สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ โดยมีอัตราภาษีสูงสุดถึง 50%

นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ได้เริ่มทยอยประกาศใช้นโยบายภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยเริ่มโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าทุกประเทศ (Universal tariffs) และภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่อยู่ระหว่างเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน จนถึงวันที่ 9 ก.ค. 2025 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้า (Specific tariffs) ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกประกาศมาตรการภาษีเฉพาะสินค้าเพิ่มเติม โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง (Derivative products) ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ ซึ่งรวมถึงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ HS code 84 และ 85 รวม 10 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, เครื่องอบผ้า และเครื่องล้างจาน เป็นต้น โดยทุกประเทศจะถูกเก็บภาษีสูงสุดถึง 50% ตามสัดส่วนของมูลค่าเหล็กที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ยกเว้นสหราชอาณาจักร (UK) ที่อยู่ระหว่างได้รับการผ่อนผันให้เสียภาษี 25% และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ส่วนประกอบของเหล็กที่หลอมในสหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 0% ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2025 ที่ผ่านมา โดยการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม เป็นต้น

การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยใน 5 กลุ่มสินค้า

มาตรการภาษีระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ตู้เย็น (HS CODE 8418.10), ตู้แช่แข็ง (HS CODE 8418.40), เครื่องอบผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8451.29), เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ (HS CODE 8450.20) และเครื่องล้างจาน (HS CODE 8422.11) ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ รวมกัน 153.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 คิดเป็นสัดส่วนราว 4.1% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีครั้งนี้ค่อนข้างสูง ได้แก่ เครื่องล้างจาน, เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และตู้เย็น เนื่องจากมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อยู่ที่ 56%, 28% และ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในแต่ละหมวดสินค้า ตามลำดับ

SCB EIC คาดว่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2025 จะหดตัวที่ -1.9%YOY และมีแนวโน้มจะหดตัวมากขึ้นที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จาก Trump’s tariffs

การปรับขึ้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น และจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ทั้งหมดสำหรับสินค้าในรายการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี นอกจากนี้ อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าที่ผู้บริโภคสหร้ฐฯ ต้องจ่ายแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากไทยและแนวโน้มการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย SCB EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย (รวมสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โดนเรียกเก็บภาษีรอบนี้) มีแนวโน้มหดตัว -1.9%YOY ในปี 2025 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -2.1%YOY ในปี 2026 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ 

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์

ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจาก Specific tariffs ที่เพิ่งประกาศอย่างเร่งด่วน ด้วยการประเมินความเสี่ยงในกลุ่มสินค้าที่เสี่ยงสูง มีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของชิ้นส่วนในการผลิตที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบและบริหารต้นทุนเพื่อชดเชยผลกระทบจากภาษีเหล็กที่จะถูกเก็บเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการค้า โดยจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน, ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ 

ขณะเดียวกัน จะต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานการผลิต ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น และมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า ทั้งการเลือกใช้วัสดุ การเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงจะต้องเร่งส่งเสริมการทำ R&D เพื่อเลือกใช้วัสดุทดแทนการใช้เหล็ก เช่น อะลูมิเนียมรีไซเคิล และคอมโพสิตไฟเบอร์ เป็นต้น และสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณด้าน R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ และส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สำคัญของอาเซียน

ความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังเผชิญอาจไม่ใช่จุดจบ แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวและยกระดับศักยภาพการผลิต เพื่อรับมือกับสมรภูมิการค้าโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แข็งแกร่งในอนาคตต่อไป


หมายเหตุ : เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารจึงของดแนบลิงก์ หรือ URL ในช่องทางอีเมล เว้นแต่กรณีที่ลูกค้าร้องขอเป็นรายครั้ง

ท่านสามารถรับชมบทวิเคราะห์ฉบับเต็มรูปแบบ PDF จำนวน 7 หน้า
ได้ที่เว็บไซต์ SCBEIC.COM (โดยเติม “WWW.” ก่อนชื่อโดเมนเว็บไซต์)