เอสซีจี เผยผลประกอบการ ไตรมาส 1/2568 ดีขึ้นกว่าไตรมาส 4/67 กระแสเงินสด (EBITDA) แข็งแกร่งต่อเนื่อง 12,889 ล้านบาท กำไร 1,099 ล้านบาท จากการเร่งปรับตัวสู้ความท้าทายในทุกธุรกิจ และมาตรการเสริมความเข้มแข็งการเงินต่อเนื่อง พร้อมยกระดับ “4 กลยุทธ์” สู้ศึก Trade War 1) ลดต้นทุน แข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลก 2) ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับทั้ง “สินค้ามูลค่าเพิ่มสูง สินค้ากรีน และสินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้” 3) บุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง 4) สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน มั่นใจธุรกิจมีเสถียรภาพเติบโตได้ท่ามกลางความท้าทาย
ภาพรวมไตรมาส 1/2568
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ไตรมาส 1/2568 เอสซีจี มีกำไร สำหรับงวด 1,099 ล้านบาท เนื่องจากทุกธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ตามมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เร่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยการลดต้นทุนการผลิตและการบริหารจัดการ รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลก่อสร้างและงบประมาณภาครัฐที่เบิกจ่ายต่อเนื่อง ขณะที่เอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) ปรับตัวดีขึ้นจากการบริหารต้นทุนและปรับพอร์ตสินค้า รวมถึงเอสซีจีพี ที่ยังคงแข็งแกร่งจากการมุ่งเน้นการเติบโตเพื่อรองรับอุปสงค์ของผู้บริโภคภายในประเทศของกลุ่มอาเซียน เสริมพอร์ตสินค้าสำหรับผู้บริโภค (Consumer Packaging) ควบคู่กับการบริหารต้นทุน
ขณะเดียวกัน เอสซีจี ได้ดำเนินมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการกระแสเงินสด ต้นทุน และเงินทุนหมุนเวียนอย่างระมัดระวังส่งผลให้ไตรมาส 1/2568 เอสซีจี มีกระแสเงินสด (EBITDA) 12,889 ล้านบาท สะท้อนการปรับตัวฉับไวของธุรกิจเพื่อคงศักยภาพการแข่งขันท่ามกลางความท้าทาย
สำหรับ สถานการณ์สงครามการค้าโลกจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาที่รุนแรง ล่าสุด “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (IMF) ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือเพียง 2.8% ปัจจัยสำคัญมาจาก
การลดประมาณการ GDP ลงเกือบทุกประเทศ สำหรับ GDP ประเทศไทย ปรับลดลงเหลือ 1.8%
ผลกระทบ Trade War
เอสซีจี ได้ประเมินสถานการณ์และผลกระทบจากสงครามการค้าโลก พบว่า
- ผลกระทบทางตรงที่มีต่อเอสซีจีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากในปี 2567 มีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เพียง 1% จากยอดขายรวมของเอสซีจี
- ผลกระทบทางอ้อม หากพ้นระยะที่สหรัฐอเมริกาประกาศชะลอการจัดเก็บภาษีนำเข้า 90 วัน กลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาอาจถูกเก็บอัตราภาษีที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อาจถูกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 36% ตามที่สหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อ 2 เมษายน 2568 จึงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและโลกจะชะลอตัวรุนแรง การส่งออกระหว่างประเทศ รวมถึงการทะลักของสินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทย จะส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า “สงครามการค้าได้สร้างแรงกดดันทั่วโลก แต่กระนั้น ก็ยังมีโอกาสที่ซ่อนอยู่ เช่น แนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ผู้ผลิตปิโตรเคมีในจีนประสบปัญหาการจัดหาวัตถุดิบจากสหรัฐอเมริกา ตลอดจนบางตลาดยังมีกำลังซื้อสูงสำหรับสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง (High-Value Added Products : HVA Products) สินค้ากรีน (Green Products) และสินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้ (Quality Affordable Products) ประกอบกับมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินที่ทำต่อเนื่องอย่างได้ผล ทำให้มั่นใจได้ว่า ธุรกิจจะสามารถฝ่าความท้าทายจากสงครามการค้าโลกได้อย่างทันท่วงที”

4 กลยุทธ์รับมือ Trade War
ทั้งนี้ เอสซีจี ได้ยกระดับการปรับตัวให้เข้มข้นรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
1) ลดต้นทุน แข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลก เพื่อรับมือสินค้าราคาถูกจากประเทศอื่นที่อาจเข้ามาแข่งขัน ด้วยวิธีการดังนี้
- ลดต้นทุนการผลิต (Operation Cost) โดยควบรวมไลน์การผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน โดยเพิ่มการใช้ Robotic Automation เช่น เอสซีจี ไฮม์ ใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะประกอบบ้านโมดูลาร์ทนแผ่นดินไหวอย่างแม่นยำ และ เอสซีจี เดคคอร์ ผลิตสุขภัณฑ์ COTTO ใช้เครื่องหล่อแรงดันสูงและระบบพ่นสีเคลือบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ ให้ขึ้นรูปสุขภัณฑ์ได้รวดเร็ว สีเรียบเนียนสม่ำเสมอ และใช้เทคโนโลยีการประมวลภาพ (Image Processing) ช่วยตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้าอย่างแม่นยำ เพื่อความมั่นใจในมาตรฐานก่อนส่งถึงมือลูกค้า
- ลดต้นทุนการบริหารจัดการ (Admin Cost) โดยเพิ่มการใช้ AI ปรับปรุงประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร เช่น ใช้ AI ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการคาดการณ์ความผิดปกติของเครื่องจักรก่อนเกิด
ความเสียหาย (Predictive Maintenance) - ปรับลดเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้สามารถลดหนี้สินสุทธิ
ลงเหลือ 290,504 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ - เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เพิ่มสัดส่วนการ
ใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานทางเลือก (Alternative Fuel) ในกระบวนการผลิต เพื่อเสริมประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขัน และรักษ์โลก โดยในไตรมาส 1 ปี 2568 เอสซีจี ใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 44% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด
2) ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับ
- พัฒนา“สินค้ามูลค่าเพิ่มสูงและสินค้ากรีน” (HVA Products & Green Products) ให้ตอบโจทย์ตลาด เช่น กระเบื้องเกรซพอร์ซเลนขนาดใหญ่, ปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็น Gen 3 ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้ประมาณ 40% ตั้งเป้าจำหน่ายในกลุ่มสินค้าปูนตกแต่งใน
ไตรมาสที่ 4 ปี 2568, กลุ่มสินค้าหลังคา ผนังและพื้นตกแต่ง ที่ใช้เทคโนโลยี Digital Printing พร้อม UV Coating เคลือบผิวทนทาน กันเชื้อรา และหลอดฉีดยาและเข็มฉีดยา ที่เอสซีจีพี ผสานความร่วมมือกับ Once Medical Company Limited - เพิ่ม“สินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้” (Quality Affordable Products) ที่มีความต้องการสูง ทำกำไรทันที เช่น เอสซีจี โซลาร์รูฟ ที่ผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ และมีหลายแพ็กเกจราคาให้เลือก, หลังคาเซรามิก เอสซีจี รุ่น Celica Curve ที่คุ้มค่า ทนทาน สีสวยติดทนกว่าด้วยเนื้อเซรามิก, กระเบื้องคอนกรีตปูพื้นทางเดิน เอสซีจี ที่มีดีไซน์และลายยอดนิยม แข็งแรงทนทาน ใช้ในงานออกแบบได้หลากหลาย และ
ท่อ PVC เกษตร ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับความต้องการของเกษตรกร
3) บุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง โดยขยายการส่งออกสินค้า เช่น ปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ กระเบื้องคอนกรีต
สมาร์ทบอร์ด กระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหาร ไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและความต้องการ เช่น
ประเทศที่ปรับตัวและได้ประโยชน์จากสงครามการค้า โดยใช้เครือข่ายของธุรกิจต่าง ๆ ของเอสซีจีที่มีอยู่ทั่วโลก
4) สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน โดยสลับฐานการผลิตและส่งออกจากประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่ำกว่า ฐานการผลิตที่หลากหลายซึ่งเป็นจุดแข็งของเอสซีจี
จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงที เช่น บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีพี ที่มีฐาน
การผลิตและส่งออกได้จากทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนปูนเอสซีจีคาร์บอนต่ำ และกระเบื้อง
เกรซพอร์ซเลน สามารถผลิตและส่งออกได้จากทั้งไทย และเวียดนาม

เอสซีจีซี รับอานิสงส์ต้นทุนลด
อย่างไรก็ตาม แม้สงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอน และอุปสงค์เคมีภัณฑ์ชะลอตัว แต่ เอสซีจีซี คาดว่าจะได้รับอานิสงส์บวกจากราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเคมีภัณฑ์ลดลง เอสซีจีซี จึงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินการเชิงรุกได้แก่
1) ลดต้นทุนบริหารอย่างต่อเนื่อง
2) เพิ่มความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงการลองเซินปิโตรเคมิคอลส์ ที่ประเทศเวียดนาม (LSP) ให้กลับมาเดินเครื่องได้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม
3) เร่งพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง พร้อมขยายธุรกิจสินค้ากรีน และดิจิทัล โซลูชัน เช่น DRS by Repco NEX
นายธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า“เอสซีจีเล็งเห็นถึงความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจฐานราก และได้รับผลกระทบ
อย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์สงครามการค้าโลก จึงพร้อมเปิดบ้านสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ถ่ายทอดความรู้ เสริมศักยภาพ และช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ ผ่านโครงการ ‘Go Together’ ที่เดินหน้า
อย่างต่อเนื่อง และจะครบเป้าหมายเฟสแรก 1,200 คนในเดือนพฤษภาคมนี้ รวมถึงโครงการ ‘NZAP’ ที่มีผู้เข้าร่วมแล้ว 106 ราย ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันนี้ เราจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน”
ข้อมูลสําคัญทางการเงินของเอสซีจี
ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568
งบการเงินรวมของเอสซีจี ไตรมาส 1/2568
มีกระแสเงินสด (EBITDA) 12,889 ล้านบาท ลดลง 15% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากไตรมาสก่อนมีเงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น (SCG Investment) และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (EBITDA from Operations) 11,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทุกธุรกิจ รายได้จากการขาย 124,392 ล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณขายที่ลดลงของเอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) โดยเฉพาะของโรงงาน LSP ขณะที่มีกำไรสำหรับงวด 1,099 ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 512 ล้านบาท จากการบริหารจัดการภายในและการปรับปรุงประสิทธิภาพของทุกธุรกิจ รวมถึงจากความต้องการตามฤดูกาลเพิ่มขึ้นของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง ประกอบกับผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากเอสซีจีซีและเอสซีจีพี
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA เพิ่มขึ้น 2% จากเอสซีจีซี และจากการบริหารจัดการภายในอย่างต่อเนื่อง จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง รายได้จากการขายใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีกำไรสำหรับงวดลดลง 55% สาเหตุหลักจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน เอสซีจีซี มีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ ประกอบกับไตรมาส 1 ปี 2568 ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมของเอสซีจีซีลดลงและค่าใช้จ่ายจากโรงงาน LSP เพิ่มขึ้น (จากค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ย) รวมถึงผลการดำเนินงานที่ลดลงของเอสซีจีพี
- สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) ไตรมาส 1 ปี 2568 มีรายได้ 37,709 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของรายได้จากการขายรวม
- สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice ไตรมาส 1 ปี 2568 มีรายได้ 64,540 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของรายได้จากการขายรวม
- รายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากไทย ไตรมาส 1 ปี 2568 ทั้งสิ้น 54,296 ล้านบาท คิดเป็น 44% ของยอดขายรวม
- สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 มีมูลค่า 848,076 ล้านบาท โดย 46% เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน (นอกเหนือจากไทย)
ผลการดำเนินงานแยกตามธุรกิจ
เอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี)
ไตรมาส 1/2568 EBITDA 2,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากไตรมาสก่อน EBITDA from Operations 1,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสก่อน จากส่วนต่างราคาปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น และปริมาณขาย PVC ที่เพิ่มขึ้น รายได้จากการขาย 50,177 ล้านบาท ลดลง 15% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายของธุรกิจโอเลฟินส์ที่ลดลง โดยส่วนหนึ่งมาจากปริมาณขายของโรงงาน LSP ขาดทุนสำหรับงวด 2,948 ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 3,403 ล้านบาท ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับ EBITDA from Operations ส่วนหนึ่งมาจากผลขาดทุนจากโรงงาน LSP ที่ลดลง
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA เพิ่มขึ้น 100% ส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลจากบริษัทร่วม รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 11% เนื่องจากการหยุดเดินเครื่องของโรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) ในไตรมาส 1 ปี 2567 ขาดทุนสำหรับงวด 2,948 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุนสำหรับงวด 1,866 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากในไตรมาส 1 ปี 2568 มีขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 88 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 959 ล้านบาท รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ลดลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากโรงงาน LSP เพิ่มขึ้น (จากค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ย)
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์
ไตรมาส 1/2568 EBITDA 3,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากไตรมาสก่อน รายได้จากการขาย 20,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน แม้ว่าตลาดกลุ่มผู้อยู่อาศัยจะยังอ่อนแอต่อเนื่อง แต่ตลาดโครงสร้างและอาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น กำไรสำหรับงวด 1,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,205 ล้านบาท หรือ 506% จากไตรมาสก่อน จากการปรับโครงสร้างธุรกิจและไตรมาสนี้เป็นฤดูกาลก่อสร้าง และยังได้รับอานิสงส์จากราคาปูนซีเมนต์ที่ปรับเพิ่มขึ้น
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA เพิ่มขึ้น 3% และกำไรเพิ่มขึ้น 21% จากตลาดกลุ่มอาคารพาณิชย์และงานโครงสร้างที่กลับมาดีขึ้นในไตรมาส 1/2568 ขณะที่รายได้จากการขายลดลง 2% จากปริมาณขายที่ลดลง
เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล
ไตรมาส 1/2568 EBITDA 1,151 ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 20 ล้านบาท รายได้จากการขาย 34,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากโครงการรัฐบาลและกลุ่มที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย กำไรสำหรับงวด 751 ล้านบาท พลิกฟื้นจากขาดทุนที่ 385 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นจากการปรับโครงสร้าง
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA เพิ่มขึ้น 12% และกำไรสำหรับงวดเพิ่มขึ้น 29% ซึ่งเป็นผลจากการลดต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการปรับโครงสร้าง ขณะที่รายได้จากการขายลดลง 10% จากสถานการณ์ตลาดที่ซบเซาส่วนใหญ่จากภาคครัวเรือน
เอสซีจีพี
ไตรมาส 1/2568 EBITDA เท่ากับ 4,234 ล้านบาท ลดลง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขาย 32,209 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 900 ล้านบาท ลดลง 48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เอสซีจี เดคคอร์
ไตรมาส 1/2568 EBITDA อยู่ที่ 808 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขาย 5,960 ล้านบาท ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 217 ล้านบาท ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน