สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ผลักดัน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563” หรือ Bangkok Design Week 2020 เป็นหนึ่งเมกะอีเว้นท์กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการจัดงานครั้งที่ นี้ ภายใต้ธีม “Resilience: New potential for living ปรับตัว อยู่รอด เติบโต ระดมไอเดียออกแบบกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่อยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมขยายย่านสร้างสรรค์ใหม่ขานรับ การเป็น เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กล่าวว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างและใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนทิศทางไปอิงกับระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยใช้ต้นทุนจากองค์ความรู้เดิมร่วมกับความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดและเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมหาศาล

“ประเทศไทยในปี 2560 มูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 15 สาขา คิดเป็น 9.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือ 1.4 ล้านล้านบาท มีอัตราขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553-2560 เติบโตเฉลี่ย 5.61% สูงกว่าจีดีพีที่เติบโตเฉลี่ย 5.24% โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3 สาขาที่มีมูลค่าสุงสุด คือ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 285,179 ล้านบาท รองลงมาคือ อาหารไทย 197,741 ล้านบาท และการออกแบบ 187,934 ล้านบาท ตามลำดับ

ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พ.ศ. 2562-2565 นั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลักดันมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตไม่น้อยกว่า 5% ของจีดีพี และส่งเสริมให้เกิดเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวและธุรกิจของประเทศ CEA จึงต้องเดินหน้าผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) และการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Place) ซึ่งการจัดงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week เป็นกิจกรรมใหญ่ประจำปีที่สะท้อนถึงภารกิจทั้ง 3 ด้านนี้ได้อย่างชัดเจน โดยจากการจัดงานสองปีที่ผ่านมามียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วไม่น้อยกว่า 400,000 คน

อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ย่านเจริญกรุงซึ่งเป็นย่านหลักของการจัดงานที่ผ่านมาทั้งสองปี เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น TCDC เองที่อยู่ในบริเวณเดียวกับอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ศุลกสถาน อาคารริมน้ำเจ้าพระยาทรงนีโอคลาสสิก ที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้า มัสยิดชุมชนฮารูณอายุกว่า 100 ปี เป็นต้น

การลงทุนใหม่ๆ โดยภาคเอกชนหลายรายเข้ามาลงทุนและเปิดให้บริการในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมบูทีคโฮเต็ล แกลเลอรีศิลปะที่มากกว่า 10 แห่ง รวมถึงพื้นที่จัดงานสร้างสรรค์อย่าง Warehouse 30 และ การเติบโตของชุมชน มีการต่อยอดของสินค้าเก่าแก่ภายในชุมชน ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการให้บริการ ผลิตภัณฑ์ ให้เหมาะกับโลกยุคใหม่มากขึ้น ให้สามารถจำหน่ายหรือสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของย่านเจริญกรุง ที่เกิดจากการเดินหน้าร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และผู้คนในชุมชน จึงทำให้ภาพของย่านสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เด่นชัดมากขึ้นในทุกๆ ปี

          สำหรับ งานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 หรือ Bangkok Design Week 2020 (BKKDW 2020) จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 ภายใต้ธีม “Resilience: New potential for living ปรับตัว อยู่รอด เติบโต” โดย CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน นักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย ระดมไอเดียในการสร้างศักยภาพใหม่ๆ ให้กับกรุงเทพฯ สำหรับรองรับประชากรที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างความปลอดภัยและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณะ เป็นเมืองที่มีความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์ พร้อมขานรับการเป็นหนึ่งใน เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้วยการขยายพื้นที่จัดงานจากเจริญกรุง-ตลาดน้อย ไปยังสามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย

โดยมี 5 รูปแบบกิจกรรมหลัก ได้แก่ 

  • Showcase & Exhibition กลุ่มผลงานจากนักสร้างสรรค์และภาคธุรกิจที่นำเสนอแนวทางของการพัฒนาคน ชุมชน ธุรกิจ และเมือง ที่ใช้กระบวนการออกแบบและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในหลากหลายแง่มุม โดยมีไฮไลท์สำคัญที่สะท้อนถึงการมีชีวิตอยู่ในยุคสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลงทุกวันอย่าง “หลุมหลบภัยทางอากาศ: Bangkok #Safezone Shelter” และ “Everlasting Forest by GC” 
  • Talk & Workshop จากนักคิดนักสร้างสรรค์ที่จุดประกายความคิดในการออกแบบอย่างยั่งยืน โดยการลด เลือกใช้ หรือหมุนเวียนทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคนในสังคม อาทิ “7 Wonders Of Business Resilience ประสบการณ์: ปรับตัว>อยู่รอด>เติบโต ของ 7 ธุรกิจ” และ Bangkok Design Week 2020 Powered by PechaKucha
  • Creative District กิจกรรมส่งเสริมย่านเจริญกรุงสู่ความเป็นย่านสร้างสรรค์ทั้งด้านธุรกิจและคุณภาพชีวิตด้วยการจัดทำต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดการทดสอบและนำไปสู่การใช้งานจริง อาทิ “MADE IN CHAROENKRUNG”  
  • Event & Program  กิจกรรมเฉลิมฉลองให้กับความสร้างสรรค์ของชาวกรุงเทพฯ ม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะ การแสดง เวิร์คช้อป และกิจกรรมการเปิดบ้าน
  • Creative Market ตลาดนัดสร้างสรรค์เพื่อสร้างโอกาสในการขายสินค้าและการขยายเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการเก่าและใหม่ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และพบกับ Pinkoi Market in Bangkok 2020 ที่รวบรวมงานดีไซน์จาก ไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ThaiGa Creative Market 2020 ตลาดสินค้าจากสตูดิโอออกแบบและนักสร้างสรรค์ไทย Meta Food market ตลาดอาหารกลายพันธุ์ การประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับอาหาร ตั้งแต่วิธีการคิด และผลิต

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมงาน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (BKKDW 2020) ตั้งแต่วันที่ 1-9  กุมภาพันธ์ 2563 ณ เจริญกรุง-ตลาดน้อยสามย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมดีๆ ภายในงานได้ทางเวบไซต์ bangkokdesignweek.com เฟซบุ๊ค : BangkokDesignWeek  อินสตาแกรม : bangkokdesignweek  #BKKDW2020 และ #bangkokdesignweek