‘พริกไทย พันธุ์ปะเหลียน’ จากจังหวัดตรังถือเป็น Product Challenger ที่น่าจับตามองในตลาดพริกไทย แม้คนไทยจะรู้กันแค่ว่า พริกไทยชื่อดังต้องมาจากจันทบุรี แต่เมื่อพิจารณาพริกไทย พันธุ์ปะเหลียนจากตรัง ถือว่าเป็น “ม้านอกสายตา” ของตลาดพริกไทย ก่อนหน้าที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง จะได้ทำการวิจัยและพัฒนา ภายใต้ “โครงการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรัง พันธุ์ปะเหลียน คุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขันของจังหวัดตรัง” และด้วยความมุ่งมั่นจนได้รับ รางวัลดีเด่นด้านการนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการวิชาการ ไปใช้ในการพัฒนายกระดับศักยภาพของภาคการผลิตและการบริการ จาก การประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
SWOT พริกไทย พันธุ์ปะเหลียน
สำหรับการทำการวิจัยและพัฒนาของสถาบันการศึกษาที่ปกติมักจะเป็น “เอกสารวางบนหิ้ง” ไม่มีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์นั้น แต่จากแผนการปฏิรูประบบการศึกษาภายใต้โครงการ พลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) กล่าวได้ว่า นี่คือความพยายามที่จะปฏิรูปและผนวกเอา “องค์ความรู้ + เทคโนโลยี + ความสามารถทางการแข่งขัน” ของสถาบันการศึกษาภาครัฐ หน่วยงานธุรกิจเอกชน เกษตรกร ชุมชน เพื่อยกระดับทั้งกระบวนการโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้เป็นผลลัพธ์ที่เป็ฯรูปธรรมทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรณีศึกษาจากโครงการ R&D พริกไทย พันธุ์ปะเหลียน ที่ได้พัฒนาและยกระดับทั้งกระบวนการโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากแปงเกษตรจนถึงการทำเป็นส่วนผสมอาหารสำเร็จรูปเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การจะต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์นั้นก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึง “จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค” (SWOT) ของ ‘พริกไทย พันธุ์ปะเหลียน’ กันด้วย เนื่องจากตลาดพริกไทยมีตลาดที่มีผู้นำตลาดยืนหนึ่งมานานจากจ.จันทบุรี
จุดแข็ง (Strength)
- มีดีที่ตัวพริกไทย ด้วยสารอาหาร รสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนกว่าพริกไทยทั่วไป ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพริกไทย จันทบุรี รวมทั้งพริกไทยจากเวียนาม และ กัมพูชา
- มีสตอรี่ เป็นพืชท้องถิ่นที่อยู่กับจังหวัดตรังมาตั้งแต่ครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ใช้ทำ Storytelling ซึ่งเป็นการตลาดที่ใช้ได้ดี โดยเฉพาะกับสินค้าท้องถิ่น
- มีดีที่สายพันธุ์และโซ่คุณค่า จากการทำ R&D และยกระดับทั้งกระบวนการโซ่คุณค่าของมทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรังที่ลงรายละเอียดนับแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การเก็บ/คัดแยก/ล้าง โดยความร่วมมือของผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาพริกไทยออร์กานิกที่หายาก
- มี GI มีการขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อคุ้มครองพันธุ์พืช อีกทั้งทำให้สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
จุดอ่อน
- มีราคาแพง เมื่อเทียบกับพริกไทยที่ปักหลักในตลาดมาก่อน
- ตลาดยังแคบ
- ยังไม่มีแบรนด์ หรืออัตลักษณ์ของตนเอง
- ยังขาดการประชาสัมพันธ์
- ผลผลิตที่ได้ไม่สม่ำเสมอ
- แม้จะเป็นพืชที่มีกันแทบทุกบ้านที่ทำสวนยาง แต่เกษตรกรยังมองว่า พริกไทยคือรายได้เสริมจากการทำสวนยาง
โอกาส และ อุปสรรค
พริกไทยพันธุ์ปะหลียนยังมีโอกาสทางการตลาดอยู่มาก แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่มิใช่สิ่งกีดขวางจนก้าวข้ามไม่ได้ โดยจะต้องพลังขับเคลื่อนหลากหลายมิติ ซึ่งส่วนหนึ่ง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ
- การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “พริกไทย ตรัง” โดยเฉพาะการทำโครงการพริกไทย เกษตรอินทรีย์ (ออร์การ์นิก) และเกษตรอินทรีย์สากล ซึ่งทำได้ยาก นอกเหนือจากต้องปลอดสารเคมีแล้ว ยังต้องควบคุมคุณภาพให้ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ก็ยังมีการนำไปทำเป็นส่วนผสมในอาหารสำเร็จรูป เช่น ท็อฟฟี่พริกไทย, ครองแครง ทีใส่พริกไทยตรังแล้วรสชาติดี อร่อย
- การสร้างชื่อ “พริกไทย ตรัง” หรือ Trang Pepper ผลพวงจากการจด GI อย่างน้อย Generic Name สำหรับการเรียก พริกไทย พันธุ์ปะเหลียน เป็น “พริกไทย ตรัง” ก็ทำให้ลูกค้าทั้งในตลาดไทยและตลาดส่งออกจดจำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเจาะตลาดในยุโรปที่ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้ช่วยขับเคลื่อนมาแล้ว และกำลังเจาะตลาดอเมริกาต่อไป
- การทำการตลาดและการสร้างบรนด์ / พัฒนาบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากพริกไทย คือ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ดังนั้น การสร้างแบรนด์ของผู้ประกอบการ ตลอดจนการพัฒนาบรรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม มีรสนิยมและสร้างมูลค้าเพิ่มได้ จึงเป็นภารกิจอีกประการที่ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ออกแรงช่วยพัฒนาด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการพึ่งพิง นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ลงรายะเอียดไปในกระบวนการต่างๆ ไม่เว้นแต่การเก็บสินค้าคงคลัง ที่ต้องปึดผนึก ยิงบาร์โค้ดเพื่อรักษคุณภาพของพริกไทย
แม้จะเห็นโอกาสทางธุรกิจของพริกไทย พันธุ์ปะเหลียน แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนยังต้องช่วยกันขับเคลื่อน คือ การวางยุทธศาสตร์ทั้งในแง่การผลิต การขนส่ง การสต็อกสินค้า ตลอดจนการทำการตลาดที่ยังคงต้องสร้างแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือ และ ช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพแบบOmni-Channel ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีภาครัฐอย่างพาณิชย์จังหวัด กระทรวงพาณิชย์เพื่อช่วยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรดีๆ ให้แจ้งเกิดได้ อย่างน้อย โอกาสที่เห็นได้ในระยะอันสั้นนี้ก็คือ การเป็น Product Challenger ที่เข้ามาท้าทาย Product Champion ที่มีอยู่เดิมในตลาด