ศรชล. ภาค 2 เผยขบวนการบุหรี่เถื่อนทุนใหญ่เทคนิคพราว พลิกกติกาฟอกดำเป็นขาว พ้อ! จับได้บิ๊กล็อต แต่ติดข้อกม.เอาผิดไม่ได้เต็มที่ ทำรัฐสูญรายได้มหาศาล แนะรัฐบาลเร่งสังคายนาอุดช่องโหว่ ออกคำสั่งหน่วยงานรัฐบูรณาการร่วมกัน พร้อมตั้งเป้าปี 2568 ลุยปราบบุหรี่เถื่อนเข้มข้น
แหล่งข่าวจากผู้ปฏิบัติงานในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ศรชล.ภาค 2 ดูแลพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง กล่าวถึงสถานการณ์การลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนทางทะเลว่า “บุหรี่เถื่อน” เป็นสินค้าผิดกฎหมายซึ่งถือเป็นภัยคุกคามประเภททหนึ่งตามกรอบภัยคุกคามทางทะเล 9 ด้าน ของ ศรชล. และเป็นหน้าที่ของ ศรชล. ภาค 2 อยู่แล้วในการป้องกันและปราบปรามทางทะเลโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เน้นการปราบปรามอย่างเข้มข้น ภายหลังขบวนการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ จากอดีตเป็นการลำเลียงในลักษณะกองทัพมด ใช้เส้นทางธรรมชาติตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันได้ลุกลามมาตามแนวทะเลภาคใต้และขนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขนถ่ายทางทะเลแบบล็อตใหญ่ ผ่านเทคนิคการสำแดงว่าเป็นสินค้าที่กำลังส่งไปยังประเทศที่ 3 แต่กลับมีการขนย้ายใส่เรือประมงขนาดเล็กกลางทะเล เพื่อลักลอบนำกลับเข้ามาขายในประเทศไทย ส่งผลให้การแพร่ระบาดของบุหรี่ขยายเป็นวงกว้างขึ้น พร้อมยกสถิติการจับกุมเรือเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2566 ศรชล. ภาค2 ได้ตรวจพบบุหรี่ผิดกฎหมายล็อตใหญ่ จำนวน 1,000 ลัง รวม 10 ล้านมวน และเมื่อ ต.ค.ปี 2567 มีการจับกุมได้อีกจำนวน 528 ลัง หรือกว่า 5,280,000 มวน (ในใบสำแดง 1,050 ลัง หายไปจากใบสำแดง 522 ลัง)
แหล่งข่าวยอมรับว่ารูปแบบการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การติดตามจับกุมทำได้ยากกว่าอดีต โดยทำในลักษณะสินค้าผ่านแดนจากประเทศต้นทางมาทางบก ก่อนขนลงเรือโดยผ่าน 2 ท่าเรือหลัก คือ ท่าเรือสุราษฎร์ธานี และท่าเรือน้ำลึกสงขลา เพื่อไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งในระหว่างที่ขนส่งบนบกจะมีเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่หลังจากที่นำลงเรือและเรือแล่นออกไปแล้ว สินค้าจะไปถึงปลายทางหรือไม่ ไม่มีหน่วยงานไหนจะตรวจสอบได้ การจับกุมจึงยากขึ้น เพราะพื้นที่การตรวจสอบไม่ใช่เพียงแค่บริเวณท่าเรือ แต่เรือที่บรรทุกสินค้าออกไป สามารถขนสินค้าได้ตลอดชายฝั่ง ส่วนการจับบุหรี่เถื่อนล็อตใหญ่เมื่อปี 2566 ของศรชล. ภาค 2 นั้น เป็นเพราะเรือได้แล่นเข้าสู่ท่าเรือ จึงควบคุมเรือได้ทั้งลำ
“การจับกุมทางทะเลถือว่ายากกว่าทางบกค่อนข้างมาก เพราะการที่เรือแล่นอยู่ในทะเล หากผู้กระทำความผิดทราบเบาะแสว่า มีเรือของทหารเรือแล่นออกมาก็สามารถหลบหลีกได้ เนื่องจากเรือแล่นในทะเลเป็นไดนามิก เลยทำให้การขนถ่ายทำได้ง่าย และสามารถขนได้คราวละมากๆ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของบุหรี่เถื่อนมีมากขึ้น แม้ว่าทางทหารเรือจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้จับกุม หรือใช้เครื่องมือที่มีในการตรวจจับ แต่อีกฝ่ายก็มีวิธีการที่จะหลบหลีกอยู่เสมอ ทั้งโดยการใช้เครื่องมือหรือวิธีการต่างๆ”
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากศรชล. ยังกล่าวถึงประเด็นการติดตามเอาผิดกับกระบวนการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนว่า ก่อนที่จะมีการขนถ่ายบุหรี่เถื่อนทุกครั้ง ทางศรชล. ภาค 2 จะมีข้อมูลว่าเรือลำนี้มีสินค้าประเภทใดบ้าง และต้องรู้วงรอบของการเดินเรือ ที่สำคัญต้องคำนวณความเร็วของเรือแต่ละลำที่จะแล่นไปยังประเทศที่ 3 แต่หากไม่สอดคล้องกับเวลาที่คำนวณ เบื้องต้นให้สันนิษฐานว่าเรือลำนี้กระทำความผิด มีการขนถ่ายสินค้าระหว่างทางแน่นอน ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ข้อมูลบริษัท ข้อมูลเจ้าของเรือว่ามีเรือในสังกัดกี่ลำ ตลอดจนธุรกิจเครือญาติ เพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติภารกิจในแต่ละครั้ง
สำหรับอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า กฎหมายบางฉบับยังมีช่องโหว่ ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้ เช่น กรณีที่จับกุมบุหรี่เถื่อน 1,000 ลัง พร้อมรถที่กำลังจะขนย้ายบุหรี่ 8 คัน โดยมีการขนบุหรี่ขึ้นรถคันแรกแล้ว 30 ลัง ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่ได้ขนขึ้นรถ ปรากฎว่าบุหรี่ที่อยู่ในเรือทั้งหมดไม่สามารถเอาผิดได้ ทั้งที่ศาลจังหวัดนาทวี สงขลา ให้ดำเนินคดีกับบุหรี่ทั้ง 1,000 ลัง แต่อัยการจังหวัดสงขลาตีความว่า บุหรี่ที่อยู่ในรถเท่านั้นที่มีความผิด ส่วนบุหรี่อีก 970 ลังที่อยู่ในเรือถือว่าความผิดยังไม่ครบองค์ประกอบ โดยไม่ได้ดูเจตนาที่มีการนำรถมาขนถึง 8 คัน เช่นเดียวกับกรณีการจับกุมบุหรี่เถื่อน 1,050 ลัง แต่ได้ของกลางมาเพียง 528 ลัง ซึ่งไม่ตรงกับเอกสารที่สำแดง จึงมีส่วนที่หายไป 522 ลัง ซึ่งในส่วนนี้ไม่ทราบเช่นกันว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อีกหรือไม่อีกทั้งยังสามารถประกันเรือของกลางออกไปได้ด้วย ทำให้ผู้กระทำผิดอาจสามารถเอาเรือออกไปกระทำความผิดต่อได้ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมาย ซึ่งหากมีการดำเนินคดีกับกรณีนี้ได้ จะมีโทษปรับถึง สี่พันกว่าล้านบาท ในอนาคตจึงอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือเจตนาของผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้กระทำความผิดก็ทำทุกทาง เพื่ออาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้สิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” ซึ่งศรชล. ภาค 2 เป็นหน่วยงานใหม่ การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรายใหญ่ต้องทำเอง แต่ยอมรับว่าความชำนาญในการดำเนินการบนชั้นศาลยังไม่มีความชำนาญเท่ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ในส่วนของการประสานงานกับหน่วยงานอื่นในการจับกุมบุหรี่เถื่อนที่ผ่านมา ยังมีปัญหาเรื่องการจับกุมร่วม เพราะต่างคนต่างก็มีอำนาจของตัวเอง ไม่ขอจับกุมร่วมกับ ศรชล. โดยอ้างว่าขัดกับกฎหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ หากมี พ.ร.บ.หรือคำสั่งการใดๆ ที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามบุหรี่ ทั้งศุลลากร สรรพสามิตในพื้นที่ต้องให้ความร่วมมือตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นการดำเนินคดีในชั้นศาล จะทำให้การปราบปรามมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องการให้มีงบประมาณในด้านการข่าว เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกด้วย
หากมองว่าบุหรี่เถื่อนเป็นปัญหาระหว่างประเทศ เพราะเป็นการลักลอบนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศทางผ่านไปยังประเทศปลายทางนั้น ศรชล. ยืนยันว่าได้มีการประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเคยทำหนังสือไปยังศูนย์ประสานงานชายแดนไทย-มาเลเซีย เคยประสานผ่านสำนักงานผู้ช่วยทูตที่อยู่ในประเทศปลายทาง เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าประเภทบุหรี่ ซึ่งได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากส่วนหนึ่ง
ในปี 2568 ศรชล. ภาค 2 มีแนวทางในการป้องกันและปราบปรามบุหรี่เถื่อน โดยจะยังคงมุ่งเน้นไปในพื้นที่ที่ได้รับข่าวสารสำคัญเป็นพิเศษตามที่หน่วยข่าวได้แจ้งมา ก่อนออกเรือไปค้นหาและจับกุม และจะมีการเพิ่มวงรอบการออกเรือตรวจสอบที่มากขึ้น เพื่อเป็นการป้องปรามสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆด้วย ซึ่งคาดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของศรชล.ในภาพรวมจะมีประสิทธิภาพและมีผลงานเพิ่มขึ้นจากปี 2567