือการใช้เครื่องมือบางประเภท เพื่อจัดเซ็ทสินค้า
- การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการช่วงแคมเปญ อาทิ การบริหารสต็อก, การบริการลูกค้า การจัดการระบบหลังบ้าน
- การบริหารการจัดส่งสินค้าให้ทันเวลา รวมถึงการแพ็คสินค้า ระยะเวลาการจัดส่ง, การรับประกัน การให้ความช่วยเหลือลูกค้าในด้านต่างๆ
- เผยแพร่ในนิตยสาร Market Plus
เผยแพร่โดย นิตยสาร Market Plus
ผู้เขียน จุฑาทิพ อิงวัฒนโภคา