การสร้างผลลัพธ์เชิงบวกเพื่อสังคมผ่านการรีไซเคิลพลาสติก : บทเรียนจากเกาะเต่า

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราต่างเห็นพ้องกันว่านี่คือโอกาสสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม และการรีไซเคิลพลาสติก PET นับเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจาก PET สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆ ได้อีกมากมาย การส่งเสริมการรีไซเคิล PET จึงไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะเท่านั้น แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย แม้ว่าขณะนี้เรายังเผชิญกับอุปสรรคบางประการ แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปได้ และสร้างประเทศไทยให้เป็นต้นแบบในการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

บทเรียนจากเกาะเต่า: ตัวอย่างของการทำงานร่วมกันเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน

ในงาน SX Expo 2024 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากคือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีศึกษาจาก เกาะเต่า ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิลขวด PET ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างเต็มรูปแบบ

เกาะเต่า เป็นเกาะท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งส่งผลให้เกิดขยะในปริมาณมากเช่นกัน โดยเฉพาะขวด PET ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม รัฎดา ลาภหนุน ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเกาะยั่งยืนประเทศไทย ได้กล่าวถึงความท้าทายในการจัดการขยะบนเกาะเต่าว่า “การที่เกาะเต่ามีนักท่องเที่ยวหลายแสนคนต่อปี แต่มีพื้นที่สำหรับจัดการขยะเพียง 4 ไร่ ทำให้เราต้องหาวิธีในการลดปริมาณขยะที่จะถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ ดังนั้น จึงเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน อินโดรามา เวนเจอร์ส และ Ogga Circular ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน การที่ชุมชนได้เห็นภาพชัดเจนว่าขยะที่พวกเขาเก็บไปกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไร ทำให้เกิดแรงจูงใจที่มากขึ้นในการเข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ และการสร้างแรงจูงใจนี้เองที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้โครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการรีไซเคิล PET ระดับโลก ได้กล่าวถึงความสำคัญของการรีไซเคิลขวด PET ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในระยะยาว เธอกล่าวว่า “อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยในการรับขวดพลาสติก PET ที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาจากเกาะเต่า ซึ่งขวดเหล่านี้จะถูกขนส่งไปที่โรงงานรีไซเคิลของบริษัทฯ ที่จังหวัดนครปฐม เพื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) และสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์เส้นด้ายเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เพื่อนำไปตัดเย็บเป็นสิ่งทอในครัวเรือน สิ่งทอในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือแม้แต่การผลิตของพรีเมี่ยม ดังเช่น ผลิตภัณฑ์จาก OGGA เป็นต้น  โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งเป้ารับซื้อขวด PET จากเกาะเต่าให้ได้เดือนละ 5 ตัน โดยรับมาแล้ว 10 ตัน (กันยายน 2567)

ทั้งนี้ การส่งเสริมการเก็บรวบรวมขวด PET ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและความร่วมมือระหว่างกันของทุกภาคส่วนเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนนี้เกิดขึ้นได้จริง”

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของอินโดรามา เวนเจอร์ส คือ การรีไซเคิลขวด PET ให้ได้ถึง 5 หมื่นล้านขวด/ปีภายในปี 2573  และส่งมอบความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะและการรีไซเคิล PET ผ่านหลักสูตร recycling education ของบริษัทฯ ให้เข้าถึงผู้บริโภค  1 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573 นวีนสุดา ได้เน้นย้ำในงานเสวนาที่ SX  ว่า “การรีไซเคิล  PET ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก แต่ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตพลาสติกใหม่ บริษัทฯ ได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลและลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกระบวนการรีไซเคิลเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกทางสังคมให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะการสร้างรายได้เสริมจากมูลค่าขยะรีไซเคิล”

ธีรยาฏ์ วิทย์วัฒน์ดำรง ผู้ร่วมก่อตั้ง OGGA  Circular  ได้เล่าถึงโครงการ  Recycling with Koh Tao ว่า

“การรีไซเคิลเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราจึงมุ่ง การ Upcycling  ขยะให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยขยะ PET ที่เก็บจากเกาะเต่าถูกนำมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล/เส้นใยโพลีเอสเตอร์ เพื่อนำมาผลิตเป็นของพรีเมียม เช่น กระเป๋าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดปริมาณขยะ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติกไม่เพียงแค่ช่วยแก้ปัญหาขยะบนเกาะเต่า แต่ยังเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการในตลาดอีกด้วย”

นอกจากนี้ ธีรยาฏ์ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำให้ชุมชนเข้าใจว่า “ขยะมีคุณค่า ถ้าเราให้ความรู้และช่วยสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ ชุมชนก็สามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าได้ โดยเรามุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และกระบวนการ Upcycling ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะ แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนในลักษณะนี้ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกให้กับผู้คนในเรื่องการจัดการขยะที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราอยากศึกษาข้อมูลและทำให้เกาะเต่าเป็นโมเดลหลักในการเรียนรู้เรื่องจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะพลาสติก ขยะกำพร้า ทำอย่างไรให้เกาะเต่า ที่จากเดิมคัดแยกขยะได้แค่ 20% ไปรีไซเคิล ให้เพิ่มขึ้นถึง 40% ได้ภายในปีนี้ มันจะได้ขยายผลไปที่เกาะอื่นๆ จากเกาะแล้วจะไปที่ชายฝั่ง แล้วค่อยไปพื้นที่หลักต่างๆ” 

รัฎดา กล่าวเสริมว่า “ทุกเกาะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาขยะของตนเอง แต่ว่าเราไม่เคยเดินมาถึงปลายทางนี้ เราใม่เคยรู้จักบริษัทปลายทางเลยว่าเค้าอยู่ไหน เค้าช่างไกลพวกเรา จนวันนี้เรามีบริษัทปลายน้ำที่มาช่วยดูแลจัดการเรื่องขยะขวด PET ด้วย เราดีใจมาก ต้องขอขอบคุณ อินโดรามา เวนเจอร์ส และ OGGA ที่มาร่วมด้วยช่วยกันในการลดปัญหาที่เกาะเต่า และจะขยายไปยังเกาะอื่นๆ ต่อไป”

จากกรณีศึกษาของเกาะเต่า ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธุรกิจและชุมชนในการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน โดยการรีไซเคิลขวด PET และกระบวนการ Upcycling เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้กับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาขยะไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ควบคู่กับการมีชุมชนที่ตระหนักรู้และมีแรงจูงใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง