บมจ. เท็กซ์ไทล์ เพรสทีจ (TPCORP) ในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิต จัดจำหน่าย และส่งออกสินค้าสิ่งทอชั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป ประกาศรีแบรนด์ครั้งใหญ่ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บมจ. ทีพีซีเอส (TPCS) พร้อมปรับพอร์ตเพิ่มการลงทุนธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดเพื่อสุขภาพ เข้าถึงผู้บริโภคปลายน้ำมากขึ้น มุ่งเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์และคัดสรรนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกยุคทุกสมัย
สุชัย ณรงคนานุกูล ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ทีพีซีเอส (TPCS) กล่าวว่า
TPCORP ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 เริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตผ้าลูกไม้ให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก ต่อมาได้เพิ่มพอร์ตการลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งสิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ว่าจะเป็น วัสดุบุหลังคารถยนต์ พรมรถยนต์ ฉนวนกันเสียง ฉนวนในห้องเครื่องเพื่อป้องกันความร้อน หรืออุตสาหกรรมสินค้าเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตให้กับแบรนด์ระดับโลกหลากหลายแบรนด์ รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ Welcare เพื่อจำหน่ายสินค้าสุขภาพคุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้ให้กับคนไทย
“บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในตลาด B2B และสามารถอยู่รอดจากทุกวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะมีความเชื่อว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมหมวดใดหมวดเดียวนั้นนับเป็นความเสี่ยงต่อความยั่งยืนขององค์กร การยึดติดใน Culture Trap หรือยึดติดเทคโนโลยีเดิมๆ นั้นเป็นการจำกัดตัวเลือกในการอยู่รอดขององค์กร บริษัทฯ จึงมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สินค้าต่างๆให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค
บริโภคในหมวดเพื่อสุขภาพ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ของใช้ในครัวเรือน สินค้าสำหรับแม่และเด็ก สินค้าไลฟ์สไตล์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรให้ตื่นตัวต่อข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยได้นำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบต่างๆ เข้ามาปรับใช้ให้การทำงานสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สำหรับทิศทางการบริหารงานหลังจากนี้ บริษัทฯ จะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสินค้าอุตสาหกรรมอย่างเช่นที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของการรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) หรือ TPCS ซึ่งได้มีการแจ้งเปลี่ยนชื่อไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว” นายสุชัย กล่าว
นอกจากนี้ TPCS จะให้ความสำคัญกับ 4 Core Value คือ
- Technology โดยการมุ่งลงทุนในนวัตกรรมและเทคโลยีที่ไม่ใช่เพียงการลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตามกระแสสังคม แต่เน้นการสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริง
- People ให้โอกาสบุคลากรรุ่นใหม่ในการเสนอลงมือทำและบริหารจัดการ
- Creativity เน้นการทำงานโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์
- Sustainability คือการลงทุนในหลากหลายภาคธุรกิจเพื่อที่องค์กรจะสามารถอยู่รอดในทุกวิกฤติ
สุชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ TPCS หลังจากนี้จะมุ่งไปยัง 6 กลยุทธ์ คือ
- Digital Transformation เน้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานเดิม ๆ โดยใช้ความรู้ด้าน Data Management และ Data Analysis ในทุกส่วนขององค์กร เพื่อให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การลงทุนกับแบรนด์แทนการลงทุนเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ไม่จำเป็น เนื่องจากการยึดติดกับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีบน S-Curve ใหม่ได้
- การปรับเปลี่ยนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก Tech Push ตามความสามารถของเทคโนโลยีที่บริษัทถือครอง และ Market Pull ตามความต้องการของตลาด มาเป็น Integrated Business Process โดยมีการระดมสมองร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การตลาด ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายขาย และซัพพลายเออร์
- ไม่เน้นการพัฒนานวัตกรรมแบบไร้ทิศทางแต่เน้นการสร้างผลประโยชน์จากนวัตกรรม
- ทำงานด้วยระบบการเรียนรู้และวัดผล (Build-Measure-Learn) ในการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ และการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Scale) สำหรับสินค้าที่พัฒนาลงตัวแล้ว
- เฟ้นหา-สร้าง-ให้โอกาสพนักงานที่มีความเป็นผู้ประกอบการในตัวเอง (Intrapreneur)
“เราจะมุ่งมั่นพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อผลิตและส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภคอย่างจริงใจและจะทำตลาดเข้าถึงผู้บริโภคปลายน้ำให้มากขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์และคัดสรรนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกยุคทุกสมัย และจะเป็นตัวอย่างในการดำเนินธุรกิจที่สามารถเติบโตต่อเนื่องบนรากฐานที่แข็งแรงและยั่งยืน”