บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “ACPG” หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับไฟเขียวจากบอร์ดอนุมัติแผนลงทุนปี 2567-2569 (3 ปี) วงเงิน 9,000-12,000 ล้านบาท เตรียมขยายพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) รับโอกาสเติบโตจากอุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหลังมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นสุดในปี 2566 มั่นใจความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปีของทีมผู้บริหารในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และฐานข้อมูลที่บริษัทฯ จัดเก็บมา จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ ด้านผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2566 มีรายได้จากการดำเนินงาน 461.7 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 178.6 ล้านบาท
นายไมเคิล บีแคว๊ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACPG หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันจากภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสิ้นสุดของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ในระบบเพิ่มขึ้น โดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้พิจารณาอนุมัติแผนธุรกิจประจำปี 2567 ของบริษัทฯ สำหรับปี 2567-2569 (3 ปี) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) รวมประมาณ 9,000-12,000 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายลงทุนดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจมหภาค สถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่จำหน่ายโดยสถาบันการเงิน ตั้งวันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2566 มีจำนวนรวม 156,043 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ออกจำหน่ายในปี 2563 – 2565 ที่มีจำนวน 65,665 ล้านบาท 42,509 ล้านบาท และ 58,735 ล้านบาท ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (AMC) ในประเทศไทยจากอุปทานของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสแก่บริษัทฯ ในการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีผู้ที่ประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมองเห็นโอกาสทางธุรกิจดังกล่าวและสนใจขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจมายังการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจติดตามทวงหนี้ ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ เป็นต้น รวมถึงอาจจะมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดำเนินการและมีการรายงานข้อมูลทางการเงินแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 80 ราย เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ที่มีจำนวน 62 ราย
“ด้วยความเชี่ยวชาญของทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมานานกว่า 20 ปี และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงฐานข้อมูลสถิติที่บริษัทฯ จัดเก็บมา ส่งผลให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการแข่งขันกับ ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2565 บริษัทฯ ชนะการประมูลพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) รวมจำนวน 5 พอร์ตโฟลิโอ ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 1,417.1 ล้านบาท และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 กันยายน 2566 บริษัทฯ ชนะการประมูลพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวน 1 พอร์ตโฟลิโอ ด้วยมูลค่าลงทุน 1,091.3 ล้านบาท” นายไมเคิลกล่าว
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 461.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 178.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.2 และร้อยละ 22.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2565 บริษัทฯ รับรู้กำไรสุทธิจากการรับชำระจากลูกหนี้รายใหญ่ที่ชำระหนี้ปิดบัญชี สำหรับปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน 686.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 202.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.8 และร้อยละ 2,890.3 จากปี 2564 ตามลำดับ