เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ “มดบริรักษ์” ให้กับหุ่นยนต์ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” เพื่อสนับสนุนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ร่วมกับภาคเอกชนได้คิดค้นและพัฒนาขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นสิริมงคลสูงสุด แก่คณะผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักศึกษาเก่า มจธ. และภาคเอกชนที่ร่วมพัฒนา
ตามที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID- 19) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานเพิ่มขึ้นมากและต้องปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดังนั้นระบบหุ่นยนต์ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรค COVID-19 รวมทั้งลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ หุ่นยนต์ในชุดระบบฯ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
(1) CARVER-Cab 2020a หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Free Navigate) ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย สามารถบรรจุถาดอาหาร ได้ถึง 20 ถาดในคราวเดียว พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator
(2) SOFA หุ่นยนต์บริการที่ติดตั้งจอแสดงผลที่สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย มีกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) เพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย กล้องความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้ถึง 20 เท่า ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย อาทิ ตา ลิ้น ได้จากระยะไกล รวมถึงสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบวิดีโอคอล
(3) Service Robot หุ่นยนต์ส่งยาและอาหารเฉพาะจุด สำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้
หุ่นยนต์ทั้งหมดเชื่อมต่อผ่านระบบไวไฟหลักของโรงพยาบาล และในอนาคตจะนำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาเสริมความสามารถให้กับหุ่นยนต์ และข้อมูลส่งผ่านขึ้นคลาวน์ด้วย 5G 26-28 GHz ล่าสุดพร้อมส่งมอบเพื่อช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี