ในปี 2020 การส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญแรงกดดันและความท้าทายหลายด้าน ทั้งราคาส่งออกที่พุ่งสูงขึ้นทำให้แข่งขันในตลาดโลกยากขึ้น จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลงจากปกติ รวมทั้งประเทศผู้นำเข้าข้าวหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดียซึ่งราคาต่ำกว่ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของเงินบาทสะสมในช่วงก่อนหน้า รวมถึงสายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่ตอบโจทย์ความนิยมบริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดย EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2020 จะอยู่ที่ 5.7 ล้านตัน หดตัว -24%YOY สำหรับในปี 2021 EIC คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ขยายตัว 31%YOY โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวไทย ขณะที่โครงการประกันรายได้ในปี 2020/2021 รวมถึงเงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต ที่ในเบื้องต้นกำหนดที่ 500 บาท/ไร่ จะยังจูงใจให้ชาวนาเพาะปลูกข้าวต่อไป ประกอบกับปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกข้าวนาปีปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 เป็นต้นมา จะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอุปทานที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในปี 2021 มีแนวโน้มลดต่ำลงจากปีนี้ และทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยกลับมาปรับตัวดีขึ้น แม้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2021 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตมาก โดย EIC มองว่า ยังมีหลากหลายปัจจัยที่กดดันการส่งออกข้าวไทยในปี 2021 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยลบต่อเนื่องมาจากปี 2020 ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคเหนือที่ยังอยู่ในระดับต่ำมากในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังในฤดูการผลิตหน้า (ปีการผลิต 2020/2021) รวมไปถึงแนวโน้มการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทใน ปี 2021 ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อการส่งออกข้าวไทย ยิ่งไปกว่านั้น การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มก็ยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร ซึ่งส่งผลให้ข้าวไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคข้าวในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ภายหลังการระบาดของ COVID-19 ความมั่นคงด้านอาหารจะกลายเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น โดยประเทศที่ยังพึ่งพาการนำเข้าข้าวเป็นหลัก มีแนวโน้มที่จะลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการนำเข้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออกหลากหลายมากขึ้น ซึ่งแม้จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสส่งออกข้าวไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้มากขึ้น แต่ก็เป็นแรงกดดันให้ไทยยังคงต้องพยายามรักษาตลาดส่งออกในปัจจุบันไว้ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวของไทยอาจลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากไทยลง และกระจายการนำเข้าข้าวจากคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามมากขึ้น ในระยะต่อไป ไทยจะต้องเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ตลาดโลก รวมถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) ของการเพาะปลูกข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิต ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการรวมแปลงนาข้าวของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด และเกิดความคุ้มค่าในการนำ Agritech มาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงลดความผันผวนของปริมาณผลผลิต ซึ่งจะหนุนให้อุตสาหกรรมข้าวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้เขียน: กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ EIC |
2020-12-30