สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ Krungthai COMPASS
ในแต่ละปี ทั่วโลกมีปริมาณขยะพลาสติกมากกว่า 350 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะเต็มคันกว่า 10 ล้านคัน ซึ่งขยะพลาสติกส่วนใหญ่กว่า 70% ถูกนำไปฝังกลบหรือเผา โดยมีสัดส่วนเพียง 10% ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดที่ถูกนำไปรีไซเคิล[1] การฝังกลบสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะพลาสติกต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลาย 400-500 ปี อีกทั้งยังมีประเด็นการเคลื่อนย้ายเศษและขยะพลาสติกระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการนำเข้าเศษพลาสติก สะท้อนได้จากหลายประเทศเข้าร่วมอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย เพื่อควบคุมการขนส่งขยะพลาสติกระหว่างประเทศที่ต้องได้รับความยินยอมล่วงหน้า (Prior Informed Consent: PIC) จากประเทศผู้นำเข้าและประเทศที่มีการผ่านแดน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 [2]
ยิ่งไปกว่านี้ ในปัจจุบัน หลายประเทศยังออกกฎระเบียบห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ รวมถึงไทยที่ได้เริ่มมาตรการดังกล่าวแล้วเมื่อเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งขยะพลาสติกที่นำเข้ามายังไทยส่วนใหญ่จะถูกนำไปรีไซเคิล (Recycle) เพื่อใช้ใหม่ ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า พลาสติกที่ผลิตภายในประเทศและขยะพลาสติกภายในประเทศที่สามารถรีไซเคิลได้จะเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ และผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวอย่างไร
มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ของไทยมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2568 เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงปี 2566-2567 จะผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร รวมทั้งผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป เฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกภายในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น ก่อนจะยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดในปี 2568 ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ยังมีหลายประเทศออกกฎระเบียบควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม เป็นต้น (รูปที่ 1)
สถานการณ์การผลิตและการใช้พลาสติกของไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ก่อนที่จะประเมินถึงผลกระทบของมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ บทความส่วนนี้จะพาท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจในสถานการณ์การผลิตและการใช้พลาสติกของไทย รวมถึงวงจรการเกิดขยะพลาสติก ดังนี้
ในปี 2564 ไทยมีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกอยู่ที่ราว 9.5 ล้านตัน โดยราว 5.6 ล้านตัน (58% ของปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกทั้งหมด) จะถูกส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีกราว 3.9 ล้านตัน จะถูกใช้ร่วมกับเม็ดพลาสติกนำเข้าราว 2 ล้านตัน และเศษพลาสติกรีไซเคิลอีกราว 6 แสนตันเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ภายในประเทศ โดยส่วนใหญ่นำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก (40%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (15%) การก่อสร้าง (15%) ชิ้นส่วนยานยนต์ (6%) และอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน (3%)
สำหรับในส่วนหลังการบริโภค ในแต่ละปีไทยมีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยมากถึง 2-2.5 ล้านตัน โดยในปี 2564 ไทยมีปริมาณขยะพลาสติกหลังการบริโภค 2.76 ล้านตัน ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้มักถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ เผา หรือเทกองรวมกับขยะอื่นๆ โดยมีเพียงประมาณ 20% หรือราว 5.5 แสนตันที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เป็นเศษพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเมื่อรวมกับเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ราว 1.6 แสนตันแล้ว ไทยจะมีการรีไซเคิลพลาสติกหลังการบริโภคราว 7.1 แสนตัน (รูปที่ 3) ซึ่งพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลหลังการบริโภคเหล่านี้สามารถนำไปแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยเป็นการใช้ผสมกับเม็ดพลาสติกที่ผลิตใหม่ในสัดส่วนที่แตกต่างกันตั้งแต่ 20-100% ของการใช้เม็ดพลาสติกทั้งหมด
ไทยนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมากแค่ไหน
ในปี 2565 ปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกของไทยอยู่ที่ 1.79 แสนตัน หรือขยายตัว 13.0%YoY คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าราว 47.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกของไทยอยู่ในระดับสูงสุดในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 5.53 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2559 สาเหตุที่สำคัญมาจากมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกทั้งหมด ทำให้ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถส่งออกไปจีนล้นทะลักไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศข้างเคียงอย่างกลุ่มอาเซียน รวมถึงไทย กอปรกับผู้ประกอบการรีไซเคิลขยะพลาสติกในจีนหลายรายย้ายฐานการผลิต ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกของไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2556-2560 ซึ่งอยู่ที่ราว 8 หมื่นตันต่อปี ทำให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมและห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568 (รูปที่ 4)
สำหรับประเทศที่ไทยนำเข้าเศษพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยราว 33% ของปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาที่ถูกกว่าขยะพลาสติกภายในประเทศประมาณ 2-4 บาทต่อกิโลกรัม[3] ทำให้ผู้ประกอบการไทยมักเลือกนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมากกว่าการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ เพื่อนำมาแปรรูปและรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น ดังนั้น มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานพลาสติกอย่างมีนัยสำคัญ
มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจะส่งผลต่อผู้ประกอบการกลุ่มใดบ้าง
มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานพลาสติก ดังต่อไปนี้
- ธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า เนื่องจากเป็นตัวกลางในการรับซื้อขยะจากประชาชนและซาเล้งเพื่อขายต่อให้กับโรงงานรีไซเคิล ซึ่งราคาขายต่อขยะพลาสติกของร้านรับซื้อของเก่าที่ขายให้โรงงานรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.2 – 2 เท่าของราคาที่รับซื้อขยะพลาสติกจากประชาชนและซาเล้ง [4]
Krungthai COMPASS ประเมินว่า มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจะส่งผลกระทบต่อราคาขายต่อขยะพลาสติกให้โรงงานรีไซเคิล โดยในการประเมินเริ่มจากการคาดการณ์ราคาขายต่อขยะพลาสติกจากแนวโน้มราคาเม็ดพลาสติก ซึ่งคำนวณมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบ จากนั้นคาดการณ์ราคาขายต่อขยะพลาสติก กรณีรวมผลของมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก โดยประเมินจากการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศของไทย กับการเปลี่ยนแปลงของราคาขายต่อขยะพลาสติกเฉลี่ยในปี 2562-2565 พบว่า เมื่อสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศของไทยเพิ่มขึ้น 1% ทำให้ราคาขายต่อขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นราว 0.9 เท่า แล้วนำตัวเลขดังกล่าวมาคำนวณกับการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศของไทยในปี 2566-2568 โดยทำการประเมิน 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1: ในปี 2566 โรงงานอุตสาหกรรมนำเข้าเศษพลาสติกเกือบเต็มโควตา (3.4 แสนตัน) หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศอยู่ที่ 50% ของเศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด[5] ส่วนในปี 2567 และ 2568 สัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศอยู่ที่ 80% และ 100% ตามลำดับ
กรณีที่ 2: ในปี 2566 โรงงานอุตสาหกรรมนำเข้าเศษพลาสติกราว 30% (ราว 2 แสนตัน) หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศอยู่ที่ 70% ของเศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด ส่วนในปี 2567 และ 2568 สัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศอยู่ที่ 80% และ 100% ตามลำดับ
กรณีที่ 3: ในปี 2566 โรงงานอุตสาหกรรมนำเข้าเศษพลาสติกราว 20% (ราว 1.4 แสนตัน) หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศอยู่ที่ 80% ของเศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด ส่วนในปี 2567 และ 2568 สัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศอยู่ที่ 80% และ 100% ตามลำดับ
จากนั้นนำราคาขายต่อขยะพลาสติกที่คำนวณได้ในแต่ละกรณีมาหักลบกับผลของราคาขายต่อขยะพลาสติกที่ลดลงตามราคาน้ำมันราว 0.5-1 บาทต่อปีแล้วหาค่าเฉลี่ยในปี 2566-2568 พบว่า ราคาขายต่อขยะพลาสติกของร้านรับซื้อของเก่าที่ขายให้โรงงานรีไซเคิลในปี 2568 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาขายต่อขยะพลาสติกในปี 2565 ราว 15% ส่งผลดีต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านรับซื้อของเก่า (รูปที่ 6)
อย่างไรก็ดี ราคาขายต่อขยะพลาสติกภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากผลกระทบของมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก จะทำให้ต้นทุนใน การผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อธุรกิจรีไซเคิลและผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล รวมถึงธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก ดังนี้
- ธุรกิจรีไซเคิลและผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เนื่องจากโรงงานรีไซเคิลจะ รับซื้อขยะพลาสติกภายในประเทศร่วมกับการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งในแต่ละปีไทยใช้เศษพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเฉลี่ยราว 25% ของเศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด (รูปที่ 7) โดยจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ชี้ว่า ในปี 2565 ไทยมีโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลพลาสติกจำนวน 4,770 แห่ง [6]ซึ่งกว่า 43% ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล[7] รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 500 ตันต่อปี (รูปที่ 8)
ทั้งนี้ ในปี 2568 โรงงานรีไซเคิลจะเผชิญกับความท้าทายหลัก 2 ประการ ได้แก่
1) ผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจะทำให้ราคาขยะพลาสติกภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบขยะพลาสติกของโรงงานรีไซเคิลสูงขึ้น
2) ราคาขายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมีแนวโน้มปรับตัวลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการรีไซเคิลจะมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงราว 10% ต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นของการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลทั่วไปในปี 2565 เนื่องจากราคาขายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ 100% มีแนวโน้มลดลงราว 10% เป็น 52 บาทต่อกิโลกรัม ตามราคาน้ำมันดิบและการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ กอปรกับต้นทุนของวัตถุดิบขยะพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นราว 20% เป็น 15.4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อต้นทุนอื่นๆ คงที่ ทำให้ใน ปี 2568 ผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากขยะพลาสติกภายใน ประเทศ 100% จะมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 46% ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลทั่วไปในปี 2565 ที่ 10% ต่อกิโลกรัม (ตารางที่ 1)
นอกจากนี้ มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจะทำให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลจำเป็น ต้องเร่งจัดหาขยะพลาสติกภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่พึ่งพาการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ซึ่งอาจทำให้ในระยะสั้นเกิดภาวะอุปทานขยะพลาสติกตึงตัว และอาจกระทบต่อการขยายกิจการเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไทยมีระบบจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกภายในประเทศเพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงถึงราว 3,600-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี [8]หรือราว 1.2-1.4 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากในแต่ละปีไทยมีปริมาณขยะพลาสติกหลังการบริโภคเฉลี่ยมากถึง 2-2.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ได้แก่ ถุงพลาสติก (58%) ขวดพลาสติก (21%) แก้ว กล่องหรือถาดพลาสติก (12%) และอื่นๆ (9%)
แต่ขยะพลาสติกถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพียง 20% หรือประมาณ 5 แสนตันต่อปีเท่านั้น (รูปที่ 9) สอดคล้องกับอัตราการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ (Recycling Rate) ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ (รูปที่ 10)
อีกทั้ง Krungthai COMPASS มองว่า มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ภาครัฐส่งเสริมการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งสร้างความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทานรีไซเคิลในการคัดแยกและเก็บรวบรวมขยะแบบแยกประเภท เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย Roadmap การจัดการขยะพลาสติกที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 [9]จะทำให้ขยะพลาสติกที่ยังไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อีกประมาณ 1.5-2 ล้านตันต่อปีสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อีกจำนวนมาก ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมที่ราว 6.8 แสนตันต่อปี [10]ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกประเภท PET, PE และ PP ซึ่งเป็นประเภทของขยะพลาสติกที่มีอยู่จำนวนมากภายในประเทศ
- ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลในการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทต่างๆเนื่องจากต้นทุนของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมีแนวโน้มสูงขึ้นตามต้นทุนของวัตถุดิบขยะพลาสติก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เช่น ผู้ประกอบการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี มองว่าผู้ประกอบการธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอาจสามารถผลักภาระต้นทุน ที่สูงขึ้นบางส่วนไปยังผู้บริโภคได้
หากผู้ประกอบการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศมากขึ้น จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้แค่ไหน
Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากผู้ประกอบการของไทยหันมาใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศมากขึ้น ภายใต้สมมติฐานว่าภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในการคัดแยกขยะและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ตามเป้าหมาย Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกภายในประเทศราว 1.5 ล้านตันต่อปี ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1.55 ล้านตันคาร์บอนได ออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการปลูกป่า 130 ล้านต้น [11]คิดเป็นพื้นที่ป่า 1.3 ล้านไร่ หรือราว 1.3 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากการนำขยะพลาสติกภายในประเทศกลับมารีไซเคิลจะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ (Virgin material) รวมทั้งช่วยลดการฝังกลบหรือการเผาขยะพลาสติก โดยประเมินปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยใช้โปรแกรมคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก US EPA’s Waste Reduction Model (WARM) ระบุว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ สำหรับการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลเพื่อทดแทนวัตถุดิบตั้งต้นใหม่อยู่ที่ 1,031 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตันขยะ ซึ่งหากกำหนดให้ไทยมีการนำขยะพลาสติกภายในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ตามเป้าหมายของภาครัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี จะช่วยให้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
Implication:
Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมพลาสติก ดังต่อไปนี้
ผู้ประกอบการรีไซเคิลและผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก
- วางแผนจัดหาขยะพลาสติกภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่พึ่งพาการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง โดยอาจร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน หรือจัดหาแหล่งขายขยะพลาสติกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง GEPP, Recycle Market เป็นต้น
- มีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้วยการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล 100% เป็นต้น รวมทั้งตั้งจุดรับคืน (Drop-off) บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วจากผู้บริโภคเพื่อเพิ่มช่องทางในการดึงขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น
ภาครัฐ
- ออกกฎหมายหรือมาตรการจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะจากต้นทางอย่างจริงจัง โดยอาจกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับขยะที่ผ่านการคัดแยกถูกกว่าขยะที่ไม่ได้คัดแยกรวมทั้งกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคัดแยกขยะ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลเยอรมนีออกกฎหมาย Waste, Avoidance, Recycling and Disposal Act เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะ โดยประชาชนที่ไม่คัดแยกขยะหรือทิ้งขยะ ในถังขยะผิดประเภทจะเสียค่าปรับ 100-1,800 ยูโร หรือประมาณ 3,700-67,000 บาท เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการกำจัดและจัดการของเสีย อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพของขยะพลาสติกภายในประเทศ
- มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการขยะ โดยภาครัฐสนับสนุนงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรีไซเคิล รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุนในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขยะพลาสติกในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนรีไซเคิล
- ออกมาตรการส่งเสริมการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ เช่น มาตรการจัดเก็บภาษีพลาสติก (Plastic Tax) ที่ไม่ใช้วัสดุรีไซเคิล มาตรการกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลขั้นต่ำ (Recycled Content) ในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปจัดเก็บภาษีพลาสติกจากประเทศสมาชิก รวมทั้งกำหนดสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25% ในขวดพลาสติกใสภายในปี 2568 และอย่างน้อย 30% ในขวดเครื่องดื่มพลาสติกทั้งหมดภายในปี 2573 เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมหันมาใช้ขยะพลาสติกรีไซเคิลภายในประเทศมากขึ้น
[1] อ้างอิงจาก Global Plastics Outlook, OECD
[2] อ้างอิงจาก Basel Convention Plastic Waste Amendments
[3] อ้างอิงจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery – Thailand)
[4] อ้างอิงจาก รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการพัฒนากรอบนโยบายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยด้วยหลักการ EPR, กรมควบคุมมลพิษ
[5] ความต้องการใช้เศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด ประเมินมาจาก 1) ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ โดยประเมินจากแนวโน้มการผลิตรถยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 2) คาดการณ์ความต้องการใช้เศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด โดยประเมินจากสัดส่วนความต้องการใช้เศษพลาสติกรีไซเคิลเฉลี่ยอยู่ที่ 14% ของความต้องการใช้เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยในปี 2560-2564
[6] อ้างอิงจากสถิติโรงงานอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลพลาสติกครอบคลุม 4 ประเภทกิจการ ได้แก่
– โรงงานประเภท 53(5) การทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด หรือรูปทรงต่างๆ จำนวนสะสมปี 2565 อยู่ที่ 1,915 แห่ง
– โรงงานประเภท 53(9) การล้าง บด หรือย่อยพลาสติก จำนวนสะสมปี 2565 อยู่ที่ 373 แห่ง
– โรงงานประเภท 105 การคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวนสะสมปี 2565 อยู่ที่ 1,525 แห่ง
– โรงงานประเภท 106 การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จำนวนสะสมปี 2565 อยู่ที่ 957 แห่ง
[7] พื้นที่ปริมณฑล ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
[8] อ้างอิงจาก Market Study for Thailand: Plastics Circularity Opportunities and Barriers, World Bank
[9] อ้างอิงจาก Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573, กรมควบคุมมลพิษ
[10] อ้างอิงจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
[11] อ้างอิงจากเอกสารวิชาการ เรื่อง การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ และโครงการ T-VER โดยใช้การปลูกต้นไม้ยืนต้นพรรณไม้พื้นเมืองโตช้า/พรรณไม้อเนกประสงค์ ซึ่ง 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 12 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ใช้ระยะปลูก 4 x 4 เมตร โดยปลูกจำนวน 100 ต้นต่อไร่