การเคหะแห่งชาติ ผนึก 3 หน่วยงานรัฐ Reskill & Upskill สร้าง ‘งาน อาชีพ รายได้’ กับชาวชุมชน

การเคหะแห่งชาติ รุกสร้างพลังผนึกเชิงบูรณาการกับสามหน่วยงานรัฐ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน เพื่อให้ขาวชุมชนได้ Reskill และ Upskill มีโอกาสสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ เผยเกณฑ์คัดเลือกชุมชนเข้าร่วมโครงการ และพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องกับนโยบายสมาร์ทซิตี้ในอนาคต ด้วยหลักสูตรพร้อมเสิร์ฟอย่างหลากหลายในเฟสแรก

พลังผนึก การเคหะ X 3 หน่วยงานรัฐ

ล่าสุด การเคหะแห่งชาติ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ กับสามหน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน รุกสร้างพลังผนึกเชิงบูรณาการ เพื่อให้ชาวชุมชนมีโอกาสสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ โดยมี ผศ.ดร. อำนาจ จำรัสจรุงผล กรรมการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU)  พร้อมด้วย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายมงคล สงคราม รองอธิบดีกรมการจัดหางาน จ่าเอก ประยงค์ บุญช่วย ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมลงนามดังกล่าว  

ทั้งนี้ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมอาชีพให้ผู้อยู่อาศัยมีงานทำ มีรายได้มั่นคง สามารถหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหลากหลายอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคดิจิทัล รวมถึงการนำเทคโนโลยีผนวกกับความคิดสร้างสรรค์มาเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าให้มีความทันสมัย เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการในตัวสินค้ามากขึ้น อีกทั้งต้องการบูรณาการช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์ – ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความชำนาญ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถ ทั้ง Reskill และ Upskill ให้สูงขึ้นและได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และส่งเสริมให้มีงานทำ หรือสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว สามารถพึ่งพาตนเองได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยจะเปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษามีงานทำในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน และได้รับประสบการณ์ในการทำงานจริง ได้เรียนรู้อาชีพ รวมทั้งมีรายได้ที่เหมาะสมระหว่างทำงานอีกด้วย

เฟสแรกของโครงการ

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาชุมชนเพื่อเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว การเคหะแห่งชาติได้พิจารณาคัดเลือกชุมชนที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

  • มีการพัฒนาอาชีพที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง
  • มีความต้องการที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
  • มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาอาชีพและการตลาด.

ทั้งนี้ แผนงานเฟส 1 ของโครงการฯ มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน โดยมีการขับเคลื่อนใน 7 ชุมชนที่ถูกคัดเลือก ดังนี้

  • การพัฒนาอาชีพ โดยจะมีการพัฒนาอาชีพที่หลากหลาย เช่น การทำอาหาร การทำขนม การเย็บปักถักร้อย และหัตถกรรมต่างๆ ด้วยการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมตามความต้องการของชุมชน
  • การสร้างต้นแบบ ทั้งนี้ ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาจะกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาอาชีพและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชุมชนอื่นๆ ได้ในอนาคต
  • การใช้เทคโนโลยี โดยโครงการฯ จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาอาชีพและการตลาด เพื่อให้ประชาชนสามารถกระจายสินค้าได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ในการดำเนินโครงการจะมุ่งบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน กล่าวคือ

  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านอาชีพที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชนและตลาดแรงงาน รวมทั้งจะออกใบประกาศรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับผู้ที่ผ่านการทดสอบ
  • กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดการสร้างอาชีพ และจัดฝึกอบรมฝีมือแรงงานของผู้อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมหรือผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับการรับรองมาตรฐานจากการฝึกอาชีพ ได้แก่ 1) การออกประกาศนียบัตร: หลังจากการฝึกอบรมเสร็จสิ้น ผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับประกาศนียบัตรที่รับรองความสามารถในอาชีพที่ได้ฝึกฝน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ตามมาตรฐานที่กำหนด 2) การรับรองคุณภาพอาชีพ: การฝึกอบรมจะต้องมีการรับรองคุณภาพเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้เข้ารับการฝึกมีความรู้และทักษะที่เพียงพอในการประกอบอาชีพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมมีความสามารถในการทำงานตามที่กำหนด
  • กรมการจัดหางาน จะให้บริการข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน และประชาสัมพันธ์ตำแหน่งว่างงานให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้รับทราบ รวมถึงแนะแนวอาชีพและให้คำปรึกษาด้านอาชีพเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ และความถนัด ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

วางหลักสูตรสอดคล้องสมาร์ทซิตี้

กลุ่มอาชีพที่ถูกจัดวางของหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย

  • กลุ่มคหกรรม ได้แก่ การทำขนม อาหาร เย็บปักถักร้อย และงานหัตถกรรมต่างๆ
  • กลุ่มอาชีพทางด้านช่างอุตสาหกรรม เช่น การซ่อมแซมและบำรุงรักษาอาคาร ซึ่งการเคหะแห่งชาติเองก็ต้องการ “ช่างชุมชน” เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการในชุมชนด้วย นอกเหนือจากการประกอบอาชีพช่างที่เป็นงานหลัก
  • กลุ่มอาชีพทางด้านเกษตรกรรม เป็นกลุ่มที่อาจจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต

“ความร่วมมือในครั้งนี้การเคหะแห่งชาติสนับสนุน “แนวคิดสมาร์ทซิตี้” โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาคนให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม ทั้ง Upskill และ Reskill เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการทำงานและสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต ขณะเดียวกัน การสร้างชุมชนต้นแบบที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนา สมาร์ทซิตี้ โดยการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และการพัฒนาร่วมกันในระดับชุมชน

นอกจากนี้ โครงการยังมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาอาชีพและการตลาด เช่น การสร้างช่องทางการขายออนไลน์และการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสามารถกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ หวังว่าชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติทุกคนทุกช่วงวัยจะได้มีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้นทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย” นายทวีพงษ์ กล่าว