นายเรวัต อารีรอบ ผู้สมัคร นายก อบจ.ภูเก็ต หมายเลข 1 นำทีม “ภูเก็ต หยัดได้” ประเดิมเปิดเวทีการปราศรัยใหญ่ ชู 8 นโยบายพัฒนาภูเก็ต ให้คนภูเก็ต “หยัดได้” (เชื่อถือได้) จากจุดแข็ง “หยัดได้ ไปต่อ” สานต่องานเก่าให้สำเร็จ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปั้นภูเก็ตให้เป็นเมืองน่าอยู่และเป็นเมืองน่าดู ชูนโยบายหลักแก้ไขปัญหาจราจร พร้อมส่งนโยบาย New Next Gen เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน และสร้างแรงบันดาลใจ สนับสนุนงานคราฟท์ (Craft) และ เทศกาล (Festival) ต่างๆ ในภูเก็ตให้ทันยุคสมัย
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ นายเรวัต อารีรอบ ผู้สมัคร นายก อบจ.ภูเก็ต หมายเลข 1 เข้ารับหน้าที่นายก อบจ.ภูเก็ตระหว่างปี 2564 – 2567 เป็นจังหวะที่ภูเก็ตได้รับผลกระทบจากความผันผวนที่มากับวิกฤติโควิด-19 ทำให้ช่วงนั้น อบจ.ภูเก็ต ซึ่งนำโดยนายเรวัตต้องทำงานแบบตั้งรับและทำงานเชิงรุก การจัดตั้งศูนย์ Quarantine โรงพยาบาลสนาม จัดหาวัคซีนให้ชาวกูก็ตอย่างทั่วถึง จนกระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายในเวลาต่อมา นอกจากนี้ อบจ. ภูเก็ต ยังมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้จังหวัดภูเก็ตสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หลังจากนั้น ปี 2566 – 2567 การทำงานของ อบจ.ภูเก็ต จะเน้นการผลักคันโครงการต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา การกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ด้านสิ่งแวดล้อม และรับมือกับความท้าท้ายใหม่ คือ การแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ชาวภูเก็ตกำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้
ชู 8 นโยบาย
สำหรับศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ทีม “ภูเก็ต หยัดได้” นำโดย นายเรวัต อารีรอบ ผู้สมัคร นายก อบจ.ภูเก็ต หมายเลข 1 ชู 8 นโยบายและแผนการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมทุกด้านเพื่อพัฒนาภูเก็ต รวมถึงการสานต่อโครงการเดิมและผลักดันแนวคิดใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งการดูแลสุขภาพ การศึกษา การพัฒนาสำหรับคนรุ่นใหม่ ฯลฯ ที่นายเรวัตตอกย้ำว่า นี่คือ 8 นโยบายที่สามารถทำได้จริงๆ และมิใช่นโยบายขายฝัน อันประกอบด้วย
1. นโยบายเแก้ไขปัญหาจราจร การขยายเส้นทางการเดินรถขนส่งมวลชนสู่จุดหมายใหม่ พร้อมผลักดันโครงการถนนคู่ขนานกระษัตรีและพัฒนาถนนสายรองและเส้นทางสำรองร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเดินทางในจังหวัดสะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. นโยบายเตรียมพร้อมภูเก็ตกรณีเกิดภัยพิบัติและความปลอดภัย ด้วย Phuket Alert ระบบเตือนภัยอัจฉริยะ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำอำเภอ พัฒนาถนนสายรองและเส้นทางสำรอง การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับภัยพิบัติ เพื่อให้ภูเก็ตพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
3. นโยบายสาธารณสุข โดยต่อยอดโครงการ “อยู่ที่ไหน ก็ใกล้หมอ” พร้อมระบบการแพทย์ทางไกล Telemedicine ครอบคลุมทั้งจังหวัด ยกระดับการบริการศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพิ่มศูนย์ฟอกเลือดด้วยไตเทียมในทุกอำเภอ ศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงวัย ยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ยกมาตรฐานแพทย์แผนไทยสู่สากล เพื่อช่วยให้ภูเก็ตกลายเป็นจังหวัดที่มีระบบสุขภาพที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลที่ดีที่สุดทั้งด้านการรักษา การป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน
4. นโยบายการศึกษา ผลักดันการศึกษาให้เยาวชน ก้าวล้ำสู่ยุค AI อย่างสร้างสรรค์ สร้างโรงเรียนต้นแบบแห่งการเรียนรู้คุณภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นการพัฒนาทักษะใช้ได้จริง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก ภูเก็ตจะสามารถพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้มีทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล และมีการศึกษาที่ไม่หยุดนิ่ง พัฒนาไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
5. นโยบายสิ่งแวดล้อมเพื่อความสมดุลของธรรมชาติและชุมชน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ปกป้องทรัพยากรทางทะเล เสริมพลังประชาชนและองค์กรท้องถิ่น ร่วมกันสร้างภูเก็ตให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
6. นโยบายสุขภาพและกีฬา ส่งเสริมสนามกีฬามาตรฐานครบทุกอำเภอ พร้อมพื้นที่สันทนาการ ผลักดันภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพ (Phuket Wellness Destination) ส่งเสริมกีฬาทางเลือก สานต่อนโยบาย 3 อ. เพื่อลดโรค NCDs พร้อมมุ่งสู่เมืองแห่งสุขภาพและกีฬาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้อย่างเท่าเทียม ร่วมสร้างอนาคตที่แข็งแรงและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนภูเก็ตและผู้มาเยือน!
7.นโยบายเศรษฐกิจ ผลักดันมหกรรมและเทศกาลนานาชาติ ส่งเสริมประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมสู่สากล ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
ผลักดันสินค้าและอาหารท้องถิ่นสู่ตลาดสากล
8. นโยบาย “หยัดได้” Next New Gen สร้างศูนย์ TCDC Phuket บ้านชาร์เตอร์แบงค์ และจะเปิดให้บริการปลายปี 2568 พร้อมพลิกฟื้นพื้นที่ สร้างคุณค่าให้ชุมชน สนับสนุนงานคราฟท์และเทศกาลร่วมสมัย พัฒนาทักษะอาชีพเพื่อคนทุกวัย ยกระดับการศึกษาเพื่ออนาคต โดยเน้นทักษะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม นโยบายนี้ คือก้าวสำคัญในการพัฒนาภูเก็ตสู่เมืองแห่งโอกาส ที่ทุกคนสามารถเติบโตและสร้างอนาคตที่มั่นคงร่วมกัน
“ทำจริง ไม่ขายฝัน”
นายเรวัต กล่าวถึงนโยบายตลอดจนแผนงานการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตที่สามารถทำได้จริง ไม่ขายฝันในมิติต่างๆ ว่า
“สำหรับปัญหาจราจรของภูเก็ตภูเก็ตถือเป็นปัญหาที่สำคัญ ถึงขนาดมีการกล่าวกันว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีปัญหาจราจรรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่ ดังนั้น “ทีมภูเก็ต หยัดได้” จึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และการประสานงานกับรัฐบาลกลาง เพื่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะอย่างยั่งยืน เช่น ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถไฟฟ้าลอยฟ้า และปัจจุบัน อบจ.ภูเก็ตได้นำรถไฟฟ้า (EV) เข้ามาให้บริการ เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรของจังหวัด พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เช่น การให้บริการฟรีสำหรับนักเรียนและผู้สูงอายุ เพื่อกระตุ้นให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว ขณะเดียวกัน ก็ยังบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เพื่อให้การเดินทางในภูเก็ตมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ภูเก็ตสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต”
นายเรวัตกล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาภูเก็ตในมิติของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนั้น เราต้องการเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและการสนับสนุนการขายออนไลน์ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นกีฬาและสุขภาพ อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงกีฬาและเวลเนส เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจในกิจกรรมกีฬา และได้มีการวางแผนที่จะทำให้เกาะภูเก็ตเป็นที่รู้จักในระดับโลกในด้านการท่องเที่ยวกีฬา ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับจังหวัด ด้วยการจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วม เช่น การจัดงานเทศกาลกีฬาและการออกกำลังกาย การกระตุ้นการท่องเที่ยวด้านกีฬาเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในจังหวัดภูเก็ต ขณะเดียวกัน เราก็ยังมีแผนรณรงค์ให้ประชาชนออกกำลังกายมากขึ้น เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและสร้างความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจและสังคม”
นอกจากนี้ สำหรับแนวทางการจัดการกับปัญหาขยะในภูเก็ต ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีปริมาณขยะในภูเก็ตมากถึง 1,000 ตัน/วัน ขณะที่ภูเก็ตมีศักยภาพกำจัดได้เพียง 700 ตัน/วันเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 300 ตัน/วันก็จะต้องถูกฝังกลบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวดังนั้น ทีมภูเก็ต หยัดได้จึงมีแนวทางที่ต้องการจะบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น อบจ. และเทศบาล เพื่อจัดการปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการวางแผนเพื่อจัดการขยะที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวและการใช้พลังงานทดแทนในการกำจัดขยะ รวมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลในการสนับสนุนการจัดการขยะของจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นเมืองที่น่าอยู่และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในอนาคต”
คาสิโน ถามคนภูเก็ตก่อนดีกว่า
สำหรับดำริการสร้างคาสิโนที่ภูเก็ตของรัฐบาลนั้น นายเรวัตให้ทัศนะว่า
“โดยส่วนตัว ผมยังไม่เห็นการทำวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลดีของคาสิโนต่อเศรษฐกิจ และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาวจากการสร้างคาสิโนในภูเก็ต ซึ่งอยากให้รัฐบาลทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์กับคนภูเก็ตมมากกว่า คนภูเก็ตมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้ได้ความคิดเห็นและความเห็นชอบจากประชาชนเกี่ยวกับการสร้างคาสิโน ไม่ใช่การตัดสินใจจากรัฐบาลกลางเพียงฝ่ายเดียว
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัว ผมยังมองว่า ภูเก็ตยังมีจุดขาย Sun – Sand – Sea และยังสามารถขายความงดงามของธรรมชาติ และวัฒนธรรมของตนเอง อันได้แก่ การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ อาหาร และอัธยาศัยที่ดีของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคาสิโน
หน้าที่ของรัฐบาลที่ควรพิจารณาอย่างเร่งด่วน นั่นคือ ประเด็นการให้ฟรีวีซ่าซึ่งอาจไม่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาด้านการจัดการ เช่น การคัดกรองคนเข้าเมือง และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัญหาขยะ และปัญหาในมิติสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและชุมชนคนภูเก็ตในอนาคตด้วย ดังนั้น หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นและไม่มีการจัดการที่เหมาะสม รัฐบาลก็ควรทบทวนการให้ฟรีวีซ่าใหม่ และคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ”
ทั้งนี้ นายเรวัตกล่าวในตอนท้ายว่า “เรามุ่งมั่นพัฒนาภูเก็ต ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ผ่านนโยบายที่โปร่งใสและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เพื่อให้ภูเก็ต เติบโตอย่างยังยืน กับ “ทีมภูเก็ต หยัดได้” โดยพร้อมทำหน้าที่ต่อ เพื่อคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของชาวภูเก็ต เราทำงานทุกวัน ทำจริง ไม่ขายฝัน”