ทีเส็บ (TCEB) เผยนโยบายส่งเสริมชุมชนเข้าสู่ตลาดไมซ์ (MICE) ได้ผลดี งานส่งเสริมชุมชน 4 กิจกรรมสร้างรายได้แล้วเกินร้อยล้านบาท พร้อมยกระดับด้วยกิจกรรม “ไมซ์โชว์เคส” เปิดตลาดให้ชุมชนเสนอบริการจัดประชุมสัมนาให้แก่หน่วยราชการและเอกชน ระหว่าง 21-23 สิงหาคมนี้
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยาผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)หรือ ทีเส็บเปิดเผยว่า ทีเส็บร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัด “โครงการไมซ์เพื่อชุมชน”ขึ้นเป็นปีที่ 2 สร้างเงินหมุนเวียนในชุมชนที่เป็นแหล่งศึกษาดูงานแล้วกว่า 100 ล้านบาท ส่งผลต่อการสร้างรายได้และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านการพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานองค์กรและชุมชนที่ร่วมจัดกิจกรรมและประชุมสัมมนาในพื้นที่
ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 85 แห่ง โดยได้คัดเลือกชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดหมายใหม่ รองรับการจัดงานไมซ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งฝึกอบรม ศึกษาดูงาน การจัดกิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่ ตลอดจนกิจกรรมพิเศษผ่านการสร้างสรรค์ที่เหมาะกับอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
ทีเส็บมีบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมการตลาด อาทิ การจัดทริปนำกลุ่มผู้แทนองค์กรหน่วยงานเยี่ยมชมสหกรณ์ที่มีความพร้อมรองรับการจัดประชุมสัมมนา เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนได้พบปะพูดคุยกับองค์กรหน่วยงาน เรียนรู้ความต้องการของตลาดลูกค้า เพิ่มทักษะการพัฒนาสถานที่และสินค้า/บริการให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาประชุมสัมมนาและจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกัน องค์กร/หน่วยงานลูกค้าก็มีโอกาสได้เห็นสินค้า/บริการ สัมผัสประสบการณ์และวิถีชีวิตของชุมชนด้วยตนเอง
การจัดงานไมซ์เพื่อชุมชน เปิดมิติใหม่ อุตสาหกรรมไมซ์เป็นการแสดงสินค้าจาก 25 สหกรณ์คุณภาพเพื่อจัดแสดงสินค้าของดีในพื้นที่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ (Max Beef) สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน สหกรณ์เกษตรนิคมชุมแสงจันทร์ เป็นต้น ณ ลานอาคาร B อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
ปัจจุบันโครงการไมซ์เพื่อชุมชนมี 5 เส้นทางนำร่องเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และสถานที่จัดกิจกรรมรองรับทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นทางเลือกสำหรับการจัดประชุมนอกสถานที่ ได้แก่
1) สหกรณ์บ้านลาด จ.เพชรบุรี ถือว่าเป็นต้นแบบสหกรณ์การเกษตรที่มีความเข้มแข็ง ประสบความสำเร็จในการเป็นศูนย์รวมชุมชนเกษตรกร มีกิจกรรมส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการบริหารจัดการอย่างเข้มแข็ง สามารถต่อยอดขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาจุดมุ่งหมายใหม่ เพื่อรองรับการประชุม การฝึกอบรม การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การศึกษาดูงานภายในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จ.สระบุรี พื้นที่นำร่องแห่งแรก เพื่อสร้างแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชนสหกรณ์และองค์กรหน่วยงานที่สนใจจัดกิจกรรมประชุมสัมมนา มีทั้งองค์ความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการจำหน่ายและบริการ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป บริการปั๊มน้ำมัน ธุรกิจสินเชื่อ เปิดโรงงานแปรรูปนม รวมถึงอาหารสัตว์ ครอบคลุมด้านการตลาด และการพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการซึ่งจะช่วยพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในระยะยาว
3) สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนและสหกรณ์โคนม จ.นครปฐม เป็นสหกรณ์ที่เหมาะสำหรับการประชุมต่างจังหวัด เพราะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตามแนวคิด “ประชุม เที่ยว เรื่องเดียวกัน” โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ รสาธิตการปรุงเนื้อโคพันธุ์กำแพงแสน สเต็กเนื้อนุ่ม การแนะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อโค อีกทั้งยังสามารถเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปนมสดแบบครบวงจรในเส้นทางนี้ด้วย โดยแวะชิมเมนูขายดีของร้านค้าสหกรณ์ อาทิ นมพาสเตอร์ไรส์หลากหลายรสชาติและนมผสมวุ้นมะพร้าว เป็นต้น
4) สหกรณ์นิคมวังไทร โดดเด่นด้านนวัตกรรมการเกษตรของทุเรียน อาทิ การทำ QR Code เพื่อให้ข้อมูลทุเรียน หรือโครงการจองทุเรียนล่วงหน้าที่นับว่าเป็นโครงการใหม่ และมีไฮไลท์สำคัญ คือ การชิมผลไม้สดจากต้นและเยี่ยมชมการดูแลสวนทุเรียนของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์
5) สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จ.ระยอง มีความพร้อมของพื้นที่ห้องประชุมและอาคารรองรับการจัดประชุมสัมมนา การเลือกซื้อผลิตผลและของฝากจากสมาชิกสหกรณ์และชุมชนใกล้เคียงจากตลาดที่ชาวบ้านมาขายด้วยตัวเอง สามารถสร้างรายได้โดยตรงให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี
“ตลอดปี 2562 ทีเส็บพัฒนาหลากหลายโครงการไมซ์สู่ชุมชน ผ่านโมเดลสามประสาน ผนึกความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน ทั้งโครงการไมซ์เพื่อชุมชน นวัตวิถีไมซ์ สัมมนารอบกรุง และยกทีมชมถิ่น มั่นใจว่า การดำเนินงานตามโมเดลการพัฒนาไมซ์สู่ชุมชนนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ไทยสู่เป้าหมายในปี 2562 ด้านจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศ 33,011,322 คน และก่อให้เกิดรายได้ 117,301 ล้านบาท รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนมุมมองและความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างชุมชนและกลุ่มลูกค้าใหม่จากองค์กรหน่วยงานที่จัดประชุมสัมมนา นำไปสู่การขยายการพัฒนาสินค้าและรูปแบบการให้บริการใหม่ตอบโจทย์นักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานทั่วประเทศ สร้างรายได้และความเจริญอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาไมซ์สู่ชุมชนทั่วทุกภูมิภาค” จิรุตถ์ กล่าว
- นวัตวิถีไมซ์ความร่วมมือระหว่างทีเส็บกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย,คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) เพื่อส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีสู่อุตสาหกรรมไมซ์คัดเลือก 8 ชุมชนใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และร่วมกันจัดงาน OTOP Midyear 2019 รวม 9 วัน เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกที่ทีเส็บสนับสนุนกิจกรรมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจและมีมูลค่าการเจรจาซื้อขายกว่า 40 ล้านบาท
- สัมมนารอบกรุงจับมือกับสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT)โดยจัดเป็นปีแรก เพื่อสรรหาเส้นทางไมซ์ใหม่ในระยะทางไม่เกิน 200 กม.จากกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มองค์กรจัดประชุมสัมมนาและเดินทางเพื่อเป็นรางวัลให้กับพนักงาน โดยปีนี้กำหนดจัดกิจกรรมใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา,บางกระเจ้า สมุทรปราการ,นครปฐม สำหรับปีหน้ามีแผนขยายเส้นทางไมซ์ใหม่ไปยังภาคกลางตอนบน
- ยกทีมชมถิ่นนำเสนอ 4 เส้นทางหลักด้วยแนวคิดที่มีเอกลักษณ์ คือ Digital Detox : ปราจีนบุรี / Do – Act – Share : สมุทรสงคราม / Creative Thinking : เชียงใหม่ และ Empower Teamwork : กระบี่ โดยออกแบบแนวคิดเส้นทางกิจกรรมตามจุดประสงค์การประชุมสัมมนา แล้วนำมาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ วิถีภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น พร้อมประชาสัมพันธ์เส้นทางผ่านสื่อออนไลน์กระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาภายในประเทศขององค์กรทุกภาคส่วน