สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัวหลักสูตร “การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 1 (Public and Private Chief Innovation Leadership: PPCIL#1) มุ่งหวังสร้างผู้นำนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลง สร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วย “นโยบายนวัตกรรม” หลักสูตรดังกล่าว มีกำหนดจัดอบรมตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 20 ธันวาคม 2562 โดยมีกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่จากภาครัฐ บุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านนวัตกรรมนโยบายและการบริหารจัดการจากภาคเอกชน ความมั่นคง ภาคการเมือง ตลอดจรนักวิชาการ สนใจเข้าร่วมอบรมวกว่า 50 ราย
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “NIA จัดตั้งสถาบันวิทยาการนวัตกรรม หรือ NIA Academy ขึ้น โดยเป็นสถาบันเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศให้ก้าวสู่ระดับสากล สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น NIA จึงได้จัดหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 1 หรือ PPCIL#1 ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนชุดความคิด และวิธีการพัฒนากระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดและเป็นนวัตกรรม ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้บริหารระดับกลางและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำในระดับสูง ให้มีทักษะ มีแนวคิดวางรากฐานการคิดแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy innovation) ในบริบทของสาธารณะที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้นำจากภาคเอกชน ทั้งนี้ หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ ยังต้องการให้เกิดประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายผู้นำนวัตกรรมในอนาคต ที่จะสามารถผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเชิงนโยบายได้ในที่สุด”
การออกแบบหลักสูตรอบรมฯ นี้ มีรูปแบบและเนื้อหาที่มีจุดเด่น ด้วยการสร้างความสามารถทางความคิด ตัดสินใจและเชื่อมโยงการสร้างนวัตกรรม ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเชิงนวัตกรรม โดยเน้นเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีคิดเชิงอนาคต (Future Thinking) เรียนรู้กระบวนการและผลผลิตเชิงนวัตกรรมกระแสหลัก (Main Stream Innovation) โดยนำเอามิติทางการพัฒนาด้วยปัจจัยภายนอก 5 มิติ คือ สังคม (Social) เทคโนโลยี (Technology) สิ่งแวดล้อม (Environment/Ecological) เศรษฐกิจ (Economics) และการเมือง (Politics) ซึ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นหนึ่งในกระบวนการของการคาดการณ์ในอนาคต (Foresight) มาเป็นโจทย์หลักในการประยุกต์องค์ความรู้หลัก ต่อประเด็นนวัตกรรมนั้นๆ ได้ถูกสร้างขึ้น จึงได้เลือกให้เนื้อหาของหลักสูตรเป็นในแนวทางผสมผสานหลายรูปแบบ (Hybridization) ที่เน้นความเฉพาะเจาะจงในประเด็นทางนวัตกรรม (Program Specific) โดยเป็นการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการจัดการความเสี่ยง เพื่อเป้าหมายการลดความเสี่ยงในภาครัฐและเอกชน และกระบวนการทางนวัตกรรม (Innovation Process) และเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์