มรภ.ยะลา ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม สู่การสร้างอาชีพ-รายได้ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกษตร & อาหารสมัยใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรภ.ยะลา) เดินกลยุทธ์มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเกษตรและอาหารสมัยใหม่ ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย Reinventing University) ของสำนักงานปลัดกระทรวง อว.ผ่านการส่งมอบองค์ความรู้ นวัตกรรม เพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาสู่การสร้างอาชีพ-รายได้ของนักศึกษา และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง พร้อมเตรียมเปิดตัวหลักสูตร Sandbox “บริหารธุรกิจบัณฑิต” (การจัดการธุรกิจการเกษตร) ปี 2568 มุ่งสร้างนักศึกษาที่สามารถเรียนไปทำงานไป จบ 3 ปี 2 ปริญญา โดยผนึกกำลัง 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคใต้ เพื่อบูรณาการการศึกษาให้นักศึกษามีองค์ความรู้ข้ามสายวิชาการของตนเอง

คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี (ซ้าย) ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล (ขวา)

ทั้งนี้ คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย และคณะได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมี ผศ.ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ.ดร.นิรันดิ์เกียรติ ลิ่วคุณูปการ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและกิจการพิเศษ พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา ผู้ประกอบการและนวัตกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

ผศ.ดร.ศิริชัย นามบุรี

ผศ.ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ของ มรภ.ยะลา เริ่มตั้งแต่ปี 2564 โดยได้จัดตั้งศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ด้านเกษตรและอาหาร พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นสำหรับนักศึกษา ผู้ประกอบการ/ประชาชน อาทิ หลักสูตรการเลี้ยงไก่เบตงเชิงพาณิชย์ การเลี้ยงผึ้งชันโรง การเลี้ยงแพะ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การปลูกพืชในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ พร้อมทั้งจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตสารชีวภัณฑ์ที่นำมาแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเกษตรกรสวนยางในพื้นที่ได้อย่างเห็นผล โดยมีศูนย์การเรียนรู้แม่ลานเป็นพื้นที่บูรณาการ การจัดการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติของนักศึกษาระหว่างเรียน ทำให้นักศึกษาและประชาชน มีอาชีพและมีรายได้ นอกจากนี้ ในปี 2566 มรภ.ยะลา ได้จัดทำ หลักสูตร Sandbox “หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต” (การจัดการธุรกิจการเกษตร) ซึ่งจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2568 รุ่นแรก รวมกว่า 360 คน โดยได้จับมือผนึกกำลังกับ มรภ.กลุ่มภาคใต้ ประกอบด้วย

  • มรภ.นครศรีธรรมราช มุ่งโฟกัสด้านศิลปะและวัฒนธรรมเชิงท่องเที่ยว  
  • มรภ.สุราษฎร์ธานี มุ่งโฟกัสด้านอาหาร
  • มรภ.สงขลา มุ่งโฟกัสด้านสุขภาพและความงาม
  • มรภ.ภูเก็ต มุ่งโฟกัสด้านท่องเที่ยวและบริการ  

ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย กล่าวว่า มรภ.ยะลา สังกัดในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่นที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยกระดับทั้งเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ โดย มรภ.ยะลา ได้ใช้จุดเด่นในเรื่องเกษตรสมัยใหม่ มีศูนย์การเรียนรู้แม่ลานเป็นหัวใจในการทำงาน มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างครบวงจรไปสู่การเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาและประชาชน ซึ่งจะต้องอาศัยการบูรณาการองค์ความรู้และงานวิจัย เพื่อถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ  อันนำไปสู่การพลิกโฉมประเทศได้อีกด้วย

บ่อเลี้ยงปลานิล ซึ่งเป็นการเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหล ทำให้ไม่มีกลิ่นคาว
การเลี้ยงไก่เบตงเชิงพาณิชย์ มรภ.ยะลา ได้เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพและช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงไก่ จาก 5 เดือนเหลือ 4-4.5 เดือน ตลอดจนได้ช่วยพัฒนาอาหารสัตว์ โดยประยุกต์ใช้กระถินหมัก
ซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนทางด้านอาหารสัตว์ได้

ขณะที่ คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเสริมว่า

ขอชื่นชมการทำงานของ มรภ.ยะลา ที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านเกษตรสมัยใหม่สร้างรายได้ อาทิ การเลี้ยงไก่เบตง ซึ่งเป็นไก่พื้นบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีความต้องการในตลาดสูง โดย มรภ.ยะลา ได้เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพและช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยงไก่ ตลอดจนได้ช่วยพัฒนาอาหารสัตว์ โดยประยุกต์ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนทางด้านอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการเลี้ยงสัตว์ไปได้มาก นอกจากนี้ การลดต้นทุนอาหารสัตว์ยังจะส่งผลต่อเนื่องทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย

ศูนย์เรียนรู้ผึ้งชันโรง

นอกจากนี้ การต่อยอดหลักสูตรระยะสั้นจากการดำเนินงานศูนย์อัจฉริยะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ ของ มรภ. ทั้ง 5 แห่ง จนมาสู่การทำหลักสูตร Sandbox ของ มรภ. กลุ่มภาคใต้ 5 แห่ง ซึ่งจะใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี และได้รับ 2 ปริญญา  จะเป็นต้นแบบของหลักสูตร การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based) ของภาคใต้ ซึ่งเป็นการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency Based) จากการเรียนรู้คู่การทำงานต่อไป

รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน

ทางด้าน รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดำเนินงานของ มรภ.ยะลา ว่า เป็นไปตามความคาดหวังในเบื้องต้นของโครงการฯ โดยสามารถตอบโจทย์ด้านวัตถุประสงค์การผลิตบุคลากร ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. เพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาสู่การสร้างอาชีพ-รายได้ของนักศึกษา และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งด้วย เนื่องจากมีการนำงานวิจัยและพัฒนาของคณาจารย์ที่มีคุณภาพไปใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ ตอบโจทย์ทางด้านการประกอบอาชีพ การมีรายได้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในชุมชนด้วย