ฟีโบ้ มจธ. และ 8 โรงเรียนดัง ร่วมสร้างกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับประเทศ

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หน่วยงานที่มีประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคน งานวิจัยและงานบริการวิชาการมามากกว่า 20 ปี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในสาขานี้ของประเทศที่กำลังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย

ความร่วมมือด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยมี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์ดอมินิก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนร่องคำ สำนักงานห้องเรียนวิศว์ – วิทย์ มจธ.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นกลุ่มโรงเรียนนำร่อง

รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือพัฒนา ด้านวิชาการและศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาทั้งครูและนักเรียนเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับประเทศของโรงเรียนเครือข่ายวิศวกรรมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ยินดีให้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีโอกาสร่วมกันพัฒนาแบ่งปันความรู้ประสบการณ์การเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งกันและกันในลักษณะ Co-Creation และ Co-Opetition เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบและอย่างยั่งยืนให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน พร้อมเป็นผู้นำในการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปยังโรงเรียนอื่นในระดับประเทศด้วย ผศ.ดร.อรพดี จูฉิม ประธานหลักสูตร สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าว

รายละเอียดกิจกรรมความร่วมมือ ประกอบด้วย

  1. จัดประชุมระดมสมองเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
  2. จัดอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทางศึกษาในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย
  3. เปิดโอกาสให้นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายได้มีประสบการณ์ในการเข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ภายในสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามได้ เริ่มตั้งแต่การเข้าเยี่ยมชมผลงานวิจัยภายในสถาบัน การได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพกับรุ่นพี่การได้รับคำปรึกษาในการพัฒนาโครงงานด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างเป็นระบบ
  4. ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนที่สนใจในสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง